จับตามอง 4 ปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกและการลงทุนในครึ่งปีหลัง

จับตามอง 4 ปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกและการลงทุนในครึ่งปีหลัง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสินทรัพย์ตลาดหุ้นต่างประเทศเหมือนจะฟื้นตัวให้นักลงทุนได้พักหายใจหายคอบ้าง หลังจากปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 7 สัปดาห์ โดยหากมองในรอบสัปดาห์ดูเหมือนว่าดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ จะยังคงหลีกหนีภาวะตลาดหมีได้อีกสัปดาห์

โดยยังคงปรับตัวลดลงราว -12% จากจุดสูงสุดในช่วงต้นปีเท่านั้น หลังจากมีแตะระดับ -20% ในช่วงกลางสัปดาห์ของสัปดาห์ก่อน สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน เนื่องจากภาวะตลาดหมีที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ อย่างไรก็ตามในภาวะปัจจุบันความเสี่ยงยังคงมีอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงต่อไปจากหลากหลายปัจจัย

1. นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น

ประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดก่อน และได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยกันอย่างต่อเนื่อง นำโดยสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงบางประเทศในฝั่งเอเชียนำโดยเกาหลีใต้ และอินเดีย ในขณะที่ยูโรโซน ตลาดคาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้

หลังจากใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบมาเป็นระยะ 8 ปี นอกจากนี้ยังน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะควบคุมเงินเฟ้อได้ ในขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อในปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าจะชะลอตัวลงอย่างใด โดยแม้ส่วนใหญ่จะมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ แต่ก็ต้องยอมรับว่าแนวโน้มดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มต้นทุนในหลายๆ ส่วนให้กับภาคเศรษฐกิจ และอาจจะส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยด้วย นอกจากนั้นในวัฏจักรปัจจุบันยังเป็นการปรับดอกเบี้ยขึ้นในระยะเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกับรอบก่อนๆ ในอดีต โดยเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงสั้น (Front Load) เพื่อพยายามลดแรงกดดันเงินเฟ้อให้ได้ โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะแสดงออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงถัดไป

2. สงคราม ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อและราคาอาหาร

ความยืดเยื้อของสงครามและความตึงเครียดในยูเครนส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น และยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงแม้ว่าปัจจัยทางด้านอุปสงค์ดูท่าที่จะลดลงจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่ราคาพลังงานก็ไม่ได้ลดลงตามแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องของราคาอาหารโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มธัญพืชและข้าวสาลี (Grains and Wheat) ที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกหลัก รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบเช่น ปุ๋ย ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลเกี่ยวกับ Food Crisis และหากราคาอาหารยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องก็จะส่งต่อแรงกดดันเงินและลดทอนกำลังซื้อของครัวเรือนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยตรง ทำให้เกิดปัญหาที่อาจจะใช้นโยบายการเงินการคลังแก้ไขได้ยากตามมาอีก โดยหากสงครามยืดเยื้อต่อเนื่องก็จะเพิ่มความเสี่ยงในส่วนนี้ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังมากขึ้นเรื่อยๆ

3. ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน

มาตรการล็อกดาวน์ตามนโยบาย “Zero-COVID” ของจีนไม่เพียงแต่จะส่งกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจก็มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุดนักวิเคราะห์ประเมินเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้เพียง 4.5% ในปีนี้ (ข้อมูลจาก Bloomberg) ต่ำกว่าเป้าของทางการที่ 5.5% ค่อนข้างมาก เป็นการพลาดเป้าในด้านการขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2014 (ยกเว้นในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รัฐบาลไม่ตั้งเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ) และยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมากที่จะโดนปรับลดลงอีก สะท้อนจากชุดตัวเลขเศรษฐกิจเดือน เม.ย. โดยเฉพาะในกลุ่มชี้นำ (Leading Indicators) ที่สะท้อนความเสี่ยงชัดเจน ในขณะที่ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานที่กดดันเงินเฟ้อมาตลอดหลังจากการแพร่ระบาดก็ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น และหากแย่ลงก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกครั้งเหมือนในช่วงที่ผ่านมา

4. สภาพคล่องทางการเงินที่ตึงตัวขึ้นและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ

สภาพคล่องทางการเงินในภาพรวมที่ตึงตัวขึ้นจากหลายปัจจัยดังที่กล่าวมาแล้ว เสริมด้วยผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น การลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนหน้า การปรับตัวลดลงของพอร์ตการลงทุนของครัวเรือน (Wealth Effect) การคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง รวมถึงระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจทำให้การจับจ่ายใช้สอยมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งปีหลังก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจจะเพิ่ม Downside ให้กับแนวโน้มของเศรษฐกิจได้เช่นกัน ในขณะที่มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐฯ น่าจะทำได้จำกัดหลังจากรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจไปมากในช่วงของการแพร่ระบาด และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายทำได้ยากในภาวะที่แรงกดดันเงินเฟ้อดูจะไม่ลดลงง่ายๆ

มองไปในช่วงครึ่งหลังของปี แม้ว่าความผันผวนอันเกิดจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินน่าจะลดลงมาก แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกย่อมส่งผลต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เรายังต้องจับตาดูกันต่อไป โดยยังอยู่ในโหมดที่ระมัดระวังและติดตามตัวเลขและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป อาจจะเน้นการกระจายความเสี่ยงให้สมดุล ถือเงินสดอยู่บางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมและรอความชัดเจนที่มากขึ้น ก็นับเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่น่าจะเหมาะกับภาวะปัจจุบันเป็นอย่างดีครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด