อินเดีย..ไทย.. และผู้ว่า กทม.

อินเดีย..ไทย.. และผู้ว่า กทม.

วันนี้ผมจะคุยเรื่องอินเดีย แต่ไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง “คังคุไบ” ครับ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ผมไปบรรยายเรื่อง “Ethical Leardership” ที่ IOD ซึ่งมีกรณีศึกษา ของบริษัทแห่งหนึ่งในอินเดีย 

บริษัทนี้ตั้งอยู่ที่ มุมไบ เมืองเดียวกับสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง คังคุไบ” นั่นแหละ

ชาวอินเดีย 5 คนผู้ก่อตั้งบริษัท ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า “เราจะไม่ยอมรับการคอรัปชั่น ทุกรูปแบบ” (“Say No To Corruption”) ซึ่งเป็นคำพูดสวยๆที่ ธุรกิจไทย ก็พูดแบบนี้เหมือนกัน แต่เราทำได้จริงเพียงใด คุณต้องไปคิดเอาเอง

บริษัทอินเดียแห่งนี้จะทำได้หรือ เพราะว่าประเทศกำลังพัฒนา มักมีการคอรัปชั่น ผมเลยย้อนไปดูดัชนีคอรัปชั่นของอินเดีย ว่าขณะนั้นเป็นเช่นใด

ปรากฎว่า ดัชนีคอรัปชั่นของอินเดีย เมื่อปี 2015 อยู่ที่อันดับ 76 จาก 168 ประเทศ ถือว่ากลางๆครับ เพราะตัวเลขยิ่งมาก แปลว่ามีการคอรัปชั่นมาก

ในปีเดียวกันนั้น ประเทศไทย ก็อยู่ที่อันดับ 76 เท่ากับประเทศอินเดียเป๊ะเลย สรุปว่า แขกกับไทย ไม่มีใครแพ้ใคร

เมื่ออันดับเท่ากัน ผมก็ต้องสรุปว่า การทำธุรกิจโดยไม่ยอมจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ ถ้าทำได้ยากแค่ไหนในประเทศไทย บริษัทในอินเดีย ก็น่าจะทำได้ยากแค่นั้น

คุณรู้ไหมว่าบริษัทนี้ ถูกเจ้าหน้าที่อินเดียเรียกสินบน ตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทเลยครับ และเมื่อไม่จ่าย ก็ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกลั่นแกล้งด้วยวิธีต่างๆ

ถ้าอยากรู้ว่าบริษัทแห่งนี้ ไปรอดหรือไม่ คุณคงต้องไปเรียนวิชานี้ที่ IOD แล้วละครับ

แต่ประเด็นก็คือ ทุกครั้งที่ผมไปบรรยาย ผมต้องเปลี่ยนสไลด์ที่เปรียบเทียบอันดับ ระหว่างอินเดียกับไทย เพื่อให้ข้อมูลทันสมัยตลอดมา เช่น 3 ปีต่อมา เมื่อปี 2018 อินเดียก็ตกจากอันดับ 76 มาเป็น 78 แต่ไทยเรา ได้ร่วงลงเป็น 99

บังเอิญวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมไปสอนอีกครั้งหนึ่ง จึงต้องเปลี่ยนสไลด์อีกแล้ว เพราะตัวเลขปี 2021 อินเดียตกไปอยู่ที่ 84 ในขณะที่ไทยไปอยู่ที่ 104 

ปีนี้เราจึงมีเพื่อนใหม่ อันดับเดียวกันกับเรา ที่ชื่อว่า Algeria, Kosovo, El Salvador และ Vietnam ครับ

เพื่อน 3 รายแรก เป็นคนแปลกหน้า ซึ่งเราคงนึกไม่ถึงว่า วันหนึ่งจะกลายมาเป็นเพื่อนร่วมก๊วนกับเรา จนผมอดไม่ได้ที่จะพึมพัมเป็นเพลงของพุ่มพวงที่ว่า “...คิดแล้วกลุ้ม กลุ้มใจ กลุ้มใจ กลุ้มใจ…” 

ผมคาดว่า ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ประชาชน มีความซื่อสัตย์สูงมากๆ น่าจะอยู่อันดับ 1 ถึง 5 นะ

ปรากฎว่าญี่ปุ่น อยู่อันดับที่ 17-19 ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาครับ ซึ่งถือว่าดีแต่ก็ต่ำกว่าความคาดหมายของผม เพราะการคอรัปชั่น ภาคการเมืองและภาคธุรกิจที่นั่น ยังมีให้เห็นเป็นระยะๆ

แต่ ประเทศที่ติด 1 ใน 5 ของโลก อยู่ใกล้ๆบ้านเรานี่เอง ชื่อว่า “สิงคโปร์” เขาอยู่อันดับ 3-5 คือติด “Top Five ของโลก” ต่อเนื่องกันมา แม้บางปีวิ่งไปอันดับ 7 แต่ก็ถือว่ายังดีมากๆ 

อันดับของไทย ซึ่งล่าสุดทะลุ 100 ไปอยู่ที่อันดับ 104 แสดงว่าการคอรัปชั่นเป็นเนื้อร้ายระดับอันตราย ใครอาสาเข้ามารักษาเยียวยา ก็สกัดเนื้อร้ายนี้ไม่ได้สักที

แต่อันดับอย่างนี้ น่าเชื่อถือเพียงใด วัดจากอะไร? คำตอบคือ “Transparency International” องค์กรผู้จัดทำ เขาเรียกมันว่า “Corruption Perception Index” แปลว่า ประเทศนั้นๆ “ถูกมอง” ว่ามีคอรัปชั่นมากเพียงใด คือไม่ใช่เอาจำนวนเงินที่คอรัปชั่นจริงๆ มาวัดกัน และตัวเลขนั้นก็หาไม่ได้ด้วย!

เขานำผลการวิจัย หรือการสุ่มตัวอย่าง หรือการสัมภาษณ์ ที่จัดทำโดยองค์กรอื่นๆ เช่น World Bank, World Economic Forum, Economist Intelligence Unit ฯลฯ แล้วนำมาสรุป คำนวณเป็นอันดับคอรัปชั่นของ ประเทศต่างๆ ซึ่งต้องมีแหล่งข้อมูล 3 แห่งขึ้นไป

เมื่อผมไม่อยากร้องเพลง “คิดแล้วกลุ้ม” ผมก็เลยมาคิดว่า สัปดาห์นี้ เราได้ผู้ว่า กทม. คนใหม่ แล้ว ถ้าเราลืมภาพรวมของประเทศไปสักนิด แล้วมาโฟกัส แก้ปัญหาคอรัปชั่นกัน เฉพาะที่ กทม. น่าจะดีไหม

เพราะ กทม. เป็นเมืองใหญ่ มีประชากรมากมาย มีองค์กรขนาดใหญ่และหน่วยงานรัฐจำนวนมาก มีธุรกรรมในแต่ละวัน มูลค่ามหาศาล  

ถ้าหากสกัดกั้น หรือลดคอรัปชั่น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กทม. ได้ ก็น่าจะมีนัยสำคัญ และอาจมีส่วนช่วยให้ อันดับคอรัปชั่นโดยรวมของไทย ในปี 2022 นี้ กลับไปสู่เลขสองหลัก อีกครั้งหนึ่ง

แต่พูดไป ก็เห็นใจผู้ว่า กทม. คนใหม่ เพราะมีปัญหาเฉพาะหน้ามากมาย ที่จะต้องเร่งแก้ไข อาจไม่มีเวลาเหลือพอ ที่จะมุ่งขจัดคอรัปชั่นในส่วนงานของ กทม. เลยก็ได้

คนไทยพูดว่า ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก วันนี้ กทม. มีหัวใหม่แล้ว ท่านคงจะต้องมองลงมาที่ ลำคอ ลำตัว จรดเท้า หากส่วนใด “กระดิก” โปรดจัดการ ขั้นเด็ดขาดครับ

ผมเอง ได้รับเชิญให้อยู่ใน “อนุกรรมการมาตรฐานจริยธรรมของ กทม.” มา 2-3 ปีแล้ว เป้าหมายเพื่อรณรงค์เรื่องจริยธรรมของบุคลากร ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งได้ประชุมกันไปหลายครั้ง ปลายเดือนนี้ก็จะประชุมกันอีก 

แต่จริยธรรมเป็นนามธรรม ส่วนคอรัปชั่นเป็นรูปธรรม คนที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ผลจริง คือ ผู้ว่า กทม. ครับ

ถ้าผู้ว่า กทม. ทำไม่ได้ หรือมีเรื่องอื่นมากมาย จนไม่มีเวลาทำ พวกเราคงต้อง ทำใจ แล้วไปหา หนังไทยหรือหนังอินเดียดีๆ อีกสักเรื่องหนึ่ง มาดูกันดีกว่า

เอาที่ดีเท่ากับ หรือดีกว่า “คังคุไบ” เลยนะ

เราจะได้ลืมความจริงประเทศไทย ไปได้สัก 2-3 ชั่วโมงครับ