ตลาดหุ้นไทยท่ามกลางการปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลก

ตลาดหุ้นไทยท่ามกลางการปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลก

ในช่วงเดือนพ.ค. 2565 ที่ผ่านมาดัชนี SET Index ได้มีการปรับตัวลงหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 200 มาอยู่ที่ระดับ 1,600 จุด (ลดลง 0.7% จากต้นปี) ตามภาพการปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยสาเหตุหลักมาจากสามประเด็นคือ

 1) ความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นทั่วโลก (สหรัฐรายงานเงินเฟ้อเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 8.3% YoY ยุโรปรายงานเงินเฟ้อเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 7.4 % YoY) จากภาพราคาน้ำมันดิบที่ยังยืนในระดับสูง รวมทั้งกลุ่ม OPEC ยังมีมติเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มแบบค่อยเป็นค่อยไปแม้จะได้รับแรงกดดันจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งกระตุ้นให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

2) การชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญของเศรษฐกิจจีน โดยตัวเลข PMI ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของจีนในเดือนเม.ษ.ออกมาต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงเดือนก.พ.ปี 2020 สะท้อนถึงผลกระทบของการ lockdown อย่างเข้มงวดโดยเฉพาะในมณฑล เซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้การ Lockdown ในจีนยังมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดต่อเนื่อง จากอัตราการฉีดวัคซีนเข็ม 2 และเข็ม booster ในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 80 ปียังอยู่ในระดับต่ำ

3) สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลาย ซึ่งผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยหลายประเทศในยุโรป เริ่มเข้าสู่ stagflation (เงินเฟ้อสูง , การเติบโตของ GDP ในระดับต่ำ) ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่มีทางเลือกในการดำเนินนโยบายการเงินมากนักและอาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแม้ภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นตัวก็ตาม 

ซึ่งปัจจัยทั้งสามนี้กดดันภาพการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงจากต้นปีกว่า 17.16% ,ดัชนี Nasdaq ซึ่งสะท้อนหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ปรับตัวลดลงจากต้นปีกว่า 26.75% รวมถึงหุ้นในจีนและฝั่งยุโรปที่ปรับตัวลดลงจากต้นปี 23.5% และ 8.47% ตามลำดับ

ความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก ณ ปัจจุบันอยู่ที่ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) โดยผลการประชุมรอบล่าสุด ในวันที่ 3-4 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ในช่วง 0.75%-1.00% รวมถึงกำหนดเป้าหมายการลดขนาดงบดุลผ่านนโยบาย Quantitative tightening (QT)

โดยจะมีการลดงบดุลขนาด 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในช่วงสามเดือนแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในช่วงถัดไป ซึ่งประธาน Fed คุณ Jerome Powell ได้ให้ความเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงและ Fed จะดำเนินการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อต่อไป 

โดยการขึ้นดอกเบี้ยจะไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยเนื่องจากคณะกรรมการ Fed ยังคงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงฟื้นตัวแข็งแกร่ง ด้วยท่าทีดังกล่าวทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าการประชุมในครั้งถัดๆ ไปของ Fed จะยังคงมีแนวโน้มเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง และอาจกดดันผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป อย่างไรก็ตาม Fed อาจจะมีท่าที dovish ได้บ้างในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อที่ประกาศออกมาปรับตัวลดลง และจะเป็น Potential Upside ต่อภาพรวมสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก

ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจไทย สภาพัฒน์ได้ประกาศตัวเลข GDP ไทยในไตรมาส 1 โดยขยายตัว 2.2% YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 2% YoY โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในภาคท่องเที่ยว (เพิ่มขึ้น 30.7% YoY) จากมาตรการ Lockdown ที่ลดความเข้มข้นลง การขยายตัวในภาคการส่งออก (เพิ่มขึ้น10.2% YoY) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า

ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว เพิ่มขึ้น 3.9% YoY ตามการฟื้นตัวของรายได้ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐที่ปรับตัวลดลง (ลดลง 4.7% YoY) ยังคงเป็นแรงฉุดรั้งการเติบโตในไตรมาสนี้ ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 1/2565 ที่ประกาศออกมา ผลประกอบการในภาพรวมยังคงออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ เพิ่มขึ้น 6% YoY และ เพิ่มขึ้น10% QoQ นำโดยกลุ่ม Commerce, Energy, Health และ Petrochem ซึ่งมีการเติบโตสูงกว่าคาด ในขณะที่กลุ่ม Tourism มีผลประกอบการที่ขาดทุนน้อยลง สะท้อนการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของกลุ่ม มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจาก

1) การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการยกเลิกมาตรการ Test &Go ในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่อนุญาตให้กลุ่มชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้วไม่ต้องกักตัว

2) ค่าเงินบาทที่ยังอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่อในช่วงถัดไปของปี

3) ฐานรายได้ของครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากทั้งในภาคเกษตรกรรมที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมทั้งการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมและส่งออก โดยปัจจัยทั้งสามยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ในขณะที่หลายๆ ประเทศเริ่มมีการเติบโตชะลอลง

โดยภาพรวม SET Index ยังมีภูมิต้านทานที่ค่อนข้างสูงจากการปรับฐานของตลาดทุนทั่วโลก จากหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดไทยยังมีสัดส่วนของเศรษฐกิจแบบเก่า (Old-Economy) ค่อนข้างสูง ซึ่งได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น การมีสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนต่างชาติในระดับต่ำ ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากแรงเทขายในภาพตลาดทุนทั่วโลกได้ และปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศที่คอยสนับสนุน ภาคเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัวตามภาพการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและส่งออก รวมทั้งการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งสวนทางกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง