เศรษฐกิจถดถอยกับตลาดหมีปี 2022

เศรษฐกิจถดถอยกับตลาดหมีปี 2022

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 7 ต่อเนื่องและเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องนานที่สุดในรอบ 21 ปี นับตั้งแต่ปี 2001 โดยดัชนีสำคัญๆ ได้แก่ S&P500 (-18.1% นับตั้งแต่ต้นปี ข้อมูล ณ วันที่ 22 พ.ค. 65) Dow Jones (-14.0%) และ NASDAQ Composite (-27.4%) ได้รับแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัย

โดยเฉพาะเรื่องของแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ระดับสูง ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเงินเฟ้อกับการบริโภคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แรงเทขายหุ้นยังคงไม่หมดไปง่ายๆ และนักลงทุนยังคงลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

โดยหากวัดภาวะตลาดหมี (Bear Market) ที่การปรับตัวลดลงมากกว่า 20% จากจุดสูงสุด ในสัปดาห์ก่อนแม้ดัชนี S&P500 จะสามารถปิดสัปดาห์เลี่ยงภาวะดังกล่าวได้ แต่คาดว่าจากแนวโน้มปัจจุบันก็ยังคงมีโอกาสที่จะกลับมาปรับตัวลดลงได้อีก สร้างความกังวลเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวให้กับนักลงทุนไม่มากก็น้อย

ในภาวะตลาดหมีสิ่งที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ ความกังวลของนักลงทุน ซึ่งสุดท้ายอาจจะนำมาซึ่งอคติเชิงพฤติกรรมที่อาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาด หรือมีความเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง วิธีแก้คือการกลับมาทบทวนปัจจัยพื้นฐาน และเป้าหมายการลงทุนในระยะยาวให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการลดหรือเพิ่มฐานะการลงทุนก็ตาม

รวมถึงการปรับสัดส่วน (Rebalance) ให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนและภาวะตลาดด้วย ตลาดหุ้นในระยะยาวยังเป็นแหล่งเงินออมที่ให้ผลตอบแทนดี และความผันผวนเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้การปรับพอร์ตฟอลิโอก็จะขึ้นอยู่กับภาวะตลาดการเงิน ความสามารถในการรับความเสี่ยงและความเต็มใจในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลเป็นพื้นฐาน

ข้อมูลในอดีตนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับดัชนี S&P500 ภาวะตลาดหมีใช้เวลาราว 13 เดือนโดยเฉลี่ยจากจุดสูงสุดไปยังจุดต่ำสุด และใช้เวลาราว 27 เดือนในการฟื้นตัวกลับมา และลดลงเฉลี่ย 33% โดยการปรับตัวลดลงของตลาดจะค่อนข้างรุนแรง และใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าค่าเฉลี่ย หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยหากย้อนไปนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ตลาดหมีเกิดขึ้นสามครั้ง ได้แก่

(1) ในช่วงปี 2000-2002 กับปัญหาฟองสบู่ดอทคอม และความเสี่ยงของสงครามหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งพาเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงปี 2001 โดยตลาดปรับลดลงต่ำสุด -49.1% ในระยะเวลา 637 วันและใช้เวลาฟื้นตัว 1,166 วัน ก่อนจะกลับคืนสู่ระดับเดิม

     (2) ในช่วงปี 2008 กับปัญหาฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์และการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ(Subprime Mortgage) และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบธนาคารและปัญหา Bank Run ทำให้สภาพคล่องหดตัวอย่างรวดเร็ว จนภาครัฐฯ และธนาคารกลางต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยตลาดปรับตัวลดลงต่ำสุด -56.7% ในระยะเวลา 355 วัน และใช้เวลาฟื้นตัว 1,021 วัน

     (3) ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2020 กับความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่แม้การระบาดยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน แต่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงและฟื้นตัวปรับเข้าสู่โหมดขาขึ้นภายในเวลาไม่นาน และเป็นตลาดหมีที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยปรับตัวลดลง -33.9% ในเวลา 33 วัน และใช้เวลาเพียง 103 วันในการฟื้นตัว

ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าทั้งสามครั้งล่าสุดเกิดจากปัจจัยที่แตกต่างกัน ทำให้ความรุนแรงและระยะเวลาฟื้นตัวแตกต่างกัน ปัจจัยดังกล่าวรวมถือ ปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้นและในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และรวมถึง Shock ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยอื่น ได้แก่ การแพร่ระบาด โดยทั้งสามครั้งเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยทั้ง 3 ครั้ง และต้องการมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐฯ และธนาคารกลางทุกครั้ง

ต่ในครั้งนี้ดูเหมือนว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะถดถอยอย่างรุนแรงดูไม่มากนัก จากดัชนีชี้นำต่างๆ (Leading Indicators) ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ภาคแรงงาน การเติบโตของค่าจ้าง การจ้างงาน ยอดค้าปลีก การสั่งซื้อล่วงหน้าของภาคธุรกิจ ยอดการสร้างบ้านรวมถึงความเชื่อมั่นต่างๆ ของทั้งครัวเรือนและธุรกิจ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่นักวิเคราะห์ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถขยายตัวได้ 2.7% ในปีนี้ (แม้จะปรับลดลงจากที่เคยมองไว้ช่วงต้นปีที่ 3.9%) และ 2.0% ในปีหน้า ทำให้โอกาสที่จะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและฟื้นตัวนานเหมือนช่วงดอทคอมและซับไพร์มก็อาจจะยังมี นอกจากนี้ทุกครั้งในอดีตยังมาพร้อมกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย แตกต่างจากรอบนี้ที่มีการประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ไว้ค่อนข้างมาก และรวมถึงการทยอยลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะดึงสภาพคล่องออกจากตลาดต่อเนื่องด้วย

ดังนั้นหากพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยยังมีไม่มากนัก ก็หวังว่าตลาดน่าจะฟื้นตัวบ้าง แต่ก็ยังวางใจเสียทีเดียวไม่ได้และต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยทิศทางของตลาดคาดว่าจะถูกกำหนดด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ (1) แนวโน้มของดอกเบี้ยนโยบาย (2) แนวโน้มของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะจากปัญหาด้านพลังงาน ราคาอาหาร และผลกระทบจากการปิดเมืองของจีน (3) ตัวเลขเศรษฐกิจและประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ที่เริ่มสะท้อนให้เห็นผลกระทบของเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่องครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด