“รัสเซีย-ยูเครน” เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

“รัสเซีย-ยูเครน” เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาด้านการลงทุนที่สำคัญที่สุดรายการหนึ่งของโลกอย่าง IMpower incorporating FundForum ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักลงทุน และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในทุกภาคส่วนทั่วทั้งยุโรป

หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจในการสัมมนาครั้งนี้ คือ “An audience with Thierry Malleret, Strategist to World Leaders: What will Putin do next?” หรือเรียกง่ายๆว่าปูตินจะทำอะไร อย่างไร ต่อไป?

ดร. เธียร์รี่ มัลเลเรต์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และนักคิดที่มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับของผู้ดำเนินนโยบายในระดับโลก โดยเป็นผู้ก่อตั้ง The Global Risk Network ของ World Economic Forum และเคยทำงานเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์ของบริษัทวาณิชธนกิจในประเทศรัสเซีย ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Monthly Barometer และกรรมการที่ปรึกษาในบริษัทอีกหลายแห่ง

ดร. มัลเลเรต์ ให้ความเห็นว่า แม้ว่าขนาดเศรษฐกิจของรัสเซียและยูเครนรวมกัน จะเป็นเพียง 3.5% ของขนาดเศรษฐกิจทั้งโลก แต่สงครามครั้งนี้กำลังส่งผลกระทบอย่างทวีคูณต่อเศรษฐกิจโลก ซ้ำเติมให้ปัญหาที่โลกเผชิญอยู่แล้ว หนักข้อยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน เงินเฟ้อ ความเสี่ยงด้านการเงิน และการถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยยุโรปได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน พร้อมกับมีภาวะอัตราเงินเฟ้อสูง (Stagflation) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

- การที่ประธานาธิบดีปูติน มีเป้าประสงค์ที่จะต่อกรกับโลกตะวันตก และยุติการมีเอกราชของยูเครนให้ได้ จะทำให้สงครามยืดเยื้อต่อไป และยกระดับเพิ่มขึ้น โดยรัสเซียไม่เพียงปรารถนาเข้ายึดครองเมืองดอนบาสเท่านั้น แต่หมายรวมถึงพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด เพื่อปิดล้อมเส้นทางการออกทะเลของยูเครน และแม้ว่าสงคราม ณ ขณะนี้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อรัสเซียนัก แต่เชื่อว่าปูตินมุ่งที่จะทำ “สงครามยืดเยื้อ” เพื่อกัดกร่อนกำลังฝ่ายตรงข้าม ซึ่งถ้าไม่ใช่ระยะเวลาอีกหลายปี ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนจากนี้

 

- “เงินเฟ้อ” จะเป็นปัญหาที่ชัดเจนที่สุดของโลก และจะถูกซ้ำเติมจากภาวะการขาดแคลนสินค้า (จากหลายสาเหตุ รวมถึงมาตรการปิดเมืองระลอกล่าสุดของจีน) และการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความต้องการสินค้าและบริการของสหรัฐฯก็เพิ่มขึ้นไม่น้อยหน้ากัน (ล่าสุดเงินเฟ้อยุโรปอยู่ที่ 7.5% สหรัฐฯ 8.5%

ประเทศตลาดเกิดใหม่อีกหลายประเทศอยู่ที่หลักทศนิยม 2 ตำแหน่ง) นำมาซึ่งโจทย์ยากสำหรับธนาคารกลางทั้งหลาย ที่จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการป้องกันไม่ให้กำลังซื้อของประชาชนด้อยค่าลง ก่อเกิดความไม่พอใจในสังคม และนำไปสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจ หรือจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้มากกว่าที่คาดเอาไว้ เพื่อกำราบอัตราเงินเฟ้อลงให้ได้  แต่ก็ต้องรับผลกระทบจากการถดถอยทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้นไปด้วย

- สงครามครั้งนี้จะนำมาซึ่ง “ความอดอยาก” และทุกข์ยากของผู้คนในประเทศยากจน (เนื่องจากสัดส่วนการใช้จ่ายด้านอาหารเมื่อเทียบกับรายได้รวมของคนในประเทศยากจนเฉลี่ยสูงถึง 40 – 60% ในขณะที่ประเทศร่ำรวยอยู่ในอัตราเฉลี่ยไม่เกิน 10 - 20%) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากคู่สงครามทั้งสองฝ่ายอย่างน้อย 30% ของการนำเข้าข้าวสาลีทั้งหมดในกว่า 50 ประเทศ

โดยราคาอาหารดีดตัวสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ (เพิ่มจากมี.ค.ปีก่อนหน้าถึง 34%) สหประชาชาติได้ประเมินไว้ว่าสงครามครั้งนี้จะทำให้ราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้นได้อีกถึง 8 – 22% นอกจากนี้ ประเทศยากจนอีกประมาณ 70 ประเทศ จะเผชิญกับ “ภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว” โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และภาวะเงินไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ จะยิ่งซ้ำเติมให้รัฐบาลและเอกชนในประเทศเหล่านี้ให้ไม่สามารถชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้

- สงครามทางเศรษฐกิจและการเงินที่โลกตะวันตก ใช้ในการตอบโต้รัสเซียในครั้งนี้ เช่น การยึดทรัพย์สิน หรือเงินสำรองที่ฝากไว้กับธนาคารในประเทศโลกตะวันตก ซึ่งแม้จะเป็นการทิ้งไพ่เด็ด แต่อาจเกิด “ผลสะท้อนกลับ” จากการที่ประเทศคู่ขัดแย้งอื่น ๆเริ่มรู้สึกถึง “ความไม่มั่นคง” ในการถือเงินสกุลหลักของโลกอย่างดอลลาร์ หรือยูโร อย่างที่เคยเป็นมา และอาจก่อให้เกิดผลสั่นสะเทือนต่อสถานะ “สกุลเงินหลักของโลก” ได้ในอนาคต