ดาวเด่น จากอินเดีย

 ดาวเด่น จากอินเดีย

คนไทยเดินทางไปศึกษาที่อเมริกา จำนวนมากมายทุกปี ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามานานมากแล้ว และคนอินเดียหรือคนจากประเทศอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างไปจากเรา

เวลาที่เราคนไทย ไปส่งเพื่อนที่สนามบิน เรามักอวยชัยให้พรตามประเพณีไทย “เดินทางปลอดภัยนะเพื่อน โชคดีนะเพื่อน” ประมาณนั้น

มีเรื่องเล่ากันว่าเวลา นักเรียนอินเดีย ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทหรือเอกที่อเมริกา เพื่อนๆที่ไปส่งที่สนามบิน จะกล่าวคำอำลาและอวยชัยให้พรว่า “เป็น ซีอีโอ นะเว้ย....พรรคพวก”

คำอวยพรเช่นนี้ สะท้อนความจริงที่โลกได้เห็น ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะว่า ผู้บริหารเชื้อสายอินเดีย ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงสุด ในบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกในอเมริกา มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

มีรายงานว่า บริษัทในกลุ่ม Fortune 500 นั้น มีซีอีโอที่เป็นชาวต่างชาติ จำนวนมากถึง 56 บริษัท และที่มากที่สุดก็คือมาจากอินเดีย ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ Twitter และ FedEx ก็แต่งตั้งคนอินเดีย Parag Agrawal และ  Raj Subramaniam ให้เป็น ซีอีโอ ของทั้งสองบริษัท ตามลำดับ

 

  ส่วนบริษัทระดับโลกอีกแห่งคือ FedEx ซึ่งมีซีอีโอ คือ Fred Smith ผู้ก่อตั้งบริษัทและ ดำรงตำแหน่ง ซีอีโอ คนแรกและคนเดียว ตลอดมาเป็นเวลา 50 ปี เมื่อต้องแต่งตั้งซีอีโอ คนที่สอง ก็มาลงตัวที่คนอินเดียอีกเช่นกัน

นอกจากนั้น Google ซึ่งแต่งตั้ง Pichai และ IBM ซึ่งแต่งตั้ง Krishna เป็นซีอีโอ ก็เป็นคนอินเดีย ส่วนผู้หญิงอินเดียก็โดดเด่นเช่นกัน อย่าง Indra Nooyi ได้รับตำแหน่ง ซีอีโอของ PepsiCo และ Sonia Syngal ได้ขึ้นเป็น ซีอีโอ ของ GAP

ออกไปนอกอเมริกา บริษัท Chanel ซึ่งเป็นบริษัทแฟชั่นของฝรั่งเศส และเป็นบริษัทครอบครัว ก็เพิ่งแต่งตั้ง Leena Nair ซึ่งเติบโตในประเทศอินเดีย ให้ขึ้นเป็น ซีอีโอ เมื่อเร็วๆนี้เอง

คุณสงสัยใหมครับว่า ทำไมคนอินเดียจึงมาแรงเช่นนี้ ในโลกธุรกิจของอเมริกาและเริ่มมีกระแสกระจายไปทั่วโลกอีกด้วย ผมก็สงสัย หลายคนก็สงสัย วันนี้ผมหาคำตอบมาให้ครับ เป็นความเห็นของคุณ Chidanand Rajghatta ผู้ซึ่งศึกษาเรื่องนี้มานานเกือบ 25 ปี

คุณ Chidanand Rajghatta บอกว่าประการแรก ประเทศอินเดียส่งคนเก่งที่สุด จำนวนมาก ไปอเมริกา เมื่ออเมริกามีคนเก่งชาวอินเดียอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ย่อมมีโอกาสสูงกว่า ที่จะเห็นคนอินเดียได้ขึ้นเป็นซีอีโอ นี่เป็นเรื่อง กฏของตัวเลข ธรรมดาๆ

เมื่อเทียบกับคนจีนที่อเมริกา ซึ่งมีจำนวนมากเช่นกัน เขาบอกว่า คนอินเดียได้เปรียบคนจีน ในเรื่องภาษาอังกฤษ หรือ อังกฤษสำเนียงแขก (Indish) รวมทั้งได้เปรียบคนจีน ในเรื่องการใช้ชีวิตในสังคมประชาธิปไตย และวัฒนธรรมที่มีการถกแถลง การอภิปราย ฯลฯ ซึ่งเป็นลักษณะของสังคมอเมริกัน

อีกประการหนึ่งคือ คนอินเดีย ไม่ว่าจะไปเรียนที่อเมริกา หรืออพยพไปทำงานที่นั่น ต่างมีชีวิตที่ทรหดอดทนมาก่อน ตัวอย่างเช่นในอินเดีย รถเมล์ ไม่เคยจอดตรงป้าย เพราะคนขับตั้งใจจอดให้ห่างป้าย 50 เมตร แล้วคุณวิ่งไปแย่งกันขึ้นรถเอาเอง

ก็จะจอดรับตรงป้ายได้อย่างไรเล่า ในเมื่อผู้โดยสารบนรถ ล้นลงมาถึงบันไดรถเมล์แล้ว ไม่มีที่ให้ขึ้นอีกแล้ว คุณเก่งจริง ก็วิ่งไปให้ทัน แล้วจ่อปลายเท้าแตะบันไดรถเมล์ มือไขว่คว้าหาที่เกาะรถไว้ให้ได้ เท่านั้นแหละ

พอมาอยู่ที่อเมริกา รถเมล์ก็มาตรงเวลา บนรถก็มีที่นั่งเหลือเฟือ ลองคิดดูแล้วกันว่า คนที่ต่อสู้ชีวิตมาจากอินเดีย จะเอาชนะคนอเมริกัน ที่มีชีวิตแสนสบายได้อย่างง่ายดายเพียงใด

เมื่อวานนี้ตอนบ่าย ผมไปบรรยายที่หลักสูตร “Board Essentials Program (BEP)” ให้บอร์ด 30 คนฟัง ในเรื่อง “วัฒนธรรมองค์กร” ผมยกตัวอย่าง บริษัทไมโครซอฟท์ ซึ่งได้คัดเลือกวิศวกรอินเดีย ชื่อ Satya Nadalla ให้เป็น ซีอีโอ เมื่อปี 2014

เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปี ไมโครซอฟท์ เติบโตอย่างมากมาย เพราะผู้ชายคนนี้ ไม่ได้ใช้วิชาวิศวกรรม เป็นหลักในการฟื้นฟูบริษัท แต่เขาเริ่มด้วย การใช้ความเป็นคนใจเย็น ใช้หลักศาสนาพุทธ ใช้ความเข้าใจ และความเห็นใจ เป็นหลัก

เขามุ่งสร้าง “วัฒนธรรมใหม่ ที่อบอุ่นกว่าเดิม” จนนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆที่แข่งขันได้ และส่งผลให้ราคาหุ้นของไมโครซอฟท์ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมูลค่าบริษัท US$ 400 billion ในปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่เขาเข้ารับตำแหน่ง เพิ่มเป็น US$ 2.2 trillian เมื่อเดือนเมษายน 2022 ที่ผ่านมา

นั่นคืออีกตัวอย่างหนึ่งของผลงาน ซีอีโอ ชาวอินเดีย ซึ่งไม่ทำให้ใครผิดหวัง

สรุปก็คือ คนอินเดียเป็นคนมุ่งมั่น ศึกษาหาความรู้จนมีความเป็นเลิศ ทำงานหนัก และอดทน เมื่อไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของสังคมอเมริกัน ซึ่งใช้ระบบคัดเลือกคนเก่งเข้าทำงาน เปิดโอกาสให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูง โดยไม่ติดขัดที่สีผิว หรือสำเนียงภาษา (ยกเว้นบางกรณี ซึ่งก็คงมีอยู่บ้าง)

คนอินเดียก็เลยเป็นเมล็ดพันธ์ดี ที่ได้ดินดี น้ำดี ปุ๋ยดี นำพวกเขาไปสู่ตำแหน่ง ซีอีโอ ได้มากมาย อย่างที่สังคมโลกได้เห็นกัน

ก็คงต้องหวนมาดูคนไทย ซึ่งมีคนเก่งมากมายเช่นกัน และไม่ต้องพูดถึงคนไทยในอเมริกาว่าทำไมไม่โดดเด่นแบบคนอินเดีย เอาเป็นว่าดูกันแค่คนไทยเก่งๆ ในเมืองไทยเรานี่แหละ ทำไมจึงไม่ค่อยมีผลงานโดดเด่นจริงๆ ออกมาให้ชาวโลกได้เห็นมากกว่านี้

ตรงนี้ แต่ละคนคงมีคำตอบที่แตกต่างกันไป ผมก็อยากจะเห็นงานวิจัยดีๆออกมาตอบคำถามนี้บ้างเหมือนกัน แต่ถ้าตอบแค่จากความรู้สึกและประสบการณ์ ก็คงตอบได้เพียงว่าน่าจะเป็นเพราะเนื้อดินบ้านเรา ถ้าเนื้อดินจริงๆบนผิวโลกน่ะดีมาก เป็นที่มาของคำว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว

แต่ดินที่ต้องมีเอาไว้เพาะปลูกคนมีปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินในระบบราชการ หรือหน่วยงานเอกชนบางแห่ง มันน่าจะไม่เหมาะกับเมล็ดปัญญาพันธ์ดี อาจจะเป็นดินเหนียวหนึบหนับ ขาดน้ำ ขาดฝน ขาดแดด ทำให้เมล็ดพันธ์จำนวนมาก เติบโตได้เพียงเดี๋ยวเดียว แล้วก็เหี่ยวแห้งตายไป จำนวนไม่น้อย

รีบปรุงดินกันใหม่เถอะครับ จะทำวิธีไหนก็ได้ แต่ขอให้ทำอย่างจริงจังก็แล้วกัน