โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจคนมีตัง จาก ช้อปช่วยชาติ 2558 ถึง ช้อปดีมีคืน 2565

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจคนมีตัง จาก ช้อปช่วยชาติ 2558 ถึง ช้อปดีมีคืน 2565

โครงการ “ช้อปดีมีคืน” เป็นมาตรการทางภาษีที่บุคคลสามารถนำการใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีของรอบภาษีปีนั้นๆ เป็นมาตรการเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง และช่วยเหลือผู้ประกอบการ ร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบ VAT

โดยเป็นการซื้อสินค้าที่เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นมาตรการเดียวกับ “ช้อปช่วยชาติ” ที่รัฐบาล คสช. ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถือเป็นกุญแจสำคัญในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยได้โดยทันที เราลองมาทบทวนความจำกันหน่อยว่า...

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้มาตรการทางภาษี...มีอะไรบ้าง

- ปี 2558 “ช้อปช่วยชาติ” ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. รวม 7 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท อิงจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีผู้เข้าร่วมโครงการ 1.5 ล้านคน เงินสะพัดราว 22,500 ล้านบาท คาดใช้งบประมาณภาครัฐ 1,200-1,500 ล้านบาท

- ปี 2559 “ช้อปช่วยชาติ” ระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค. รวม 18 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท อิงจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีผู้เข้าร่วมโครงการ 1.5 ล้านคน มีเงินสะพัดราว 22,500 ล้านบาท คาดใช้งบประมาณภาครัฐ 1,200-1,500 ล้านบาท

- ปี 2560 “ช้อปช่วยชาติ” ระหว่างวันที่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค. รวม 23 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ไม่มีข้อมูลการใช้จ่าย

- ปี 2561 “ช้อปช่วยชาติ” ระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.2561-16 ม.ค.2562 รวม 31 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (เฉพาะการซื้อสินค้า หรือค่าบริการเกี่ยวกับการเปลี่ยนยางรถยนต์ หรือค่าซื้อหนังสือ หรือบริการ e-Book และสินค้าโอทอป) ไม่มีข้อมูลการใช้จ่าย คาดว่าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเงื่อนไขการจับจ่ายสินค้าค่อนข้างจำกัด)

- ปี 2562 “ชิมช้อปใช้” ระหว่างวันที่ 27 ก.ย.2562-31 ม.ค.2563 รวม 127 วัน (3 เฟส) ซึ่งไม่ใช่มาตรการภาษีอย่าง ช้อปช่วยชาติ โดยรัฐแจกเงินผ่าน g-Wallet ช่อง 1 หรือ “เป๋าตัง 1” จำนวน 1,000 บาท เพื่อท่องเที่ยวในจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น และสิทธิ์ผ่าน g-Wallet ช่อง 2 หรือ “เป๋าตัง 2” ด้วยการเติมเงินใส่แอปพลิเคชันเพื่อใช้ซื้อสินค้าได้ไม่เกิน 30,000 บาท ได้เงินคืน 15% หรือ 4,500 บาท ในทุกจังหวัดยกเว้นจังหวัดตามทะเบียนบ้าน 

โครงการ “ชิมช้อปใช้” ไม่ประสบความสำเร็จ พบว่า มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ 11.8 ล้านคน จากผู้ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการ 14.35 ล้านคน มียอดการใช้จ่ายรวม 28,820 ล้านบาท ทั้งที่กระทรวงการคลัง คาดการณ์ไว้ว่า จะมีการใช้จ่ายผ่านมาตรการนี้ถึง 60,000 ล้านบาท โครงการ “ชิมช้อปใช้” จึงดูเหมือนว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประชาชนใช้แต่เงินที่รัฐบาลแจกเป็นหลัก ไม่ควักเงินส่วนตัวออกมาร่วมใช้

- ปี 2563 “ช้อปดีมีคืน” ระหว่างวันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค. รวม 70 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท อาจจะยังไม่มีข้อมูลประกาศจาก สศค. อย่างเป็นทางการ เพราะการกำหนดให้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2563 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2564

- ปี 2564 “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ระหว่างวันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค. รวม 184 วัน มีประชาชนผู้ใช้สิทธิ์สะสม 91,952 ราย จากผู้ได้รับสิทธิ์กว่า 4.9 แสนราย จากที่ตั้งเป้าหมายไว้เบื้องต้น 4 ล้านสิทธิ์ลดลงเหลือ 1 ล้านสิทธิ์ โดยมียอดใช้จ่ายสะสมส่วนประชาชนรวมเพียง 3,822.7 ล้านบาท

ปี 2565 โครงการ “ช้อปดีมีคืน”

- เพิ่งจบไปหมาดๆ เมื่อเดือนที่แล้ว โครงการ “ช้อปดีมีคืน 2565" ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. รวม 45 วัน ผู้ใช้สิทธิ์จะต้องเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและค่าบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หนังสือ e-Book และสินค้าโอทอป ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2565 ซึ่งจะยื่นแบบและชำระภาษีในช่วงต้นปี 2566 คาดว่าใช้งบประมาณภาครัฐ 2,500-3,000 ล้านบาท

“ช้อปดีมีคืน” 2565 ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง

ผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการต่อโครงการ “ช้อปดีมีคืน 2565" ระหว่างวันที่ 10 -20 ก.พ. สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้จัดส่งแบบสำรวจ ผ่านทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การไทย และภาคีเครือข่ายค้าปลีก เพื่อรวบรวมความคิดเห็น ผู้ประกอบการค้าปลีก ต่อ โครงการช้อปดีมีคืน ปี 2565 มีผู้ประกอบการตอบแบบสำรวจ 919 ราย พบว่า 59.5% จำนวนลูกค้ามาจับจ่ายมากกว่าเดือน ธ.ค.2564 ซึ่ง 51.5% ยอดขายเดือน ม.ค.2565 เพิ่มขึ้น 1-5%  นับว่าผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง แม้ช่วงเวลาที่เริ่มต้นโครงการ “ช้อปดีมีคืน” นั้น เป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโอมิครอนทำให้มู้ดในการจับจ่ายใช้สอยไม่ดีเท่าที่ควร แต่ยอดขายเติบโตได้ขนาดนี้ก็เป็นที่น่าพอใจ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการมีความเห็นว่า เป็นโครงการที่ดี แต่ระยะเวลาดำเนินการสั้น และการประชาสัมพันธ์ค่อนข้างน้อย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรับทราบข่าวสารโครงการ

“ช้อปดีมีคืน”ทำเลยปีนี้ 3 รอบ เงินสะพัดแสนล้าน

ปรากฏการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์ มีการกระตุ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่ 1:1, 2:2,…9:9, 10:10, 11:11, และ 12:12 จนทุกวันนี้ มีเสริม Pay Day Sale ซึ่งมีเม็ดเงินมหาศาลที่แพร่สะพัดเข้าสู่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แล้วทำไมเราถึงไม่คิดสร้างกระแส “ช้อปดีมีคืน” เป็นกระแสต่อเนื่องปีละ 3 รอบ โดยกำหนดเฟสแรก วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. เฟสที่สอง ช่วงโลว์ซีซัน วันที่ 15 ก.ค.-31 ส.ค. และ เฟสที่สาม รอบส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 15 พ.ย.-31 ธ.ค. สร้างปรากฏการณ์ให้เป็นประจำปี หากดำเนินการ 3 รอบในปี 2565 คาดว่าจะมีเงินสะพัดไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท ในขณะที่ภาครัฐใช้งบประมาณไม่ถึง “หมื่นล้านบาท” นับว่าเป็นโครงการที่คุ้มสุดๆ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับองค์กรที่สังกัด