สูตรลงทุน รับมือเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ

สูตรลงทุน รับมือเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ

หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจีดีพีไตรมาสหนึ่งปี 2022 “หดตัว” 1.4% ครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2019 นักลงทุนทั่วโลกก็เกิดคำถามขึ้นทันทีว่า “ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐใกล้เข้ามามากแล้วใช่ไหม และยังทันหรือไม่ที่จะปรับกลยุทธ์การลงทุน” 

 ส่วนตัวผมเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่เราจะเห็น U.S. Recession ในอนาคตอันใกล้จาก 3 ความเสี่ยง 

อย่างแรก คือเงินเฟ้อครั้งนี้เกิดจาก Cost-Push ซึ่งสามารถทำให้ GDP หดตัวทางเทคนิคได้ง่าย

สังเกตได้จากตัวเลข GDP สหรัฐล่าสุด ที่จริงการเติบโตในรูปตัวเงิน (nominal) ไม่แย่ ขยายตัวได้ถึง 6.5% (รายปี) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ Price index ปรับตัวสูงขึ้นถึง 7.8% เมื่อลบผลของราคา Real GDP จึงหดตัวราว 1.4% อย่างที่เห็น

หมายความว่าถ้าระดับราคาสินค้าและบริการสหรัฐยังผันผวนสูงกว่า 5-10% เช่นนี้ โอกาสที่จะเห็น GDP ติดลบอีกก็มีตลอดเวลา

ความเสี่ยงที่สอง คือโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเงินเฟ้อต่ำหายไป

แรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงมาจากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการกลับตัวของ Globalization ประชากรวัยแรงงานทั่วโลกที่ลดลง เทคโนโลยีที่ติดข้อจำกัดเรื่อง Supply Chain ระดับหนี้เริ่มต้นที่สูงผิดปรกติ หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเรื่อง Climate Change

ทั้งหมดทำให้ต้นทุนในการบริโภคแพงขึ้นในเชิงโครงสร้าง เห็นได้ชัดบนเงินเฟ้อสหรัฐที่มาจากฝั่งการใช้จ่าย (PCE) ล่าสุด สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 6.6% แม้จะหักพลังงานและอาหารสดออก (Core PCE) ก็ยังสูงถึง 5.2% เกินกว่าเป้าหมาย 2.0% ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 แล้ว

เมื่อเงินเฟ้อสูงติดต่อกันนาน ประชาชนก็จะบริโภคในปริมาณที่น้อยลง เอกชนต้องเพิ่มค่าจ้างเพื่อรั้งแรงงานให้อยู่กับบริษัท เศรษฐกิจจึงมีโอกาสพลิกลงไปหดตัว เมื่อไหร่ก็ตามที่นโยบายกระตุ้นทางการคลังและการเงินหมดลง

ความเสี่ยงที่สาม คือการที่ธนาคารกลางมองเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องจัดการเร่งด่วน

คำถามอยู่ที่ว่าต้องใช้นโยบายเข้มงวดแค่ไหนถึงจะจัดการเงินเฟ้อได้

ครั้งนี้ต้นตอของเงินเฟ้อไม่ได้มีแค่ราคาสินค้าพลังงาน การเก็งกำไร หรือราคาบ้านที่ปรับตัวขึ้น แต่มีตลาดแรงงานที่ตึงตัวจนทำให้ค่าจ้างสูงเป็นองค์ประกอบหลัก

ถ้าเฟดต้องการให้เงินเฟ้อลงมาที่ระดับเป้าหมาย 2.0% นโยบายจึงอาจไม่ใช่แค่ขึ้นดอกเบี้ยไปจนเห็น Real Interest Rate เป็นบวกและนักลงทุนหยุดกู้ หยุดเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่าง ๆ แต่อาจต้องเข้มงวดไปจนถึงขั้นที่ตลาดแรงงานลดความร้อนแรง การว่างงานต้องปรับตัวสูงขึ้น หมายความว่า เฟดจำเป็นต้องทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพื่อหยุดเงินเฟ้อ

ด้วยความเสี่ยงทั้งหมด U.S. Recession จึงควรเป็น Base case ที่นักลงทุนต้องเตรียมตั้งรับ

เพื่อหา “สูตรลงทุน” ช่วงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งในยุคนี้ ผมจึงปรับไปใช้ข้อมูล Industrial Production (IP) เป็นตัวแทนเพื่อวัดการหดตัวของเศรษฐกิจ ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2000 จะมีช่วงที่ IP ร่วงลงไปสู่แดนลบอยู่ในช่วงปี 2001 2008 2015 และ 2019

โดยเฉลี่ยในช่วงดังกล่าว หุ้นสหรัฐและหุ้นโลกจะปรับฐานลง 5-10% ในช่วง 6เดือนก่อนและหลัง Recession แม้จะเป็นการถดถอยในสหรัฐแต่หุ้นโลกมักมีผลตอบแทนแย่กว่าหุ้นสหรัฐ เนื่องจากในอดีต เศรษฐกิจโลกจะถดถอยตามสหรัฐ ส่งผลให้มีภาวะ Risk Off ดอลลาร์แข็งเข้ามาแทรกซ้อน เงินทุนไหลออกจากหุ้นโลกมากกว่า

กลยุทธ์แรกถ้าคิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย จึงควรลดพอร์ตหุ้นลง เพราะไม่ใช่แค่สหรัฐที่เสี่ยงแต่หุ้นทั่วโลกก็จะไม่ปลอดภัยไปพร้อมกัน

ต่อจากนั้นผมใช้ ETF เป็นตัวแบ่งกลุ่มการลงทุน พบว่าช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย Style Minimum Volatility และ Quality ที่นักวิเคราะห์มักแนะนำให้ลงทุน มีผลตอบแทนติดลบน้อยกว่าตลาดจริง แต่มีรูปแบบที่ต่างกัน

เช่น ETF Style Minimum Volatility อย่าง USMV (iShares MSCI USA Min Vol Factor) หรือ HUSV (First Trust Horizon Managed Volatility Domestic)

ใช้กลยุทธ์เลือกหุ้นที่ความสัมพันธ์กับตลาด (Beta) ลดลงในช่วงปรับฐาน สูตรลงทุน รับมือเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ

มักเป็นอุตสาหกรรมที่รายได้มั่นคง หรือความผันผวนตามวัฏจักรเศรษฐกิจต่ำ เช่น Utilities, Real Estate, หรือ Health Care เหมาะสำหรับใช้รับแรงกระแทกขาลง

ส่วน ETF Quality เช่น QUAL (iShares MSCI USA Quality Factor) หรือ JQUA JPMorgan US Quality Factor มักประกอบด้วยหุ้นใหญ่พื้นฐานแข็งแกร่ง อยู่ได้ในหลายสถานการณ์

Beta มักสูงขึ้นในช่วงรีบาวน์ของขาลง เพราะเป็นหุ้นผู้นำตลาด ที่นักลงทุนมักกล้าที่จะกลับเข้าลงทุนก่อน

โดยสรุป สูตรลงทุนรับเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐจึงมีสามขั้น 1 “ลดพอร์ต” เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าเงินเฟ้อ 2 เปลี่ยนแกนหลักของพอร์ตเป็นสไตล์ “Min Vol” เพื่อลดแรงกระแทก และ 3 ปรับไปเป็นสไตล์ “Quality” เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจชี้ว่าเกิด U.S. Recession แล้ว

ผมเชื่อว่าไม่สายเกินไปที่จะเตรียมตัวครับ