ล้ม “ชัชชาติ” เชิงยุทธศาสตร์ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ภาค 2

ล้ม “ชัชชาติ” เชิงยุทธศาสตร์ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ภาค 2

จับประเด็นร้อน ล้ม “ชัชชาติ” เชิงยุทธศาสตร์ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ภาค 2

อะไรจะแบเบอร์ขนาดนั้น ยังไม่ทันจะเลือกตั้ง ก็เห็นตัวผู้ว่าฯกทม.กันแล้ว เมื่อโพลหลายสำนัก ยกให้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นำโด่งชนิดม้วนเดียวจบ จนคู่แข่งแทบหมดปัญญาไล่ทัน 

เวลานี้ ดูเหมือนศึกชิงเก้าอี้ “พ่อเมืองหลวง” (ผู้ว่าฯกทม.) เริ่มคิดถึง “ตัวช่วย” ที่จะเอาชนะ “ชัชชาติ” ได้อย่างไร ด้วยการปลุกกระแสคน กทม.ให้เห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา หาก “ชัชชาติ” ได้เป็นผู้ว่าฯกทม. กันแล้ว

เห็นได้ชัด กรณี “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. กล่าวตอนหนึ่งถึงเหตุที่สนับสนุน นายสกลธี ภัททิยกุล ว่า

“การที่ผมออกมาต่อต้านระบบอบทักษิณ เพราะผมไม่ต้องการเห็นระบอบทักษิณกลับมามีอำนาจ มาทำร้ายประเทศอีก การเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ในคราวนี้ ผมถึงเชียร์ คุณสกลธี เพราะไม่อยากเห็นคนที่เคยรับใช้ หรือ เคยได้ประโยชน์จากระบอบทักษิณ เข้ามามีอำนาจในกทม.ไม่ต้องการให้เขาเข้ามาปูฐานทางการเมืองเพื่อรองรับระบอบทักษิณกลับมา ผมเลือกที่จะเชียร์ สกลธี เพราะเชียร์ได้สนิทใจ สกลธี ไม่ใช่พวกทักษิณ ไม่ใช่คนที่เคยได้รับประโยชน์จากระบอบทักษิณมาก่อน สกลธี ไม่ใช่กากเดนของระบอบทักษิณ และเชื่อมั่นว่า สกลธี จะไม่รับใช้ระบอบทักษิณแน่นอน”

สำหรับนายสกลธี ตามประวัติเคยเข้ารับราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต่อมาได้ทำหน้าที่เลขานุการของนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทั่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 นายสกลธี ลาออกจากราชการเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจากการเป็นบุตรชายของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คมช. แต่ทั้งนายสกลธี พล.อ.วินัย และทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ปฏิเสธเรื่องนี้

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปลายปี พ.ศ. 2550 นายสกลธี ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) เขต 4 คือ เขตจตุจักร, บางซื่อ, หลักสี่ คู่กับ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งได้รับเลือกตั้งทั้ง 3 คน

การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 2554 นายสกลธี ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.กทม.อีกครั้ง เขต 11 คือ เขตหลักสี่ โดยมีคู่แข่งคือ นายสุรชาติ เทียนทอง บุตรชายของนายเสนาะ เทียนทอง ผลปรากฏว่า ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

ช่วงปี พ.ศ. 2556-2557 ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. นายสกลธีเป็นแนวร่วมคนสำคัญ เป็นแกนนำชุดเคลื่อนที่เร็วร่วมกับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายชุมพล จุลใส และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จนได้ฉายาว่า “สี่ทหารเสือ”

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง นายสกลธี ยังคงต้องขึ้นศาลในข้อหากบฏที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งข้อหา ร่วมกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.และผู้ต้องหารวม 58 คน

ต่อมานายสกลธี ทำหนังสือถึงนายทะเบียนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และแจ้งต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคแล้ว จากนั้น เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ได้รับการทาบทามจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล ที่ประสานไปยัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ตนเข้ารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. และเป็นรองผู้ว่าฯกทม. ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในปัจจุบัน

ล่าสุดแม้ว่า “สุเทพ” ปฏิเสธว่า การสนับสนุน “สกลธี” ไม่เกี่ยวกับ กปปส. แต่ว่าก็ยากที่จะทำให้คนเชื่อ เพราะว่า เคยร่วมต่อสู้ด้วยกันมานั่นเอง

...

เพราะลำพังการรณรงค์หาเสียงปกติที่ทำอยู่ ทำอย่างไรก็ไม่สามารถไล่ตาม “ชัชชาติ” ได้ 

จริงหรือไม่ ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ยืนยันได้เป็นอย่างดี

โดยผศ.ดร.สุวิชา ชี้ให้เห็นว่า จากการเก็บข้อมูลของนิด้าโพลที่ทำมาอย่างต่อเนื่องและโพลสำนักอื่นๆ ซึ่งแม้จะมีวิธีเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ก็จะเห็นว่า มีความสอดคล้องกัน คือ นายชัชชาติ ได้อันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 ก็จะมีความแตกต่างกันไปบ้าง ตรงนี้ทำให้เราเชื่อว่า 98% นายชัชชาติ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ส่วนอีก 2% อาจมีอะไรที่ไม่คาดคิด ซึ่งทำให้นายชัชชาติ ชวดเก้าอี้ได้ แม้จะแค่ 2% ก็ตาม

ดังนั้นผู้สมัครคนอื่น หรือพรรคการเมืองอื่น หากต้องการจะชนะ ต้องหาวิธีการที่จะดึงคะแนนนายชัชชาติ ลงมาให้ได้ พร้อมๆ กับทำอย่างไรให้คะแนนความนิยมของตัวเองพุ่งสูงขึ้นไปได้ด้วย ขณะที่เหลือเวลาเพียง 10 กว่าวันก็จะมีการหย่อนบัตรเลือกตั้ง(22 พ.ค.)แล้ว

ฟังดูเหมือนคู่แข่งยังมีความหวัง แม้เพียงน้อยนิดก็ตาม

โดยเฉพาะฝ่ายที่ยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้ “ชัชชาติ” ได้เป็นผู้ว่าฯกทม. อย่างที่มีผลสำรวจความคิดเห็นคนกทม.ออกมา และกระแสความนิยมที่เป็นอยู่ ซึ่งฝ่ายนี้เชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง “ชัชชาติ” กับ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยยังคงแนบแน่น และมีแผนที่จะทำให้การเลือกตั้งส.ส.สมัยหน้าชนะแบบ “แลนด์สไลด์” (ชนะแบบถล่มทลาย) ร่วมกัน 

ที่น่าสนใจ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) หนึ่งในผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมืองมานาน  โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “ไม่เลือกเราเขามาแน่ ภาค2”

โดยระบุว่า “ปัจจุบันเหลือเวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะถึงวันเลือกตั้งแล้ว ผมจึงขอทบทวนเหตุการณ์ในสมัยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งท้ายสุด เมื่อปี 2556 (3 มี.ค.56 เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งที่ 10) ระหว่างตัวเต็ง 2 คน คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ซึ่งตอนนั้น พล.ต.อ.พงศพัศ ได้รับเสียงเชียร์จากพรรคเพื่อไทย และตำรวจส่วนใหญ่อย่างท่วมท้น ดังนั้นใน 7 วันสุดท้ายโพลทุกสำนักได้ให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ชนะอย่างขาดลอย แต่กระแสต่อต้านทักษิณกำลังเริ่มแรงขึ้น อีก 3 วันต่อมา ประชาชนส่วนที่ไม่เอาคุณทักษิณ ก็เริ่มรวมกลุ่มกันทีละกลุ่มสองกลุ่ม จนกลายเป็นกระแสโหวตทางยุทธศาสตร์ หรือ SV (strategic voting) ของกลุ่มประชาชนส่วนที่ไม่เอาทักษิณ ร่วมกันโหวตให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เข้ามาเป็นฝ่ายชนะ ทั้งๆที่คนเหล่านี้เกือบครึ่งหนึ่งไม่ชอบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์

กลับมาสถานการณ์ในปัจจุบัน คุณชัชชาติก็เปรียบได้กับ พล.ต.อ.พงศพัศ ในอดีต ซึ่งมีผู้สนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย คล้ายคลึงกัน ส่วนฝ่ายไม่เอาทักษิณในตอนนั้นมีตัวเลือกที่เด่นชัดคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เพียงคนเดียว คะแนนจึงไม่ได้ถูกแย่งชิงมากนัก แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวคุณชัชชาติเองก็ยังมีผู้เข้ามาแย่งชิงคะแนนอีก 2 คน คือ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ คุณศิธา ทิวารี แต่ก็น่าจะดึงคะแนนไปจากคุณชัชชาติไม่ได้มากนัก เช่นกัน

 

ส่วนผู้สมัครที่อยู่ฝ่ายไม่เอาทักษิณนั้น มีคะแนนใกล้เคียงกันถึง 3 คน คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และคุณสกลธี ภัททิยกุล ทั้ง 3 คนนี้ ต่างแย่งชิงคะแนนเสียงกันเอง และยังมีคุณรสนา โตสิตระกูล อีกคนที่เข้ามาแย่งคะแนนในฐานเสียงกลุ่มนี้ ดังนั้น ถ้าแย่งกันเองชุลมุนทั้ง 4 คนแบบนี้ แพ้คุณชัชชาติอย่างแน่นอน

อีก 7 วันต่อไปนี้ ทางผู้ที่ไม่สนับสนุนฝ่ายทักษิณจะต้องเลือกใครคนหนึ่งใน 3 คนนี้ ขึ้นมาเป็นตัวโหวตทางยุทธศาสตร์เพียงคนเดียว ถึงจะเอาชนะคุณชัชชาติได้ ซึ่งเมื่อใกล้การเลือกตั้งเข้ามา ถ้ากระแสการโหวต SV ยังไม่แรงพอเหมือนสมัยคุณชายสุขุมพันธุ์แล้ว คุณชัชชาติชนะแน่นอน เพราะทั้ง 3 คนแย่งชิงเสียงกันเอง

แต่ทำอย่างไร ถึงจะรู้ว่าใครควรจะเป็นตัวแทนในการโหวตทางยุทธศาสตร์ล่ะ ผมก็พูดออกมาตรงๆ ไม่ได้ แต่เมื่อใกล้เวลาเลือกตั้งเข้ามา สัก 3 วัน ถ้าสังเกตดูก็จะรู้เองว่า พวกเราสมควรที่จะ SV ให้กับใคร มันอาจเป็นการโหวตให้กับคนที่เราไม่ได้ชอบที่สุดก็ได้ ถ้าอยากให้ชนะคุณชัชชาติ ก็จำเป็นต้องโหวตครับ

แต่ถ้าประชาชนฝ่ายที่ไม่เอาคุณทักษิณไม่โหวตแบบยุทธศาสตร์แล้ว คุณชัชชาติก็คงได้เป็นผู้ว่าฯ แน่นอน และจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรกในรอบ 20 ปี ที่มาจากฝ่ายที่คุ้นเคยกับเครือข่ายทักษิณ...”

นี่อาจเป็นสัญญาณจากฝ่ายที่ไม่เอา “ทักษิณ” และเชื่อว่า “ชัชชาติ” คือ ตัวแทน “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย

คำถามก็คือ “ยุทธศาสตร์” ไม่เอา “ทักษิณ” หรือ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” จะได้ผลหรือไม่ หากมีการปลุกกระแสเรื่องนี้เป็นการใหญ่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ประเด็นอาจต้องย้อนกลับไปดูว่า ที่ผ่านมา “ชัชชาติ” เจออะไรมาบ้าง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา “ชัชชาติ” ถูกกระแสโจมตีอย่างต่อเนื่อง ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ -ชัชชาติ-เพื่อไทย” และการที่เพื่อไทยเลือกส่งเฉพาะ ส.ก. แต่ไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงการโจมตี ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ลงนามอนุมัติให้เปิดสายการบินเอกชนประมาณ 40 สายการบินในระยะเวลาเพียง 1 ปี ซึ่งต่อมาเป็นผลให้ ICAO ปักธงแดงให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน

พร้อมๆ กับการปล่อยภาพคู่แชร์กันสะพัดระหว่างนายชัชชาติกับกลุ่ม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายรังสิมันต์ โรม และผู้ชุมนุมชู 3 นิ้ว หรือรูปกราฟิก # รักใคร ชอบใคร#ตามสะดวก ที่มีการแชร์สนั่นในโลกออนไลน์ ก็ตาม

แต่ถึงจะมีการโจมตีขนาดนั้น ก็ยังไม่ทำให้คะแนนนิยมนายชัชชาติ ร่วงลงมาได้ เห็นได้จากผลสำรวจทุกครั้ง ยังคงนำโด่งต่อไป และเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

อย่างที่ ผศ.ดร.สุวิชา ชี้ว่า โพลครั้งที่ 2 พบว่า คะแนนของนายชัชชาติ ขยับขึ้นไปได้อีก 6% จากผลโพลครั้งที่ 1 และทิ้งห่างอันดับที่ 2 เกือบ 4 เท่า ส่วน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เข้าที่ 3 คะแนนครั้งที่ 2 ดีขึ้นเพียง 1% ซึ่งผลคะแนนครั้งที่ 2 ชัดขึ้น และมีการทิ้งห่างมากขึ้นเป็นผลมาจากคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร เริ่มมีการตัดสินใจแล้ว ท่ามกลางกระแสโจมตีนายชัชชาติ

“เรื่องที่พูดๆ กันถึงความสัมพันธ์ ชัชชาติ ทักษิณ เพื่อไทย เรื่อง ICAO เรื่อง 3 นิ้ว แต่ก็ยังไม่เห็นทำอะไรอาจารย์ชัชชาติได้ เป็นเพราะคนจำนวนมากก้าวข้ามนายทักษิณไปแล้ว รวมทั้งเพื่อนๆผมหลายคนในกลุ่มกปปส.ด้วย ก็ไม่สนใจว่า อาจารย์ชัชชาติ จะสนิทกับนายทักษิณอย่างไร แต่วันนี้อยากได้คนนี้แหละเป็นผู้ว่าฯ กทม. ส่งผลให้คะแนนอาจารย์ชัชชาติ ขึ้นมาจนทิ้งห่างคู่แข่งมาก” ผศ.ดร.สุวิชา ชี้ชัด

ทั้งยังอธิบายด้วยว่า เป็นความฉลาดของนายชัชชาติ ที่เลี่ยงไม่ตอบ ไม่เล่นตามกระแส ไม่ตอบโต้ ปล่อยให้เป็น fakenews ด้วยการใช้ความนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหวและเดินหน้าหาเสียงโดยไม่สนใจกระแสโจมตีใด ๆ จึงทำให้คะแนนของเขาดีขึ้นๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนในช่วงอายุ 26-35 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี เคยได้ 43% ก็ขยับขึ้นเป็น 61%

“บิ๊กวิน จะได้น้อยในกลุ่ม 18-35 ปี แต่กลุ่มคนอายุ 45-60 ปี เป็นฐานของบิ๊กวินไปเต็มๆ โดยเฉพาะคนในชุมชน ซึ่งได้มีการปูฐานเสียงจากทีมรักษ์กรุงเทพไว้ดีมากๆ”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็นับว่าน่าคิด การเลือกในเชิงยุทธศาสตร์ ของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ “ชัชชาติ” ได้รับเลือกตั้ง จะหยิบยกเรื่องอะไร จึงจะกระแสแรงมากพอที่จะ “ล้มชัชชาติ” ได้ เพราะที่คาดว่าจะเอาอยู่ กลายเป็น “เอาไม่อยู่” เสียอย่างนั้น

และถ้ายังวนเวียนอยู่กับเรื่อง “ทักษิณ-เพื่อไทย” ก็แทบไม่ระคายผิว “ชัชชาติ” แต่อย่างใด

แถมต้องไม่ลืมว่า ตัวเลือกของฝ่าย “ไม่เอาทักษิณ” ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ สกลธี ภัททิยกุล ต่างก็มีผู้สนับสนุนที่ทรงพลังอยู่แล้ว และคงไม่ยอมให้ใครคนใดคนหนึ่งได้รับเลือกตั้งแทน 

 

กล่าวคือ พล.ต.อ.อัศวิน เชื่อกันว่า คนโตในรัฐบาลหนุนหลัง ดร.สุชัชวีร์ พรรคประชาธิปัตย์ ก็หวังได้รับเลือกตั้ง เรียกความนิยมกลับมากอบกู้พรรค สกลธี ก็ชัดเจนว่า กลุ่มกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส. สนับสนุนเต็มที่ และคงไม่ยอมเสียสละโดยง่าย

อย่างนี้แล้ว จะยกให้คนเดียว เพื่อต่อสู้ในเชิงยุทธศาสตร์ คงยาก และกระแสที่จะปลุกในทางยุทธศาสตร์อย่างกรณี “ทักษิณ” ก็ถูกคนกทม.ก้าวข้ามไปแล้ว? จะทำอย่างไร

จึงน่าจับตามองว่า โจทย์ข้อใหญ่ของฝ่าย “ไม่เอาทักษิณ” จะเข็นอะไรออกมาสร้างปรากฏการณ์ให้ “ชัชชาติ” แพ้ได้

ลำพังปลุกกระแส “ไม่เลือกเราเขามาแน่” จะเป็น ภาค 2 ได้หรือไม่? 

ในขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นคนกทม. และกระแสความนิยมของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ที่เป็นอยู่ ไม่มีทางสู้ได้เลย

หรือ ยังหวังปรากฏการณ์ “ไม่เลือกเราเขามาแน่ ภาค 2” จะร้อนแรงในโค้งสุดท้าย “ปาฏิหาริย์” จะมีจริง!?