เมื่อนโยบายการเงินโลกแบ่งขั้ว ไทยจะเดินไปทางไหน

เมื่อนโยบายการเงินโลกแบ่งขั้ว ไทยจะเดินไปทางไหน

หากเราติดตามการประชุมของธนาคารกลางแต่ละประเทศทั่วโลกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จะพบว่า ในปัจจุบัน แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ได้แบ่งออกเป็น 2 แนวทางที่แตกต่างอย่างชัดเจน ได้แก่ แนวทางที่ 1 การดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ผ่านการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างรวดเร็ว และแนวทางที่ 2 การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ผ่านการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นธนาคารกลางที่ดำเนินนโยบายทางการเงินในแนวทางแรกอย่างชัดเจน โดยการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่เพิ่งผ่านไปในสัปดาห์นี้ เป็นการยืนยันทิศทางอย่างชัดเจน โดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ในเดือนพฤษภาคมนี้ นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2549 ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมสองครั้งติดต่อกัน นอกเหนือจากสหรัฐฯ แล้ว ยังมีประเทศอื่น ๆ เช่น อังกฤษ ที่ดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวเช่นกัน โดยธนาคารกลางอังกฤษปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสามครั้งติดต่อกัน จนทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับไปเทียบเท่าระดับเดียวกับก่อนการระบาดของโรคโควิด-19

 

ในทางตรงกันข้าม ธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ประกาศแนวทางการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม พร้อมทั้งยืนยันที่จะดำเนินนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลต่อไป เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องและต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจให้อยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบให้เงินทุนจำนวนมากไหลออกจากประเทศญี่ปุ่น และส่งผลให้ค่าเงินเยนทำสถิติอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดในรอบ 20 ปี

 

แนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงิน ถือเป็นการตัดสินใจเฉพาะตัวของธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ซึ่งโดยพื้นฐานจะประเมินจากสภาพปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ที่ส่งผลต่อการกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินในปีนี้ คือ ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ และ สภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิ ที่แต่ละประเทศอาจเผชิญในระดับที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดการดำเนินแนวทางนโยบายในทิศทางที่แตกต่างกันออกไป

หนึ่งในหน้าที่สำคัญของธนาคารกลาง คือการควบคุมระดับราคาให้มีเสถียรภาพ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับต่ำที่สุด ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ อันเป็นผลมาจากการความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันและสินค้าอื่น ๆ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นปัญหาที่ธนาคารกลางจำเป็นต้องเข้ามาแก้ไข ผ่านการเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงิน

ธนาคารกลางจำเป็นต้องพิจารณา การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างถี่ถ้วน เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการกู้ยืมและการผลิตสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการผลิตและการบริโภคภายในประเทศปรับตัวลดลงในอนาคต ดังนั้น ธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องมีการประเมินสภาพความพร้อมของเศรษฐกิจ ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อ

หากพิจารณากลุ่มประเทศที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และ ออสเตรเลีย จะพบว่า ทุกประเทศประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่ในขณะเดียวกัน ทุกประเทศต่างก็มีความพร้อมทางเศรษฐกิจต่อการดำเนินนโยบายที่ตึงตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ มีการฟื้นตัวทั้งด้านเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ดี ตัวอย่าง สหรัฐฯ ที่ผลของการคลายล็อกดาวน์ ตั้งแต่ต้นปี 2564 ประกอบกับ การมีโครงการสนับสนุนด้านการบริโภคจากภาครัฐ

ส่งผลให้ผลิตภาพทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี (GDP) เติบโตในระดับที่สูงกว่าช่วงเวลาก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2654 ที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง อัตราการว่างงานในประเทศปรับตัวลดลงต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ดังนั้น สหรัฐฯ จึงมี ความแข็งแกร่งของสภาพเศรษฐกิจมากเพียงพอ ที่ส่งผลให้ธนาคารกลางสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงในประเทศเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม

กรณีของประเทศไทย แม้ในช่วงระยะสั้น แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในประเทศจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและสาธารณูปโภค แต่สาเหตุเหล่านี้มีที่มาจากปัจจัยด้านอุปทาน ซึ่งอาจทำให้การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่เกิดผลกระทบต่ออุปสงค์ในตลาด ไม่ยืนยันว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้ ยิ่งไปกว่านั้น

แม้ประเทศไทยจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในปี 2565 แต่ยังเผชิญโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางสูง จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับ การฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของธุรกิจ SMEs ที่ยังมีธุรกิจอีกจำนวนมากที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านทางโครงการพักชำระและปรับโครงสร้างหนี้  ดังนั้น การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง จากการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยกู้ยืม เป็นการเพิ่มภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้นต่อครัวเรือนและ SMEs ซึ่งเผชิญกับสถานการณ์ลำบากอยู่แล้ว และอาจกดดันการบริโภคและส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว 

อย่างไรก็ตาม การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นเวลานาน อาจเกิดส่งกระทบในเชิงลบต่อกระแสเงินทุนไหลออกและการอ่อนค่าของสกุลเงิน ดังเช่นที่เกิดกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ช่วงปี 2558 ที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจต่อผลต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างประเทศ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทย คงต้องตั้งคำถามว่าการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้มีประสิทธิภาพเพียงใด เนื่องจากระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก ในช่วงที่ดีมานด์ในประเทศยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว  การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอาจต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงต่องบดุล ของครัวเรือนและ SMEs รวมทั้ง ค่าเงินบาทที่อาจจะอ่อนลงด้วยเช่นกัน

  ดังนั้น ปัจจุบันอาจยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อพิจารณาภาพรวมโครงสร้างและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน สิ่งสำคัญในขณะนี้จึงควรสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับติดตามสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและเกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด