จะลงทุนอย่างไร ในพายุภูมิรัฐศาสตร์

จะลงทุนอย่างไร ในพายุภูมิรัฐศาสตร์

ระยะนี้มีข่าวใหญ่ที่ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกผันแปร หุ้นบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริการาคากำลังน่าซื้อ บางหุ้นลดราคาจากต้นปีมาถึงปัจจุบัน 40% หุ้นชั้นนำของจีนก็เช่นกัน ราคาหดหายไปกว่าครึ่งจากปีที่แล้ว

หลายสถาบันการเงินส่งสัญญาณซื้อ เพราะราคาหุ้นในปัจจุบันต่ำมาก และเตือนผู้ลงทุนว่าอย่าพลาดโอกาสนี้ไป แต่หลายคนรอจังหวะ จะเข้ามาซื้อก็กลัวข่าวร้าย จะไม่ซื้อตอนนี้แล้วเงินที่สะพัดในระบบจะไปลงที่ไหน

การเลือกตั้งที่ฝรั่งเศสจะสรุปในสัปดาห์นี้ หากประธานาธิบดี Macron เสียตำแหน่งให้กับผู้ท้าชิงLe Pen ซึ่งมีนโยบายขวาจัด จะสร้างความหวั่นไหวให้กับนักลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรป  เพราะอาจหมายถึงความแตกร้าวของประชาคมยุโรปและนาโต้ ฝรั่งเศสอาจจะแยกตัวออกจากอียู

Federal Reserve ของอเมริกาย้ำในวันพฤหัสที่ 21 เม.ย.ว่าจะต้องควบคุมเงินเฟ้อ 8.5%ให้อยู่ หลีกเลี่ยงไม่ได้คือจะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ภายในเดือนพ.ค. IMF ธนาคารชาติต่างๆ และสถาบันการเงินเอกชนทั่วโลกไม่มีทางเลี่ยง ต้องปรับตัวไปตาม เพราะอเมริกันดอลลาร์มีอิทธิพลแทรกซึมไปทุกอุตสาหกรรม

ที่สำคัญที่สุดคือพลังงาน การซื้อขายน้ำมันทั่วโลกยังใช้สกุลยูเอสดอลลาร์อยู่ การเสนอราคาและตกลงซื้อขายกันด้วยเงินตราสกุลนี้เป็นหลัก ปัจจุบันการค้าขายน้ำมันแต่ละปีอยู่ที่ 4ล้านล้านดอลลาร์หรือประมาณ 3.8% ของจีดีพีโลก

 

แม้จะมีการพยายามเปลี่ยนแนวทางใช้เงินตราอื่นซื้อน้ำมัน เช่นเงินหยวนของจีน หรือล่าสุดที่รัสเซียแจ้งว่าผู้ซื้อในสัญญาใหม่ต่อไปต้องใช้เงินรูเบิ้ลเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ยังเป็นปริมาณน้อยมาก

การที่น้ำมันเป็นสินค้าที่สำคัญที่สุดเคียงคู่กับอาหาร จึงทำให้ความสำคัญของสกุลตราดอลลาร์คงที่ ปัจจุบันนี้ไอเอ็มเอฟรายงานว่า ธนาคารใหญ่ทั่วโลกใช้อเมริกันดอลลาร์เป็นเงินสำรองเก็บเงินสำรอง 59%

อเมริกันดอลลาร์เริ่มพิมพ์ครั้งแรกปีค.ศ. 1914 หลังจากธนาคารกลางของอเมริกา The Fed ถูกตั้งขึ้น ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งประเทศพันธมิตรจ่ายค่าเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้อเมริกาด้วยทองคำ ทำให้อเมริกามีทองคำมากที่สุด หลังจากสงครามหลายประเทศยังผูกพันสกุลตราของตนเองกับอเมริกา แม้ว่าเงินดอลล่าร์จะไม่ผูกพันกับมูลค่าของทองคำที่อเมริกาเป็นเจ้าของอีกต่อไป

อิทธิพลของอเมริกันดอลลาร์ในอนาคตควรจะลดลง

การคว่ำบาตรรัสเซียโดยพันธมิตรทางตะวันตก ทางการธนาคารและการสื่อสารทางระบบSWIFT เป็นสัญญาณเตือนให้ประเทศทั้งหลายต้องหาทางเลือกอื่นบ้าง เพราะหากเลิกความผูกพันกับอเมริกันดอลล่าร์ไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงกับนโยบายความมั่นคงของประเทศ

อิทธิพลทางการเงินก็คืออิทธิพลทางการเมือง

เงินหยวนของจีนมีแนวโน้มว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมที่สุด เพราะมีปัจจัยสองประเด็นสำคัญคือจีนเป็นประเทศที่มีการค้าขายระหว่างประเทศใหญ่ที่สุด และมีเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งพัฒนามาก (เริ่มมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2014 ก่อนอเมริกา ซึ่งรัฐบาลBidenปัจจุบันเพิ่งเริ่มทำนโยบายเร่งด่วนปีนี้)

แม้จีนกำลังเจอศึกหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจภายในและภายนอก รวมทั้งนโยบายเข้มงวดต้องการกำจัดโควิดให้หมดสิ้น เช่นการปิดล็อกดาวน์ ประชากรกว่า 26 ล้านคน หลายประเทศโดยเฉพาะทางตะวันตกเริ่มละหลวมในภาคปฏิบัติแล้ว สมาคมโลกจะอยู่ได้อย่างไร หากมีนโยบายสวนทางกัน

จับตามองวันที่ 9 พ.ค. เพราะเป็นวันสำคัญมากสำหรับรัสเซีย มีการฉลองทุกปี ในโอกาส “วันแห่งชัยชนะ” ปลุกความรักชาติ กองทัพจัดสวนสนามแสดงพลังต่อเนื่องมาตลอด ตั้งแต่รัสเซียเอาชนะนาซีเยอรมันนีเมื่อปีค.ศ. 1945 สงครามในยูเครนครั้งนี้ผู้นำรัสเซียจะต้องหาบทสรุปแห่งชัยชนะ เพื่อเสนอต่อประชาชนให้ทันวันที่ 9 พ.ค. จึงอาจจะมีการเพิ่มความรุนแรงโจมตีภาคตะวันออกของยูเครน และอาจมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่นการใช้อาวุธร้ายนอกเหนือกติกาทั่วไป

และหากมีวิกฤติพันธบัตรรัสเซียไม่จ่ายตามสัญญา ผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลกจะเลี่ยงไม่ได้

นโยบายความมั่นคงล่าสุดของอเมริกาคือการดึงอินเดียเข้ามาใกล้ชิด โดยการเสนอช่วยเหลือให้ความสะดวกเรื่องการซื้อขายอาวุธ ซึ่งอินเดียต้องการเตรียมไว้รับมือกับจีนบริเวณชายแดน ปัจจุบันอินเดียซื้ออาวุธจากรัสเซียเพราะราคา อเมริกากำลังหาทางใช้กลยุทธ์โดยเฉพาะเรื่องการเงินเข้าไปแทนรัสเซีย

ตะวันตกกำลังบีบจีนเรื่องเทคโนโลยี และสร้างกระแสว่าเทคโนโลยีที่จีนกำลังพัฒนานั้น เป็นอันตรายต่อความมั่นคง อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มได้ประโยชน์ จากการถ่ายเทการผลิตสินค้าสำคัญ ที่เปลี่ยนจากฐานในจีนออกมาอยู่ข้างนอก ตัวอย่างเช่นการผลิต iPhone 13 ซึ่งปัจจุบันเริ่มผลิตในอินเดียเป็นครั้งแรกเป็นต้น

The Quad ซึ่งเป็นการร่วมกันของสี่ประเทศ คือสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดียและญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นมาจากปีค.ศ. 2004 เปลี่ยนผันจากแนวเดิม ซึ่งเคยเน้นเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจและอนามัย มากลายเป็นพันธมิตรเพื่อคานอำนาจกับจีน โดยเฉพาะการขนส่งและการปฎิบัติการทางทหารในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ซึ่ง42% ของสินค้าส่งออกและ38% ของนำเข้าของโลกจะต้องผ่านบริเวณนี้

ความตึงเครียดของภูมิรัฐศาสตร์ต่อเนื่องมาเป็นความเครียดในการลงทุน ตลาดหุ้นปัจจุบันผันแปรตามการเมือง การวิเคราะห์การลงทุนด้วยเหตุและผล กำลังโดนพายุของข่าวสารทุกวันครับ