เมื่อจีนไม่ยุติ Dynamic zero COVID แต่กระตุ้นไม่พอ !

เมื่อจีนไม่ยุติ Dynamic zero COVID แต่กระตุ้นไม่พอ !

ตั้งแต่ปีที่แล้ว นักลงทุนต่างผิดหวังกับการดำเนินนโยบายของทางการจีนที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อบังคับที่เข้มงวดและเจาะจงไปยังบางธุรกิจ ตามมาด้วยการล็อกดาวน์ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง

แม้ทางการจีนจะออกมาบอกว่าพร้อมดำเนินนโยบายเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนยังมองว่าไม่เพียงพอ สะท้อนมายังตลาดหุ้นจีนที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าหุ้นโลกทั้งในปีที่แล้วและปีนี้

และในสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนก็ได้สร้างความผิดหวังให้กับตลาดซ้ำอีกครั้ง โดยนาคารกลางจีน (PBoC) ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย ลดเพียงอัตราการกันสำรองธนาคารพาณิชย์ หรือ RRR ลง 0.25% แม้จะเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดได้ราว 5.3 แสนล้านหยวน แต่ก็น้อยกว่าตลาดคาด เพราะปกติ PBoC จะลด RRR ครั้งละ 0.5-1%

หลังจากนั้นไม่กี่วัน PBoC ได้ออก 23 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะเพิ่มวงเงินปล่อยกู้ได้ราว 1 ล้านล้านหยวน ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้มีอาชีพอิสระและธุรกิจขนาดกลาง-เล็กที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคโควิด ตลอดจนการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ผ่านการลดเงินดาวน์และอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมาตรการนี้ แม้จะดีกับเศรษฐกิจระยะยาว แต่ไม่ช่วยดึงความสนใจในตลาดทุน

การออกมาตรการลักษณะนี้ ทำให้นักวิเคราะห์ตีความว่ามีโอกาสน้อยลงที่ PBoC จะลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือลด RRR ลงเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ และมาตรการต่อจากนี้จะมีขนาดไม่ใหญ่ แต่พุ่งเป้าไปที่ผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น เพราะด้วยทิศทางเงินเฟ้อขาขึ้นและการเข้มงวดนโยบายการเงินของธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้ PBoC มีข้อจำกัดในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่เพียงพอ เป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง เพราะถูกกดดันจากทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลต่อการค้าโลก และก่อให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ซ้ำเติมด้วยนโยบายควบคุมโควิดที่เข้มงวดในหลายๆ พื้นที่ ทั้งเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และอีกกว่า 40 เมือง ทำให้เศรษฐกิจภาคบริการและการผลิตหยุดชะงักลง

จากตัวเลขเดือนมีนาคม พบว่าเศรษฐกิจชะลอลงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นยอดค้าปลีกที่หดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2020 ที่ -3.5% YoY จากที่ขยายตัว +6.7% ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราชะลอลง ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรก็ถูกกดดันจากภาคอสังหาฯ นอกจากนั้นอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ที่ 5.8% ทำให้การที่เศรษฐกิจจะโตได้ 5.5% ตามเป้าหมายของรัฐบาลมีความท้าทายมากขึ้น ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์ทยอยปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงสู่ระดับ 5% และอาจลดลงไปถึงราว 4.3-4.5% ได้ ถ้าทางการยังคงนโยบาย Zero-COVID และไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากพอ

เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ 5.5% ทางการจีนต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม การลด RRR อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะเพิ่มสภาพคล่องในระยะยาว PBoC จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก รวมทั้งเพิ่มโควต้าการปล่อยสินเชื่อ

ท่ามกลางสภาวะที่ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าเข้มงวดนโยบายการเงิน แม้จีนจะยังไม่ออกมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ แต่ก็ถือว่าจีนดำเนินนโยบายผ่อนคลายกว่าประเทศอื่นๆ การลงทุนในหุ้นจีนเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตจึงช่วยการกระจายความเสี่ยง เพราะวัฏจักรเศรษฐกิจที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น นอกจากนี้ ในระยะยาว จีนยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคเบอร์ 1 ของโลก ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม แม้ต้องเผชิญความผันผวนสูงในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม โดยควรทะยอยเข้าลงทุนและตั้งเป้าหมายระยะยาวรวมทั้งเลือกลงทุนผ่านกองทุนบริหารเชิงรุกที่มีการเลือกหุ้นที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ศักยภาพในการเติบโตสูง และอยู่ในอุตสาหกรรมที่ยังได้รับแรงหนุนจากนโยบายหลักของทางการจีน