รุ่นเกิดเกินล้านทยอยเกษียณ เร่งรับมือ super aged society

รุ่นเกิดเกินล้านทยอยเกษียณ เร่งรับมือ super aged society

ประเทศไทยมีช่วงที่มีอัตราการเกิดสูงในระหว่างปี 2505-2526 โดยมีจำนวนเด็กเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปี จึงทำให้เด็กที่เกิดในช่วงปีดังกล่าวเป็นเด็ก “รุ่นเกิดเกินล้าน”

ซึ่งโดยประชากรกลุ่มนี้ได้ทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานและเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดช่วงทศวรรษ 2530 ที่ไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย รวมถึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวจากจำนวนประชากรที่สูงขึ้นมาก เช่น การบริโภค การลงทุน

ประชากรที่เกิดรุ่นเกินล้านดังกล่าวได้เริ่มทยอยเกษียณมาตั้งแต่ปี 2565 และเด็กรุ่นเกินล้านจะทยอยเกษียณไปจนถึงปี 2586 ในกรณีที่กำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปี ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (super aged society) ของประเทศไทยในปี 2576 ซึ่งเป็นระดับที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ที่มีผลต่อจำนวนแรงงานของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

“เศรษฐกิจสูงวัย” จึงเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงเพิ่มมากขึ้นในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของทั่วโลกและประเทศไทย ซึ่งหลายประเทศที่เจอปัญหาสังคมสูงอายุได้เตรียมการรองรับเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจสูงวัย โดยเฉพาะกรณีที่จำนวนแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง ในขณะที่หลายประเทศมองถึงการเกษียณอายุที่ 65 ปี และทำให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มองถึงการดึงผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะเห็นว่าจะมีส่วนในการช่วยสร้างประสิทธิภาพการผลิตให้ประเทศ
   

ปัจจุบันผู้สูงอายุจำนวน 13 ล้านคน ของประเทศไทย มีการทำงานอยู่ที่ 5 ล้านคน คิดเป็น 37.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยเพศชายมีอัตราส่วนเข้าสู่ตลาดแรงงาน 48.1% เพศหญิง 29.7% ซึ่งประเทศไทยยังกำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปี ทั้งการจ้างงานในภาครัฐและภาคเอกชน โดย สศช.มองว่าผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี มีศักยภาพยังสามารถทำงานได้ รวมถึงหลายประเทศมีทิศทางเกษียณอายุที่ 65 ปี ซึ่งภาครัฐจำเป็นที่จะพิจารณาประเด็นนี้อย่างจริงจังเพราะวัยแรงงานลดลงต่อเนื่อง
   

ผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพดี รวมถึงมีกำลังและมีศักยภาพควรสนับสนุนให้เข้าสู่ตลาดงาน เพื่อให้เป็นแนวทางหนึ่งที่สนับสนุนโอกาสให้ดูแลตัวเองได้ เพราะปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุในปัจจุบันอยู่ที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีรายได้ที่เพียงพอกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งสูงวัยก็ต้องออกจากระบบแรงงาน ดังนั้น การยกระดับสวัสดิการผู้สูงอายุจึงเป็นอีกประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะระบบบำนาญที่ปัจจุบันมีเพียงบำนาญข้าราชการที่มีความมั่นคงสำหรับผู้สูงอายุ