แกะรอยนโยบายการค้าสหรัฐ นัยต่อเศรษฐกิจไทย

การกลับมาอีกครั้งของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ สะเทือนการค้าระหว่างประเทศ นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ ซึ่งแม้จุดมุ่งหมายหลักของรัฐบาลทรัมป์จะยังเหมือนเดิม คือ “Make America Great Again”
แต่ครั้งนี้มาพร้อมกับนโยบายการค้าที่มีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าในสมัยแรก (ทรัมป์ 1.0) โดยเฉพาะท่าทีที่มุ่งเน้นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับหลายประเทศที่ได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐ และหลายสินค้าที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ แล้วประเทศไทยต้องกังวลกับสถานการณ์นี้แค่ไหน
นโยบายการค้าของรัฐบาลทรัมป์ 2.0
นับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ จนถึงตอนนี้ มีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับจีน และขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมไปแล้ว และก็ยังต้องจับตาว่าจะมีนโยบายจะออกมาอีกเป็นซีรีส์ในระยะข้างหน้า
เบื้องต้นพอสรุปแนวนโยบายการค้าได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
(1) การขึ้นภาษีรายประเทศ เช่น การขึ้นภาษีกับจีน 20% และการขึ้นภาษีสินค้าบางส่วนกับเม็กซิโกและแคนาดา 25% รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาประเด็นการค้าไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ ที่คาดว่าจะรู้ผลในเดือนเมษายนนี้
(2) การขึ้นภาษีรายสินค้า ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียมที่บังคับใช้แล้ว และกลุ่มสินค้าที่จะเตรียมประกาศเพิ่มเติม อาทิ ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ ยาและเวชภัณฑ์
(3) การขึ้นภาษีต่างตอบแทน (reciprocal tariff) ที่ใช้กลไกกฎหมายแตกต่างจากที่เคยใช้ช่วงทรัมป์ 1.0 โดยสหรัฐ จะขึ้นภาษีนำเข้าให้เท่ากับภาษีที่ประเทศต่างๆ เก็บจากสหรัฐ และอาจนับรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ที่เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในมุมมองของสหรัฐ
จับตา “ประเทศไทยอาจถูกระบุเป็นกลุ่มเสี่ยง”
นโยบายการค้าของสหรัฐครั้งนี้มีรูปแบบที่หลากหลาย และอาจกระทบต่อหลายประเทศมากขึ้น
หากย้อนกลับไปค้นเอกสารทำเนียบขาว จะพบรายงานน่าสนใจที่เผยแพร่เมื่อปี 2562 ชื่อว่า “The United States Reciprocal Trade Act: Estimated Job & Trade Deficit Effects”
ซึ่งสะท้อนมุมมองจากฝั่งสหรัฐ ว่า สหรัฐเสียเปรียบด้านภาษีนำเข้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ขณะที่การบังคับใช้ reciprocal tariff กับประเทศต่างๆ จะช่วยลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ ได้กว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (สหรัฐขาดดุลการค้า 6.2 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2561) และสร้างการจ้างงานในสหรัฐ ได้เพิ่มขึ้นกว่า 3.5 แสนอัตรา
ที่สำคัญ ผลการประเมินในรายงานดังกล่าวระบุว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยง (โซนสีเหลือง) ที่มีส่วนต่างของภาษีกับสหรัฐ และเกินดุลการค้ากับสหรัฐในระดับสูง ตามหลังเพียงประเทศอย่างอินเดีย เกาหลีใต้ และจีน (กลุ่มโซนสีแดง)
และหากสหรัฐ บังคับใช้ reciprocal tariff รวมถึงเก็บภาษีรายสินค้าในเดือนเมษายนนี้ ภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 10% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ภาษีนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 1-5%
และส่งผลให้แต้มต่อด้านราคาของสินค้าไทยที่ส่งไปยังสหรัฐ ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน
ทั่วโลกเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบอย่างไร
แม้ว่านโยบายภาษีของสหรัฐจะมีความไม่แน่นอนสูง แต่หลายประเทศเริ่มหาแนวทางรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อต่อรองกับสหรัฐ และรองรับผลกระทบจากการแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศที่จะตามมา โดยสรุปได้ 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่
(1) ลดความเสี่ยงผ่านการเจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐ เพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ลดส่วนต่างอัตราภาษีกับสหรัฐ และ/หรือแสดงเจตจำนงในการเข้าไปลงทุนยังสหรัฐ
ตัวอย่างเช่น อินเดีย ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ในหลายสินค้า เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มการนำเข้าพลังงานและอุปกรณ์การทหารจากสหรัฐ
ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เริ่มเจรจากับสหรัฐ และแสดงเจตจำนงในการเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ ให้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกใหม่
เช่นเดียวกับ ไต้หวัน ที่บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง TSMC ที่เตรียมขยายการลงทุนในสหรัฐมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์Q
(2) เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการเข้ามาแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศผ่านมาตรการป้องกันการทุ่มตลาด (Anti-Dumping) อาทิ เกาหลีใต้และเวียดนาม ที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กจีนบางประเภทสูงสุด 38% และ 28% ตามลำดับ
รวมถึงอินโดนีเซีย ที่ใช้ทั้งมาตรการป้องกันการทุ่มตลาด กำหนดโควตานำเข้า ควบคุมการค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และปราบปรามการนำเข้าผิดกฎหมายแบบเข้มข้น
เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศแข่งขันอย่างเป็นธรรม และต่อเวลาในการปรับตัวสำหรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
(3) เตรียมความพร้อมรองรับการกระจายฐานการผลิต และพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตในประเทศ
อาทิ เวียดนาม มีแผนให้เงินอุดหนุนสูงสุด 50% ของการลงทุนวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ขณะที่อินโดนีเซีย เจรจากับบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple เพื่อเพิ่มการลงทุนมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์
พร้อมกับจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับฝึกอบรมแรงงานท้องถิ่น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศที่ 40% หากต้องการขายสินค้าในอินโดนีเซีย
ทั่วโลกต่างตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อรับมือกับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐ และปรับตัวเพื่อหาช่องทางอยู่รอดภายใต้โลกที่สงครามทางการค้าและการแข่งขันระหว่างประเทศเข้มข้นขึ้น
ดังนั้น หากไทยสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นเป้าหมายของสหรัฐ ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานการค้าของโลก เพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
และเพิ่มบทบาทของไทยในห่วงโซ่การผลิตของโลกได้ ก็จะเพิ่มโอกาสที่ภาคการผลิตและภาคการค้าของไทยจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรค และเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไปในระยะยาว
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด