5 ปี บนสถานการณ์ผันผวน "กองทุนน้ำมัน" เผชิญแรงกดดัน แทรกแซงราคา

5 ปี บนสถานการณ์ผันผวน "กองทุนน้ำมัน" เผชิญแรงกดดัน แทรกแซงราคา

การระบาดของโรคโควิค-19 ในช่วงปี 2563-2564 รัฐบาลได้ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร และลดราคา LPG จาก 363 บาท เหลือ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่ 24 มี.ค.2563 เป็นต้นมา

เบื้องต้นคาดว่าจะตรึงราคาไว้แค่ 3 เดือน แต่รัฐบาลก็ได้ต่ออายุการตรึงราคาครั้งละ 3 เดือนมาจนถึงต้นปี 2565

ในช่วงปลายปี 2564 สถานการณ์โรคโควิค-19 เริ่มผ่อนคลายลง ความต้องการใช้พลังงานเริ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

รัฐบาลได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร และตรึงราคา LPG ไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมต่อเนื่องมาจนกระทั่งเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

กองทุนน้ำมันฯ ต้องเข้าไปอุดหนุนราคาดีเซลสูงถึง 14 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลงอย่างรวดเร็ว 

โดยในช่วงเดือนมกราคม 2564 กองทุนน้ำมันฯ ยังมีเงินเป็นบวกอยู่ถึง 25,800 ล้านบาท ลดลงมาติดลบ -4,480 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2564 และได้ติดลบมากขึ้นเป็น -37,592 ล้านบาท เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2565

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จึงมีมติให้ทยอยปรับขึ้นราคาดีเซลขึ้นเป็น 32 บาท/ลิตรเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 และตั้งเพดานไว้ที่ 35 บาท/ลิตร

ในส่วนของราคา LPG นั้นก็มีมติให้ทยอยปรับเดือนละ 1 บาท/กิโลกรัม จำนวนหกครั้งเริ่มตั้งแต่เมษายน-กันยายน 2565 ทำให้ราคา LPG ปรับตัวสูงขึ้นจาก 318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม เป็น 408 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม ในเดือนกันยายน 2565

หลังจากนั้นก็มีการปรับอีกครั้งในเดือนเมษายน 2566 อีก 1 บาท/กิโลกรัม เป็นราคา 423 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม และยืนราคานี้มาจนถึงปัจจุบัน

การเข้าไปตรึงราคาน้ำมันและ LPG ในช่วงปี 2565 ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบอย่างรวดเร็วจากเมื่อตอนต้นปี 2565 โดยติดลบ -14,080 ล้านบาท มาติดลบสูงสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยติดลบถึง -132,671 ล้านบาท แยกเป็นน้ำมันติดลบ -88,788 ล้านบาท LPG ติดลบ 43,883 ล้านบาท

เริ่มต้นปี 2566 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้อ่อนตัวลงมาอยู่ในระดับ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้มีการทยอยปรับราคาดีเซลลง 7 ครั้งจากระดับราคา 35 บาท/ลิตร เหลือ 32 บาท/ลิตร ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ดีขึ้นจากติดลบ -113,436 ล้านบาทเดือนมกราคม 2566 เหลือ -49,173 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 

5 ปี บนสถานการณ์ผันผวน \"กองทุนน้ำมัน\" เผชิญแรงกดดัน แทรกแซงราคา

แต่พอมีรัฐบาลใหม่ในช่วงเดือนกันยายน 2566 รัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาดีเซลอยู่ 30 บาท/ลิตร ทำให้กองทุนน้ำมันฯ เริ่มติดลบมากขึ้นอย่างรวดเร็ว มาแตะที่ระดับ -111,345 ล้านบาทในเดือนพฤษภาคม 2567 ทำให้รัฐบาลต้องปล่อยให้ราคาดีเซลสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 33 บาท/ลิตรตั้งแต่ 7 สิงหาคม 2567

ในขณะเดียวกันก็ยังคงตรึงราคา LPG ไว้ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม จนมาถึงปัจจุบันนี้ 

ในช่วงปี 2568 ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้อ่อนตัวลงมาอยู่ในระดับ 70-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ฐานะกองทุนฯ ดีขึ้นตามลำดับ จากติดลบ -99,087 ล้านบาท เมื่อ 29 กันยายน 2567 เหลือติดลบ -72,913 ล้านบาทเมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2568 และเหลือ -68,191 และ -66,419 ล้านบาท เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และ 2 มีนาคม 2568 ตามลำดับ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาสูงสุดที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นปี 2565 

กองทุนน้ำมันฯ ได้เข้ามามีบทบาทในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG ตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ซึ่งเคยมีเงินในกองทุน ฯ ถึง 38,000 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2562 และกลับมาติดลบสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 1.3 แสนล้านบาทในช่วงกลางปี 2565 

จนรัฐบาลต้องออกเป็นพระราชกำหนดกู้เงิน 1.5 แสนล้านบาท ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อพฤศจิกายน 2565

หลังจากนั้นในปี 2567 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้อ่อนตัวลงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ฐานะกองทุนฯ ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ สามารถเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อใช้หนี้ได้ 

คาดว่าถ้าสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้มากนัก และรัฐบาลไม่เข้ามาแทรกแซงราคาอีก ฐานะกองทุนน้ำมันฯ จะสามารถกลับมาเป็นบวกได้ภายในต้นปี 2569