นโยบายเศรษฐกิจอะไร? ที่ 'รัฐบาลใหม่' ควรสานต่อ

 นโยบายเศรษฐกิจอะไร?  ที่ 'รัฐบาลใหม่' ควรสานต่อ

การเปลี่ยนรัฐบาลใหม่มักมาพร้อมกับนโยบายใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็มีคำถามถึงนโยบายเดิมที่กำลังเดินหน้า ว่าจะมีการสานต่อหรือไม่ หรือจะมีการปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกอย่างไร โดยปัจจุบันมีหลายนโยบายที่รัฐบาลปัจจุบันได้เดินหน้าไปมากแล้วซึ่งส่งผลทั้งในเรื่องของดึงเม็ดเงินการลงทุน และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในประเทศ

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2566 ขยายตัวได้ 2.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 2.7 – 3.7% มีค่ากลางอยู่ประมาณ 3.2%

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่ฟื้นตัวขึ้นจากโควิด-19 แต่ยังคงฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังคงเติบโตได้น้อยกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาค 

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังถือว่าเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเติบโตได้ 4 – 5% ต่อปีซึ่งเป็นตัวเลขที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” ได้ตามเป้าหมายในปี 2579

การเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังต่ำกว่าศักยภาพของไทยมีสาเหตุมาจากปัญหาหลายอย่าง สศช.ชี้ให้เห็นว่าปัญหาล่าสุดคือการปรับตัวของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวที่เริ่มแข่งขันไม่ได้ในตลาดโลก ทำให้ภาคการส่งออกของไทยอ่อนแอลง 

การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ผ่านมาติดลบ 4.6% ถือว่าติดลบมาต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสก่อนโดยมีหลายสินค้าที่การส่งออกติดลบหลายไตรมาสติดต่อกัน เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมทั้งแผงวงจรรวมและชิ้นส่วนที่การส่งออกติดลบตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/65 มาจนถึงไตรมาสที่ 1/66 โดยเป็นการติดลบในระดับ 10 – 30% ขณะที่ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ก็ติดลบ 2 ไตรมาสติดกันโดยมีการส่งออกที่ลดลง 8.4% และ 8.2% สองไตรมาสติิดต่อกัน

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงต่อเนื่องกำลังบอกว่าสินค้าที่กำลังผลิตในไทยบางอย่างกำลังแข่งขันลำบาก มีคู่แข่งรายใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่กว่าเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด

 จำเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องรีบเข้าไปเอ็กซเรย์ดูปัญหา และส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนการผลิต เปลี่ยนเทคโนโลยี รวมทั้งดึงการลงทุนที่เป็นเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในประเทศ

ที่ผ่านมามีหลายนโยบายเศรษฐกิจที่กำลังเดินหน้าไปได้ดี และควรได้รับการสานต่อ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของภูมิภาค ปัจจุบันมีค่ายรถ EV มาลงทุนในประเทศไทยแล้วกว่าสิบราย ด้วยความชัดเจนจากนโยบาย 30@30 ซึ่งไปไกลถึงการมีนโยบายส่งเสริมการตั้งโรงงานแบตเตอรี่รถEV ในไทยแล้ว

อีกนโยบายที่ทิ้งไม่ได้คือการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิพคุณภาพสูงที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำสำหรับEV ,Internet of Thing และคลาวด์คอมพิวเตอร์ที่จะมีเป็นCore เทคโนโลยีของโลกในอนาคต

สุดท้ายคือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด และเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายตัวและการจ้างงานของเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ไทยมีการประกาศนโยบายพร้อมบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีค.ศ. 2050 ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นไปตามกติกาการค้าของโลกที่จะมีการควบคุมมาตรการของการลดคาร์บอนไดร์ออกไซด์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

...ที่ผ่านมาการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในประเทศไทยเราไม่ค่อยเห็นการต่อเนื่องของนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประเทศมากนัก ได้แต่หวังว่านโยบายเศรษฐกิจที่มีควาสำคัญกำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีกับประเทศ รัฐบาลใหม่จะสานต่อนโยบายเหล่านี้จากจุดที่ทำอยู่ให้เดินหน้าต่อไปเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น