สหภาพยุโรป จะเป็นเสาหลักที่สามของโลกได้หรือไม่

สหภาพยุโรป จะเป็นเสาหลักที่สามของโลกได้หรือไม่

ประธานาธิบดี Macron ของฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน หลังจากไปเยือนจีนเป็นทางการในวันที่ 4-7 เม.ย.2023 ที่ผ่านมา เป็นข่าวใหญ่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก

หลายฝ่ายแทบตั้งตัวไม่ติด เนื่องจากเป็นการแสดงท่าทีของฝรั่งเศส "ในนามตัวแทนของสหภาพยุโรป 27 ประเทศ"  ยืนยันความประสงค์รักษาสัมพันธไมตรีและค้าขายกับจีนต่อไป และย้ำว่าสหภาพยุโรปควรหลีกเลี่ยงการถูกดึงเข้าไปวุ่นวายกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนเรื่องไต้หวัน "ระวังอย่าไปติดกับดัก กับเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหาของเรา" และสหภาพยุโรปควรเตรียมตัวเป็นพลังที่สามในระเบียบโลก เคียงสหรัฐและจีน

คำแถลงดังกล่าวนี้ถูกตอบโต้โดยนักการเมืองจากหลายประเทศในยุโรปว่า ไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีมาครง ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของสหภาพยุโรป และนโยบายของสหภาพยุโรปนั้นมีเสียงเป็นเอกฉันท์และมีความสามัคคีแน่นแฟ้นเรื่องนโยบายเกี่ยวกับจีน ซึ่งปัจจุบันต้องพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ

เพื่อรักษาผลประโยชน์ของยุโรป และควรพิจารณาเรื่องสำคัญต่างๆให้สอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดในเรื่องความมั่นคงและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในปัจจุบัน และตำหนิว่าเที่ยวนี้มาครงล้มเหลวในการโน้มน้าวให้จีนช่วยหาทางนำมาสู่สันติภาพในยูเครน 

และตั้งข้อสงสัยว่า เจตนาของการไปเยือนจีนที่แท้จริงนั้น เป็นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อฝรั่งเศสเท่านั้น โดยคณะผู้ร่วมเดินทางกว่า 60 คน เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำในฝรั่งเศส รวมทั้งบริษัทผลิตเครื่องบิน Airbus  ซึ่งได้เซ็นสัญญาเปิดโรงงานประกอบเครื่องบินโรงที่สองในจีน ซึ่งโรงงานแรกที่มีอยู่นั้น ประกอบเครื่องบินรุ่น A320 สำเร็จแล้วกว่า 600 ลำ หากนับจากที่เปิดทำการมาเมื่อปีค.ศ. 2008 และรุ่นนี้ปัจจุบันขายดีกว่า Boeing 737 ของสหรัฐ

ปัจจุบันจีนใช้เครื่องบินโดยสารในประเทศประมาณ 4,200 ลำ และในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งหรือ 2,100 ลำเป็นยี่ห้อ Airbus ของฝรั่งเศส และ Airbus ประเมินว่าในระยะ 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้โดยสารภายในจีนจะโตขึ้นต่อปีประมาณ 5.3% ซึ่งมากกว่าการเติบโตของตลาดโลกซึ่งประเมินไว้ที่ 3.6% และจะทำให้มีความต้องการซื้อเครื่องบินถึง 8,420 ลำ ภายในปีค.ศ. 2041

บริษัทฝรั่งเศสอื่นๆซึ่งร่วมในการเดินทางไปเยือนจีนครั้งนี้ ก็ถือโอกาสเซ็นสัญญาในหลายโครงการเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจของฝรั่งเศส และอาจจะช่วยบรรเทาความตึงเครียดภายในฝรั่งเศสได้บ้าง เนื่องจากระยะนี้ความกดดันของการเมืองภายในฝรั่งเศสอยู่ในขีดอันตราย การประท้วงต่อนโยบายของรัฐบาลเรื่องการเพิ่มอายุเกษียณ เป็นเรื่องหนึ่งที่ยังแก้ไม่ตก

ส่วนสหภาพยุโรปจะเป็นเสาที่สามของโลกได้หรือไม่นั้น เงื่อนไขและปัจจัยโดยสังเขปของสหภาพยุโรปอาจเป็นข้อมูลให้เราพิจารณาได้ชัดเจนขึ้น 

สหภาพยุโรปเป็นสภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองประกอบด้วยรัฐสมาชิก 27 ประเทศมีประชากรประมาณ 447 ล้านคน พัฒนาตลาดเดี่ยวภายใน ผ่านระบบกฎหมายทำให้เป็นมาตรฐาน การเคลื่อนย้ายบุคคล การบริการและทุนอย่างเสรีตรากฎหมายยุติธรรมและกิจการในประเทศการควบคุมหนังสือเดินทางร่วมกันและมีสภาพการเงินซึ่งรัฐสมาชิก 19 ประเทศใช้สกุลเงินยูโร 

สหภาพยุโรปมีประชากร 7.3% ของประชากรโลก และมีจีดีพีรวมกันประมาณ 22% ของโลก สหภาพยุโรปคงคณะผู้แทนทางทูตถาวรทั่วโลกและมีผู้แทนในสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก กลุ่ม 7 และกลุ่ม 20

การกำหนดแรงผลักดันและทิศทางขึ้นอยู่กับคณะมนตรียุโรป European Council ซึ่งประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลจะมาประชุมสุดยอดในเมือง Brussels ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันต่างๆเช่น การออกกฏหมาย

โดยสภานิติบัญญัติแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป The Council of the European Union ประสานงานนโยบายเศรษฐกิจและสังคมและตั้งแนวปฏิบัติเรื่องนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐสภายุโรป European Parliament ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมประชาธิปไตยและตัดสินใจงบประมาณในวาระสุดท้าย รวมทั้งคณะกรรมาธิการยุโรป European Commission ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารและนำนโยบายและงบประมาณไปปฏิบัติ 

ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปและศาลผู้สอบบัญชียุโรปตั้งอยู่ในนครลักเซมเบิร์ก ส่วนธนาคารกลางยุโรป European Central Bank ซึ่งกำหนดนโยบายการเงินของยูโรโซนและประกันเสถียรภาพราคาในยูโรโซนโดยการควบคุมอุปสงค์ของเงิน ตั้งอยู่ในแฟรงก์เฟิร์ต 

หลายปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับจีนส่งผลกระทบต่อสหภาพยุโรปโดยตรง สมาชิกของสหภาพฯหลายหลายประเทศได้ผลตอบแทนสูงจากการค้าขายกับจีน ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญมาก และในปัจจุบันตลาดจีนต่อสินค้าส่งออกของสหภาพยุโรปนั้นใหญ่กว่าสหรัฐฯ และสหภาพฯเกรงว่าหากลดหรือเลิกการค้าขายกับจีน ตามความกดดันของอเมริกา จะทำให้เกิดความลำบากทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะปัจจุบันตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจหลายอย่างจากรัสเซียแล้ว 

แต่เรื่องความมั่นคงและความสัมพันธ์ทางการทหารในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เป็นเงื่อนไขสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน ตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีค.ศ. 2022 เป็นต้นมา ทำให้ยุโรปกับอเมริกามีความสัมพันธ์กันโดยความจำเป็นเด่นชัดมาก จึงทำให้นโยบายหลายอย่างของสมาชิกในสหภาพยุโรปคล้อยตามคำขอของสหรัฐ เช่นเยอรมันจะทบทวนนโยบายการใช้เครื่องมือสื่อสารที่ผลิตในจีน (Huawei & ZTE) และเนเธอร์แลนด์ยกเลิกการขายเครื่องมือสมรรถนะสูงในการผลิตคอมพิวเตอร์ชิพให้จีน เป็นต้น

ฝรั่งเศสเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามในสหภาพยุโรป ตามหลังเยอรมันและสหราชอาณาจักร และถึงแม้ว่าประธานาธิบดีมาครงมีประสบการณ์สูง เป็นผู้นำที่ประชาชนคุ้นหน้าในยุโรปมากที่สุด หลังจากที่อดีตผู้นำของเยอรมัน Angela Merkel ออกจากตำแหน่งไป และขณะเดียวกันผู้นำฝ่ายจีนก็ต้องการช่องทางรักษาความสมดุลย์ทางการเมือง เปิดประตูการค้าในตลาดยุโรป และลดอิทธิพลของอเมริกาลง โดยการให้เกียรติและเอาใจเป็นพิเศษต่อผู้นำบางคนในยุโรป เช่นกรณีฝรั่งเศสครั้งนี้ 

แต่ความปรารถนาของสหภาพยุโรปในระยะยาว ที่จะเป็นทางเลือกหรือพลังที่สามของโลก อาจขึ้นอยู่กับการแก้โจทย์ปัญหาใหญ่ใกล้ตัวก่อน สันติภาพในยูเครนมาเร็วได้เท่าไหร่ ความฝันของสหภาพยุโรปก็จะเป็นจริงขึ้นเร็วเท่านั้นครับ