'นโยบายเศรษฐกิจ' ที่ควรมี สำหรับ 'การเลือกตั้ง' ในปี 66

'นโยบายเศรษฐกิจ' ที่ควรมี สำหรับ 'การเลือกตั้ง' ในปี 66

ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ในการเลือกตั้งครั้งนี้การต่อสู้กันด้วย “นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ” จะเข้มข้น และจะเป็นจุดขายแต่ละพรรคในการโน้มน้าวขอคะแนนประชาชน 

ใกล้ที่จะถึงวันยุบสภาฯ และวันเลือกตั้งเข้ามาทุกขณะ โดยตามปฏิทินการเมือง รวมทั้งปฏิทินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 บอกให้รู้ว่าช่วงเวลาที่เหมาะกับการยุบสภาที่สุดของรัฐบาลคือหลังวันที่ 14 มี.ค.ที่จะเป็นวันที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี67 จะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ครั้งแรกเพื่อให้ความเห็นและปรับปรุงร่างงบประมาณรายจ่าย 2567 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ในการเลือกตั้งครั้งนี้การต่อสู้กันด้วย “นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ” จะเข้มข้น และจะเป็นจุดขายแต่ละพรรคในการโน้มน้าวขอคะแนนประชาชน หากแคนดิเนตนายกฯมีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ หรือมือนโยบายเศรษฐกิจของพรรคที่ได้รับการยอมรับก็มีสิทธิ์จะได้คะแนนเสียงอย่างท้วมท้น

สถานการณ์ในวันนี้แม้จะดูเหมือนว่าแต่ละพรรคจะต่อสู้กันด้วยนโยบายเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นนโยบายที่วนเวียนกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งอัดฉีด เกทับ เพิ่มเงินสวัสดิการ เพิ่มเงินเกษตรกร เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา พักหนี้ ลดราคาน้ำมันแบบเร่งด่วน 

ล้วนแต่เป็นนโยบายระยะสั้นที่จะสร้างภาระทางการคลังระยะยาว

ข้อมูลในการแถลงภาวะสังคมของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่ารายจ่ายของภาครัฐมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากปีละ 3 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน เป็น 6.5 ล้านล้านบาทในปี 2585 หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเลขสวัสดิการต่างๆที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมามีนโยบายในรูปแบบนี้อยู่ไม่น้อย 

ตัวอย่างคือนโยบาย“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคกำลังนำไปใช้หาเสียงอย่างโครมครามว่าจะเพิ่มเงินให้ 700 – 1,000 บาทต่อเดือน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาใช้เงินงบประมาณไปแล้วกว่า 3.3 แสนล้านบาท ยังไม่รวมเงินกู้โควิดฯอีกหลายหมื่นล้านบาทที่ใช้ไปกับนโยบายนี้

ทุกวันนี้นโยบายดังกล่าวกลายเป็นนโยบายถาวรที่จะต้องตั้งงบประมาณมาอุดหนุนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยปีละ 5 – 6 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมกับงบกลางฯที่ขออนุมัติเพิ่มเติม และเชื่อว่าไม่ว่าพรรคไหนจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็คงไม่กล้าที่จะยกเลิกนโยบายนี้

ทั้งนี้หากจะคงนโยบายบัตรสวัสดิการหรือการให้เงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางไว้ สิ่งที่จำเป็นที่พรรคการเมืองควรทำนโยบายควบคู่กันไปก็คือ ต้องเพิ่ม “ทุนมนุษย์” หรือ “Human Capital” ซึ่งหมายถึง ความรู้ ทักษะ ความสามารถของคนหรือแรงงานที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ควบคู่กับการสร้างอาชีพ เพิ่มฝีมือแรงงานของผู้ถือบัตรสวัสดิการด้วย 

นโยบายที่ดีในทางเศรษฐกิจไม่ควรมองแค่ปัญหาเฉพาะหน้าต้องเน้นที่การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้า เพื่อลดจำนวนผู้ที่เข้าข่ายต้องได้รับบัตรสวัสดิการให้ลดลง ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ การเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย และช่วยลดภาระทางการคลังของประเทศได้ในที่สุด