เศรษฐกิจไทยปี 2566 ไปต่อได้หรือไม่....ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจไทยปี 2566 ไปต่อได้หรือไม่....ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลก

หลังเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022) เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ดูเหมือนเศรษฐกิจไทยก็มีข่าวดีออกมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปีนี้ เป็น 3.7% ในปี 2566 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

แต่ไทยเป็นเพียง 2 ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 โดยล่าสุด มีแพคเกจกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2565 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2566 ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปต่อได้หรือไม่ องค์ประกอบใดที่เป็นแรงขับเคลื่อน และเราจะฝ่าด่านความท้าทายแรงกระแทกของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงจากปัจจัยภายในไปได้อย่างไร เป็นสิ่งเราจะมาหาคำตอบกัน

เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนของทุกเครื่องยนต์ ดันตัวเลขจีดีพีทั้งปี 2565 เติบโตได้ 3.2% จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัวที่ 4.5% เร่งขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกด้านกลับสู่ระดับปกติ ที่โดดเด่น คือ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็ว แม้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีนก็ตาม

โดยมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 10 เดือนของปี 2565 นี้ (มกราคม-ตุลาคม) เกือบ 8 ล้านคน และมีแนวโน้มที่ยอดรวมทั้งปีจะอยู่ที่กว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 25% ของสถิติสูงสุด 40 ล้านคนในปี 2562 เมื่อรวมกับเครื่องยนต์ภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ แม้เริ่มเห็นสัญญาณเติบโตแผ่วลง สาเหตุจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป นอกจากนี้  การใช้จ่ายในประเทศขยายตัวดีทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 ฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากหดตัวจากวิกฤติโควิด-19 ในปี 2563

หลากหลายความท้าทายฉุดจีดีพีโลกเติบโตอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤตโควิด-19  โดยล่าสุด IMF มองเศรษฐกิจโลกปี 2566 ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงข้างหน้าทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ วิกฤตราคาพลังงานที่ยังไม่ยุติโดยเฉพาะในยุโรป วิกฤตค่าครองชีพจากแรงกดดันเงินเฟ้อทั่วโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักพร้อม ๆ กัน ทั้งสหรัฐฯ จีน และยุโรป

รวมทั้งมองเศรษฐกิจประเทศ APEC ส่วนใหญ่กำลังชะลอตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปี 2566 ขยายตัวลดลงอยู่ที่ 2.7% ต่ำกว่าก่อนวิกฤตโควิด-19 ที่อยู่ในระดับ 3% ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชียยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงอาเซียนด้วย  เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัว 4.4% เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปีนี้ แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 6.5% ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ขณะที่อินเดียและอาเซียน 5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์) ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เปรียบเสมือนยังมีแสงสว่างท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจโลก โดยมองไทยเป็น 1 ในประเทศที่จีดีพีเพิ่มขึ้นในปี 2566

ความเสี่ยงด้านการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นชัดเจน  ฉุดโมเมนตัมการส่งออกไทยแผ่วลงในปี 2566  สำหรับทิศทางส่งออกของไทยในปี 2566 เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักทั้งตลาดสหรัฐฯและยุโรปที่มีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อสูงและนโยบายการเงินตึงตัวแรง สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IMF ในปี 2566 กลุ่มเศรษฐกิจหลักซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1/3 ของเศรษฐกิจโลกจะชะงักงันหรือแทบจะไม่โตกล่าวคือ สหรัฐฯ 1.0% สหภาพยุโรป 0.5% 

รายงานล่าสุดของ Bloomberg ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ 100% ที่สหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า หรือในเดือนตุลาคมปี 2566 เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่โอกาสอยู่ที่ 65% เท่านั้น และโอกาสที่เศรษฐกิจจะถดถอยเร็วกว่า 12 เดือนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในทำนองเดียวกัน องค์การการค้าโลก (WTO) ประกาศปรับลดการคาดการณ์การค้าโลกในปี 2566  ไปอยู่ที่ระดับ 2.3% จาก 3.2% ที่คาดการณ์ในเดือนเมษายน เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น เงินเฟ้อ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักย่อมกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในปี 2566 ให้เติบโตลดลง แต่จะไม่ถึงขั้นไม่ขยายตัว คาดมูลค่าส่งออกยังโตอยู่ที่ระดับ 2-3%

โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกสินค้ารถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ฟ้า ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การขาดแคลนชิปคลี่คลาย ตลอดจนการแสวงหาโอกาสเน้นไปที่ตลาดที่เศรษฐกิจยังคงเติบโตดีอย่างอาเซียน ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 นี้ มูลค่าตลาดส่งออกอาเซียนเติบโตได้ 16% ขณะที่ภาพรวมทุกตลาดขยายตัวที่ 9% และมีแนวโน้มที่ตลาดอาเซียนจะเติบโตได้ต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาจากหลากหลายปัจจัยหนุน ได้แก่ การเป็นห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ของโลก ศักยภาพการเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตด้วยการคำนึงถึง Climate Change หรือเป็น BCG Model ซึ่งอาเซียนมีความพร้อมด้านวัตถุดิบในการขับเคลื่อน หรือแม้แต่การพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน และภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม อีกทั้งการรวมกลุ่มและความร่วมมือการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของอาเซียน เป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศอาเซียนเติบโตได้ต่อเนื่อง และการเน้นประโยชน์ที่ได้จากการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเวที APEC หรือในกลุ่มอาเซียนกันเอง

การเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ของไทยได้แสดงออกถึง Soft Power ของไทย สร้างบรรยากาศที่ดีหนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นอกจากเป็นเวทีก่อให้เกิดประโยชน์ในมิติการค้า การลงทุนในระยะยาวจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก APEC แล้ว มองว่าไทยยังได้ประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเวทีโลกให้เห็นถึง Soft Power ของไทยสะท้อนผ่านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ

ทั้งนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติหลัก ๆ ในปี 2566 ยังคงเป็นเอเชียและตะวันออกกลางเหมือนเช่นในปี 2565 จากปัจจัยหนุนความต้องการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยจากการที่ถูกจำกัดไว้ก่อนหน้า (Pent Up Demand) และพฤติกรรมการท่องเที่ยวนอกประเทศภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลายยังคงเป็นจุดหมายปลายทางระยะใกล้ มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า

โดยภาพรวมคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 20 ล้านคน หรืออาจมากกว่านั้นหากการกลับมาของนักท่องเที่ยวตลาดจีนเร็วกว่าที่คาดไว้ว่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2566  ขณะที่มองการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปในแนวทางมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังอุตสาหกรรมบริการที่มีคุณภาพสูง  มุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวในสาขาที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย Soft Power ของไทย  ซึ่งคาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

มองไปข้างหน้าแม้เราจะสามารถรับมือกับแรงกระแทกจากเศรษฐกิจโลกชะลอลงได้ในระดับหนึ่ง  แต่ปัจจัยภายในยังมีความท้าทาย ทั้งจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงแม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มไม่เร่งตัวมากเช่นในปีนี้ก็ตาม  อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มยังคงเป็นขาขึ้นตามการปรับขึ้นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า 

ซึ่งจะกระทบต่อรายจ่ายและเพิ่มภาระให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และเพิ่มต้นทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19  ทั้งนี้ มองว่าการมีมาตรการดูแลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังเป็นสิ่งจำเป็น อาทิ มาตรการภาครัฐช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม และมาตรการดูแลจากสถาบันการเงินเพื่อให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต ท้ายที่สุดจะส่งผลให้เครื่องยนต์ทุกด้านเดินหน้าเป็นแรงขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป