‘นอนไม่หลับ’ ไม่ใช่ปัญหาแต่การพยายามที่จะหลับให้ได้...เป็นปัญหา
อาการนอนไม่หลับ คือ ความผิดปกติของการนอนที่ทำให้หลับยาก หรือทำให้ตื่นเร็วเกินไปและไม่สามารถกลับไปนอนต่อได้ คุณอาจจะรู้สึกเหนื่อยเมื่อตื่นนอน อาการนอนไม่หลับบั่นทอนระดับพลังงาน อารมณ์ รวมถึงสุขภาพโดยรวม ประสิทธิภาพการทำงาน และคุณภาพชีวิตของคุณอีกด้วย
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทนอนหลับยากตอนกลางคืน ตื่นกลางดึก ตื่นเช้าเกินไป ความเหนื่อยล้า หรือง่วงนอนในเวลากลางวัน หงุดหงิด ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล ไม่สามารถจดจ่อกับงานได้ หรือมีปัญหาการจดจำ มีความผิดพลาด หรือมีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น มีความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการนอนหลับ
ซึ่งทั้งหมดเป็นอาการสัญญาณเตือนของผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน โดยอาจเป็นผลมาจาก หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการนอน ความเครียด การงีบระหว่างวัน หรือแม้กระทั่งปัญหาสุขภาพของแต่ละบุคคล แต่อีกหนึ่งสาเหตุที่ทุกท่านคาดไม่ถึงและไม่คิดว่าจะเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับนั่นก็คือการนอนกรน
สาเหตุของการนอนไม่หลับ
ปัญหาความเครียด ความเครียด ความกังวลเรื่องงาน การเรียน สุขภาพ การเงิน หรือครอบครัว อาจทำให้จิตใจของคุณคิด กังวล ตอนกลางคืน ทำให้นอนหลับยาก เหตุการณ์ในชีวิตที่ตึงเครียดหรือความบอบช้ำทางจิตใจ เช่น การเสียชีวิต หรือความเจ็บป่วยของคนที่คุณรัก การหย่าร้าง หรือการสูญเสียงาน อาจทำให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน
เทคโนโลยีและสื่อต่างๆ การใช้สมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน แสงสว่างจากหน้าจอมือถืออาจมีผลกระทบต่อการนอนหลับ
รูปแบบการดำเนินชีวิต คนยุคใหม่มีการดำเนินชีวิตที่มีความเร่งรีบมากขึ้น การมีกิจกรรมมากมาย และมีความกังวลที่มาจากการทำงานและการเรียน
สภาวะเครียดและกังวล ความเครียดและกังวลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอาจมีผลต่อการนอนหลับ ทั้งความกังวลเกี่ยวกับงาน ครอบครัว การเงิน หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมแต่ละวัน
ระบบการทำงาน คนยุคใหม่มีระบบการทำงานที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนที่แน่นอน บางคนมีการทำงานที่เป็นกะ ต้องทำงานตอนกลางคืน ทำให้นาฬิกาชีวิตรวนได้
สื่อสังคมออนไลน์ การใช้ชีวิตออนไลน์ที่ติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการนอนไม่หลับ เพราะการอยู่ในสังคมออนไลน์และการเผชิญกับข้อมูลและความคิดเห็นที่มากมาย อาจสร้างความกังวลและรบกวนการนอนได้
‘การนอนไม่หลับ’ไม่ใช่ปัญหา แต่......
วงจรการใช้ชีวิตในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากอดีต จนนำมาสู่การเกิด “โรคนอนไม่หลับ” หรือ Insomnia ซึ่งมีรูปแบบของอาการมากมาย เช่น การนอนไม่หลับ การนอนหลับไม่สนิท การหลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน การตื่นขึ้นมากลางดึก การตื่นเช้าผิดปกติ และการตื่นมาแล้วไม่สดชื่น เป็นต้น ผู้เขียนขออนุญาตนำเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับเรื่อง “การนอนหลับยามค่ำคืน” จาก สมาคมจิตแพทย์ แห่งประเทศไทย พ.ย. 2559
1.“การผ่อนคลาย” สำคัญกว่า การพยายามนอนหลับ
2.“การพักผ่อน” กับ “การผ่อนคลาย” ไม่เหมือนกัน เพราะการพักผ่อนบางอย่าง ไม่ใช่การผ่อนคลาย แต่อาจเพิ่มความคิด ความเครียด และความกดดัน ด้วยซ้ำ เช่น การพักผ่อนโดยการเล่น ไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย เช่น facebook หลายครั้ง เล่นไปเล่นมา กลับเครียด หรือ ใจคอไม่สงบ เพราะเกิดดราม่าขึ้นในใจ อย่างมากมาย
3.หลับหรือไม่หลับ ไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือ การผ่อนคลาย เมื่อผ่อนคลาย ทั้งร่างกาย และ จิตใจ นอนหลับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตอนเช้าสามารถสดชื่นได้
4.การนอนหลับ หรือ ไม่หลับ เป็นเรื่องธรรมชาติ (บังคับไม่ได้) แต่การผ่อนคลาย ร่างกายและจิตใจ เป็นสิ่งที่เราเลือกได้ และการผ่อนคลาย เป็นสิ่งสำคัญ กับสุขภาพกาย และ สุขภาพใจมากกว่า
5.สิ่งที่เป็นอุปสรรค ในการนอน คือ “ความคาดหวัง” ที่จะหลับ ฝึกรู้ทันและวางมันลง คือ เคล็ดลับของความสุขในยามค่ำคืน
6.การนอนไม่หลับ ไม่ใช่หายนะ การตื่นกลางดึก ก็ไม่ใช่หายนะเช่นกัน การไม่ผ่อนคลาย ความกดดัน และ การบังคับตัวเองให้หลับ ต่างหากที่เป็นหายนะ (เมื่อใจและกายผ่อนคลาย ตอนเช้าก็สดชื่นได้ แม้ไม่ได้นอน)
7.การนอนหลับ ไม่ใช่หนทางเดียว ที่จะช่วยเยียวยาร่างกาย ตอนกลางคืน การผ่อนคลาย การปล่อยวาง ต่างหากที่ช่วย เมื่อไม่ตั้งใจจะหลับ การหลับที่เป็นธรรมชาติ เกิดขึ้นเอง
8.เมื่อไม่กลัว “การนอนไม่หลับ” ชีวิตก็ง่ายขึ้นเยอะ (นอนหลับหรือไม่หลับ จึงไม่เป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้เครียด กังวล อีกต่อไป)
9.สรุป "การนอนไม่หลับ" ไม่ใช่ปัญหา แต่วิธี "การคิด" และ "การพยายามที่จะ หลับให้ได้” ต่างหากที่เป็นปัญหา