แรงงานนอกระบบไทย มากมาย หลากหลาย และสำคัญกว่าที่คิด
ทุกประเทศมีเศรษฐกิจนอกระบบ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับของการพัฒนาประเทศ การสำรวจรายไตรมาสเกี่ยวกับเศรษฐกิจนอกระบบ (Quarterly Informal Economy Survey : QIES) พบว่า ไทย น่าจะมีกิจกรรมเศรษฐกิจนอกระบบราว 46.2% ของระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
โดยหากเทียบตารางเทียบกับประเทศอื่นในโลกแล้ว ก็ประมาณอันดับที่ 15 ทั้งนี้ เศรษฐกิจนอกระบบทั่วโลกเฉลี่ย 31.9% ของระบบเศรษฐกิจ ประเทศที่มีกิจกรรมเศรษฐกิจนอกระบบสูงสุด คือ ซิมบับเว 60.6% ประเทศที่มีกิจกรรมเศรษฐกิจนอกระบบต่ำสุด สวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย ที่ 7.2% และ 8.9% ตามลำดับ
ประเทศไทยจึงมีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบค่อนข้างใหญ่ หาก GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ปี 2565 เท่ากับ 18 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจนอกระบบประมาณ 46.2% ของระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ก็ตกราว 8.2 ล้านล้านบาท
จึงเป็นที่มาของการจ้างงานและเป็นฐานรายได้ของคนจำนวนมาก มีการประเมินว่ากว่า 60% ของกำลังแรงงานไทยทำงานอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ
แรงงานนอกระบบไทยมีมากแค่ไหน
สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีการจัดทำแบบสำรวจแรงงานนอกระบบ ประจำปี 2565 เอาไว้ โดยคำนิยามของแรงงานนอกระบบ ในที่นี่ คือผู้ที่มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน สรุปได้ดังนี้ จำนวนแรงงานนอกระบบในไทย ปี 2565 มีจำนวน 19.4 ล้านคน (จากผู้ทำงาน 39.6 ล้านคน) หรือ 49%
แรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งอยู่ในภาคเกษตร
ประเภทของแรงงานนอกระบบ ประกอบด้วย 1.แรงงานนอกระบบในภาคการผลิต เช่น ผู้ผลิตงานเองขายเอง ผู้ทำกิจการเล็กๆ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน 2.แรงงานนอกระบบในภาคบริการ เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย รับจ้างทำงานที่บ้าน พนักงานร้านอาหาร หมอนวด ค้าปลีกค้าส่ง 3.แรงงานนอกระบบในภาคการเกษตร เช่น เกษตรกรทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ เมื่อพิจารณาประเภทการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่า แรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมโดยมีจำนวนถึง 15.1 ล้านคน หรือ 61.4% รองลงมาทำงานอยู่ในภาคการค้าและการบริการ 29.7% ภาคการผลิต 8.9% ภาคเกษตรกรรม 55.4% ภาคบริการและการค้า 34.6% ภาคการผลิต 10%
ระดับการศึกษาแรงงานนอกระบบ
เมื่อพิจารณาที่ระดับการศึกษาของแรงงานนอกระบบ พบว่า ส่วนใหญ่จบชั้นการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่าเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 16.0 ล้านคน หรือ 65.1% รองลงมาคือ ระดับมัธยมศึกษา 6.7 ล้านคน หรือ 27.2% และระดับอุดมศึกษา 1.7 ล้านคน หรือ 6.9% สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของแรงงานนอกระบบในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา จะเห็นได้ว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาในระดับที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับแรงงานในระบบ
สัดส่วนแรงงานนอกระบบในแต่ละภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 75.7% ภาคเหนือ 68.2% ภาคใต้ 52% ภาคกลาง 35.3% กรุงเทพฯ 24.7%
แรงงานนอกระบบสำคัญอย่างไร
เศรษฐกิจนอกระบบจำนวนมาก ย่อมหมายถึงแรงงานนอกระบบจำนวนมากเช่นกัน โดยประเทศไทยมีจำนวนแรงงานนอกระบบ สูงถึงเกือบ 20 ล้านคน การที่แรงงานจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบนี้เอง จึงเป็นที่นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย เพราะแรงงานนอกระบบ คือผู้ที่ทำงานโดยไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคม จากการทำงานเมื่อไม่ได้รับความคุ้มครอง แรงงานนอกระบบเหล่านี้ จึงต้องเจอปัญหาเกี่ยวกับการทำงานต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และปัญหาที่พบกันมากที่สุดก็คือ เรื่องของค่าตอบแทน โดยแรงงานนอกระบบ ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่าแรงงานในระบบทุกกลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม การผลิต การค้า และการบริการ นอกจากนี้ การเป็นแรงงานนอกระบบยังทำให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ยากอีกด้วย โดยเฉพาะจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ถูกกฎหมาย ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงกว่าแรงงานในระบบ
ในส่วนของรัฐบาลก็ต้องเจอกับปัญหาสำคัญคือ การเก็บภาษี เพราะแน่นอนว่าเมื่อเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รายงานต่อรัฐแล้ว รัฐก็ไม่สามารถตามเก็บภาษีได้ ซึ่งหมายถึงรายได้ของรัฐที่หายไป ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ คือสาเหตุที่รัฐต้องพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจนอกระบบ กลับเข้าสู่ระบบมากขึ้น ไม่ใช่แค่ช่วยให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่ยังช่วยให้แรงงานนอกระบบ ได้รับความคุ้มครอง และสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำ ทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบให้ดีขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มขนาดเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้เห็นตัวเลข GDP ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นนั่นเอง
แนวคิดในการพัฒนาแรงงานนอกระบบไทย
เราทุกคนต้องตระหนักและการยอมรับการดำรงอยู่ของแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของประเทศที่มีศักยภาพที่จะเติบโต สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสร้างการมีงานทำให้กับคนในประเทศ อย่างไรก็ดี การกำหนดนโยบายภาครัฐต่อแรงงานนอกระบบต้องตระหนักถึงความหลากหลายโดยธรรมชาติของแรงงานนอกระบบแต่ละกลุ่ม จะต้องเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะของแรงงานแต่ละกลุ่ม ต้องคำนึงถึงศักยภาพ ปัญหา และอุปสรรคที่แรงงานแต่ละกลุ่มเผชิญอยู่ ตลอดจนการดำเนินการมาตรการใดๆ กับกลุ่มแรงงานเหล่านี้ ควรมีลักษณะ “ส่งเสริม คุ้มครอง เข้าใจ และ พัฒนา” มากกว่าการเร่งผลักดันให้แรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบที่เป็นทางการ โดยเฉพาะ ในเรื่องการจัดเก็บภาษี ซึ่งเสี่ยงต่อการหลีกเลี่ยงในการเข้าระบบมากขึ้น