'บุฟเฟ่ต์'หนึ่งตัวการขยะอาหาร

'บุฟเฟ่ต์'หนึ่งตัวการขยะอาหาร

เรื่องของ 'ขยะอาหาร' หรือ 'อาหารส่วนเกิน' ซึ่งในระดับโลกพบว่า แต่ละปีคนทั่วโลกกว่า 36 ล้านคนต้องเสียชีวิตเพราะความหิวโหย ทุก 10 วินาที จะมีเด็ก 1 คนตายเพราะกินอาหารไม่เพียงพอ

ซึ่งปัญหาไม่ใช้โลกผลิตอาหารไม่พอ แต่เพราะ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้กลายเป็นขยะอาหาร ซึ่งบางส่วนเป็นอาหารส่วนเกิน ที่กินไม่ทัน ขายไม่ทัน คิดว่าหมดอายุ ทั้งที่ยังรับประทานต่อได้

จากข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปี 2560 พบว่า ขยะที่เกิดขึ้นในประเทศ 64% เป็นขยะอินทรีย์ ปริมาณรวม 17.6 ล้านตัน เทียบเท่าเครื่องบินโดยสารลำใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 63,000 ลำ หรือเอาไปอัดในสนามราชมังคลากีฬาสถานได้ 8 สนามครึ่ง ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวเลขน่าจะขยับสูงขึ้นมากจนน่าเป็นห่วง  

เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ไทยมีการสูญเสียอาหารจนกลายเป็นขยะ จากการผลิตอาหารได้คุณภาพที่ไม่ตามมาตรฐานที่กำหนด (Food Loss) อยู่ที่ประมาณ 30%  ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มที่ไม่มีอาหารบริโภค และอีกส่วนเกิดจากการบริโภคที่เกินความพอดี ทำให้ต้องทิ้งจนกลายเป็น ขยะอาหาร (Food Waste) 

โดยเฉพาะ 'ธุรกิจอาหารแบบบุฟเฟ่ต์' ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทำให้เกิดขยะอาหารจำนวนมากเป็นทวีคูณ!!

บุฟเฟต์ หนึ่งตัวการ ขยะอาหาร

จากการเก็บข้อมูลของบริษัทธุรกิจอาหารบุฟเฟ่ต์ขนาดใหญ่อย่าง บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ทำการเก็บข้อมูลและสังเกตพฤติกรรมลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในร้านทั้ง 240 แห่ง มีลูกค้าทั้งหมด 70,000 คนต่อวัน โดยได้คำนวณจากที่ทางร้านได้ใช้เนื้อไก่ เนื้อหมู ผัก อาหารทะเล ไปปริมาณเท่าไร รวมกับปริมาณน้ำ พบว่าลูกค้า 1 คน จะตักอาหารเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 1.2 กิโลกรัมต่อคน และมีปริมาณอาหารเหลือทิ้งประมาณ 1% ของปริมาณอาหารทั้งหมด หรือประมาณ 12 กรัม 

คิดง่ายๆ คือ เฉลี่ยแล้ว ทุกคนในร้านทานเหลือคนละ 1 ช้อนโต๊ะ ซึ่งพอรวมๆ กันแล้ว ใน 1 วัน ทางร้านในเครือโออิชิจะต้องมี 'อาหารเหลือทิ้ง' ประมาณ 840 กิโลกรัมต่อวัน หรือ 306,600 กิโลกรัมต่อปี เทียบน้ำหนักข้าวแกงจานร้อน (400 กรัม) ได้มากถึง 2,100 จานต่อวัน หรือ 766,500 จานต่อปี ซึ่งร้านบุฟเฟ่โออิชิ เป็นเพียงหนึ่งในร้านอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์หมดซึ่งมีถึง 205,709 ร้านทั่วประเทศ (ฐานข้อมูล wongnai.com ปี 25561)

ปัญหา 'อาหารเหลือทิ้ง' จึงเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณขยะทั่วประเทศเป็นขยะจากอาหารเหลือทิ้ง ที่เป็นหนึ่งในตัวการทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 6.7% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เราทุกคนบนโลกนี้

ถ้าจะเทียบอาหารเหลือทิ้งเป็นประเทศ ก็คงเป็นประเทศลำดับที่ 3 ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดรองจากประเทศจีน (25.9%) และสหรัฐอเมริกา (13.9%) ซึ่งปัจจัยต้นเหตุที่เกี่ยวข้องหลักๆ มีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ 

1. ผู้ผลิตหรือร้านอาหาร ที่มีการผลิตหรือเตรียมอาหารแบบมากจนเกินไป (Over Prepare) หรือการทำอาหารเกินกว่าการบริโภคจริง ทำให้เกิดอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก 

2.ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่ชอบ “บุฟเฟ่ต์” ก็รู้สึกว่าเมื่อรับประทานแบบบุฟเฟต์ ก็ต้องได้รับประทานให้เกิดความคุ้มค่า โดยไม่มีการวางแผนในการบริโภค จนอาหารเหลือล้น

ขยะอาหารลดได้ เพียงแค่ลดขนาดจาน

ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง อาจไม่ใช่แค่เพราะคนกินเหลือทิ้ง กินไม่หมดเพียงเดียว ถ้ามองลึกลงไปแล้ว “ขนาดของจาน” ก็มีผลทำให้คนกินไม่หมดได้ไม่แพ้กัน จากการทดลองในร้านอาหารจีนที่เสิร์ฟอาหารสไตล์บุฟเฟ่ต์ All-you-can-eat แห่งหนึ่งในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้แบ่งกลุ่มทดลองเป็น 2 กลุ่ม ไลน์ตักบุฟเฟ่ต์เป็น 2 ไลน์ เป็นกลุ่มที่ใช้จานใหญ่ขนาด 26.5 ซม. จำนวน 25 คน และกลุ่มที่ใช้จานเล็กในการตักอาหารขนาด 21 ซม. จำนวน 18 คน พบว่ากลุ่มคนที่ได้จานใหญ่จะตักอาหารเยอะกว่ากลุ่มคนที่ใช้จานเล็กมากถึง 52% และกินมากกว่าคนที่กินจานเล็กถึง 47% 

การตักอาหารด้วยจานใหญ่จะทำให้ตักมากกว่าและกินเยอะกว่า ทว่าก็ยังทำให้เกิดอาหารเหลือทิ้ง จากกลุ่มทดลองที่กินด้วยจานใหญ่อยู่ถึง 135.2% เมื่อเทียบกับเศษอาหารเหลือทิ้งในกลุ่มคนที่กินด้วยจานเล็กอยู่ดี

ไม่น่าเชื่อว่า แค่เรื่องขนาดจานที่ใหญ่ขึ้นก็ทำให้เราตักอาหารมากเกินพอดี อย่างไม่รู้ตัวรู้แบบนี้แล้ว มื้อถัดไปของเรา ลองเปลี่ยนจานข้าวให้เล็กลงกว่าเดิม ตักให้พอดีกิน แล้วกินให้หมด ไม่เหลือทิ้ง เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถช่วยโลกลดขยะอาหารได้ โดยเฉพาะคนไทยกินอาหารวันละมากกว่า 3 มื้อ

เราเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะอาหาร

การแก้ปัญหาขยะอาหาร ก็สามารถทำได้อีกมากมาย อาทิ

- การปรุงอาหาร ควรทำในปริมาณที่สามารถทานได้หมด ไม่เหลือทิ้ง หรือสร้างสรรค์เมนูที่สามารถนำอาหารที่เหลือ และใกล้เสียมาบริโภคให้หมด

- อาหารที่ซื้อมาเกินความต้องการ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ควรหาวิธีเก็บรักษาไว้ได้นาน เพื่อลดการเน่าเสีย

- แยกขยะอาหารออกจากขยะอื่น แล้วนำไปทำปุ๋ยให้กับต้นไม้

- อาหารแห้ง และอาหารกระป๋องที่ฉลากอาหารระบุวัน “ควรบริโภคก่อน” (Best Before หรือ BB/BBE) เป็นอาหารที่ยังบริโภคได้ เนื่องจากความเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารเสีย แต่จริงๆ แล้วเป็นวันที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีสภาพสด และคุณภาพดีเยี่ยมก่อนวันที่ระบุไว้ ทำให้หลายคนทิ้งอาหารที่สามารถบริโภคได้ก่อนที่มันจะเสียจริง

ดังนั้น ถ้าทุกคนร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเกินความจำเป็น ผู้ผลิตช่วยลดความสูญเสียอาหารที่เกิดจากกระบวนการผลิต ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการเกิดขยะอาหาร ก็สามารถช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้