‘แพทองธาร’ ตั้งหลักให้ดี เจอแรงกดดันจากสหรัฐ-จีน

ถือเป็นการเจรจาทวิภาคีกับประเทศมหาอำนาจอย่างเป็นทางการ หลังจาก แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสร็จสิ้นการเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 5-8 ก.พ.2568
ซึ่งได้หารือข้อราชการกับสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งมีหลายประเด็นที่ประเทศจีนส่งสัญญาณถึงประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นการแก้ปัญหาขบวนการหลอกลวง (online scam) การลักพาตัว การค้ามนุษย์ ซึ่งผู้นำจีนย้ำว่าเป็นการบั่นทอนผลประโยชน์ของประชาชนจีน
อีกประเด็นที่ประเทศจีนย้ำกับประเทศไทย คือ ความร่วมมือในระดับพหุภาคี โดยต้องการให้ประเทศไทยสนับสนุนเวทีระหว่างประเทศ เช่น การส่งเสริมบทบาทขององค์การสหประชาชาติ UN ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาความร่วมมือของโลก ซึ่งเป็นท่าทีที่แตกต่างจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ต้องการให้สหรัฐลดบทบาทของเวทีหพุภาคี โดยลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารถอนตัวออกจากภาคีหน่วยงานของสหประชาชาติหลายแห่ง เช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (UNHRC)
ขณะที่การรวมกลุ่ม BRICS ประธานาธิบดีจีนแสดงความยินดีที่ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกประเทศหุ้นส่วนของ BRICS ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นต้นของการเข้าเป็นสมาชิก หลังจากที่ประเทศไทยยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี 2567 โดยไทยมองโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะยาวจากการเข้ารวมกลุ่ม ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน แต่ก็เป็นประเด็นที่สหรัฐจับตามองท่าทีของประเทศไทย และถูกถามจากรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐถึงเหตุผลที่ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิก
ความชัดเจนของมาตรการทางภาษีของสหรัฐที่อาจมีผลต่อประเทศไทยจะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย.2568 ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันว่ามีการตั้งวอร์รูมเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐ โดย พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางเยือนสหรัฐและส่วนหนึ่งของภารกิจจะมีการหารือกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐ ซึ่ง พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ออกมายืนยันว่าไทยอาจจะนำเข้าอีเทนจากสหรัฐเพิ่มขึ้น 1 ล้านตัน
ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าได้รับแรงกดดันจากประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐและจีน ซึ่งประเทศจีนชัดเจนแล้วว่ามีหลายโจทย์ที่ผู้นำจีนยื่นมาให้รัฐบาลไทย ในขณะที่โจทย์จากสหรัฐอยู่ในขั้นตอนการเก็งข้อสอบว่าสหรัฐจะกดดันไทยอย่างไร หลังจากที่ปัจจุบันสหรัฐกำลังเจรจากับประเทศที่ขาดดุลสูงก่อน ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องตั้งหลักให้ดีเพราะโจทย์จากประเทศจีนเป็นเรื่องแก้ได้ยาก เช่น ขบวนการหลอกลวง ในขณะที่โจทย์ของสหรัฐก็ยากไม่แพ้กัน