สังคมสูงวัยกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ

สวัสดีครับ เมื่อประมาณปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดตัวกิจกรรม “ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย” โดยเน้นย้ำว่า ในปี 2566 ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” แล้ว เนื่องจากมีคนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 20 หลังจากที่ได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548

เมื่อมีจำนวนผู้สูงอายุตามนิยามของผู้สูงอายุในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เกินร้อยละ 10  และด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคนซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ เราจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ที่มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ในปี 2576  โดยสังคมผู้สูงอายุเป็นปัญหาระดับโลกเช่นกัน  จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติใน World Population Prospects 2022 สัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 ในปี 2022 เป็นร้อยละ 16 ในปี 2050

หันมาดูปัจจัยสำคัญของปรากฏการณ์ครั้งนี้ในประเทศ เราจะพบว่าจากสถิติประชากรไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด ณ ปี 2565 โดยประมาณสำหรับเพศชายคือ 73.6 ปี และเพศหญิงคือ 80.7 ปี สูงขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือในปี 2555 อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด ณ ปีนั้นโดยประมาณสำหรับเพศชายคือ 69.6 ปี และเพศหญิงคือ 76.9 ปี  จะเห็นได้ว่าในระยะเวลาเพียงทศวรรษเดียว ปัจจัยต่าง ๆ ที่ล้วนส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพได้ช่วยให้คนไทยอายุยืนนานขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราต้องคำนึงถึงการปรับโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมให้กับผู้สูงวัย เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ด้านอื่น ๆ ที่ดีในชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ  นอกจากนี้ เมื่อระยะเวลาการใช้ชีวิตหลังเกษียณนานขึ้น รายจ่ายหลังเกษียณก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค หรือค่ารักษาพยาบาล  หากรายจ่ายสูงมากก็อาจส่งผลให้มีเงินเก็บไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

 ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทยได้เผยแพร่รายงานประมาณการค่าใช้จ่ายสาธารณสุขด้านสุขภาพของประเทศในอีก 15 ปี ข้างหน้า โดยการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายสวัสดิการประกันสุขภาพของรัฐใน 3 กองทุนคือกองทุนประกันสังคมแห่งชาติ สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยในอนาคตอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท จากกลุ่มประชากรผู้สูงอายุที่ส่งแรงกดดันต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตรการที่ออกมาควบคุมต้นทุนด้านสุขภาพของผู้สูงวัย ทั้งการส่งเสริมสุขภาพที่มีอยู่เดิม การป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยผ่านวิธีการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) อันจะช่วยไม่ให้ครอบครัวล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลโรคร้ายแรง

สำหรับแนวทางการเตรียมความพร้อมนั้น ภาคเอกชนมีการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินในระดับบุคคลเพื่อการเกษียณอย่างเกษมอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของภาครัฐ นอกจากสวัสดิการขั้นพื้นฐาน อาทิ บำเหน็จบำนาญสำหรับข้าราชการที่มีอายุราชการตามกำหนด หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งจ่ายรายเดือนตลอดชีวิตแล้ว

แผนที่ริเริ่มดำเนินการในปี 2566 นี้คือให้โรงพยาบาลทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุขมีคลินิกผู้สูงอายุเพื่อให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ลดการเกิดโรคเรื้อรังหรือภาวะทุพพลภาพจนเกิดข้อจำกัดในการทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งจะช่วยชะลอการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง  และล่าสุด คณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2580) เป็นกรอบการทำงานเชิงรุกภายใต้วิสัยทัศน์ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม”

 เน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในทุกมิติ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความพร้อมของกลุ่มประชากรวัย 29-59 ปีที่จะทยอยเข้าสู่กระบวนการชราภาพใน 1-35 ปีข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมการออมเงินรวมถึงความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เนื่องจากปัจจุบันพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่มีอายุ 60-79 ปีมีปัญหาสุขภาพและไม่ประสงค์ทำงานต่อ แต่ยังจำเป็นต้องทำเนื่องจากสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคง

นอกจากนี้ ในปี 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการรองรับสังคมสูงวัยตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วยการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) และการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ  ต่อมาในปี 2563

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติ คือด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และสุขภาพ  ทั้งหมดนี้เป็นการสนับสนุนให้ผู้สูงวัยมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และยังช่วยเหลือตัวเองได้ในกิจวัตรประจำวันหรือมีระบบผู้ดูแล (Caregiver)  ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างหลักประกันในชีวิตของประชาชน และบรรเทาภาระงบประมาณภาครัฐด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาว

จำนวนผู้สูงอายุที่ทยอยเพิ่มขึ้นเป็นสถานการณ์ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องคอยติดตามและวางแผน  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายมาตรการระดับชาติหรือระดับโลก ก็ล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันคือมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมและระบบบริการต่าง ๆ ครอบคลุมผู้สูงวัย ให้สามารถอยู่ได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยครับ