ไม่ใช่แต่ใช้ได้

คนใช้รถยนต์ปัจจุบันนี้มีความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะผู้ผลิตรถยนต์ติดตั้งระบบตรวจและเตือนมาให้ เช่นระบบการตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่อง เมื่อถึงกำหนดเวลาก็จะมีไฟสัญญาณ หรือตัวอักษรเตือนขึ้นที่หน้าปัด ให้นำรถไปรับบริการเปลี่ยนถ่าย
ทั้งนี้ยังมีระบบตรวจและเตือนอื่น ๆ ที่ติดตั้งมา เพื่อให้ผู้ใช้มีความสะดวกมากขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น มีสีแสดงสัญญาณเตือนความสมบูรณ์ของแบตเตอรี่, มีไฟสัญญาณเตือนระดับน้ำมันเบรก บางครั้งมีระบบเตือนความหนาของผ้าเบรกด้วย และมีไฟสัญญาณเตือนที่หน้าปัด เมื่อไฟเลี้ยว, ไฟท้าย หรือไฟเบรกดวงใดดวงหนึ่งขาดไป, มีไฟสัญญาณเตือนน้ำในระบบหล่อเย็นพร่อง, มีไฟสัญญาณเตือนเมื่อน้ำในถังสำรองสำหรับฉีดกระจกพร่อง, มีไฟและตัวเลขเตือนแรงดันลมยางที่หน้าปัด ฯลฯ
การติดตั้งไฟสัญญาณหรือสัญลักษณ์เพื่อเตือนผู้ขับรถนั้น ในมุมหนึ่งก็คือเพื่อให้ผู้ใช้รถได้รู้ว่า ถึงเวลาที่จะต้องทำการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมแล้ว ในอีกมุมมองหนึ่งก็คือผู้ผลิตรถยนต์ เกรงว่าผู้ใช้รถยนต์จะไม่มีความสามารถในการตรวจอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง จึงติดตั้งระบบตรวจและเตือนมาให้ อีกแง่คิดหนึ่งก็คือผู้ผลิตรถยนต์ ต้องการติดตามรถยนต์ที่ขายไป เพื่อให้กลับมาใช้บริการ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้จำหน่ายอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ธุรกิจรถยนต์ย้อนหลังไปหกเจ็ดสิบปีที่แล้ว ผู้จำหน่ายรถยนต์ทุกรายในประเทศไทย เมื่อจำหน่ายรถยนต์ไปแล้วก็ถือว่าตัดขาดกันกับผู้ซื้อ เพราะจุดจำหน่ายรถยนต์หรือที่ตั้งของดีลเลอร์ จะมีเฉพาะพื้นที่จัดแสดงรถยนต์เพื่อขายเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับซ่อมบำรุง ซึ่งเรียกกันว่าพื้นที่ส่วนบริการหลังการขายแต่อย่างใด ผู้ซื้อรถยนต์ไปแล้วก็ต้องไปหาทางซ่อมบำรุงและดูแลรักษากันเอาเอง
เช่น เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง, เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้าย หรือถึงกำหนดที่จะต้องเติมสารหล่อลื่นที่เรียกกันว่าอัดจาระบี ก็ต้องนำรถไปรับบริการตามสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เรียกกันในปัจจุบันว่าปั๊มน้ำมันนั่นเอง โดยทุกปั๊มน้ำมันจะมีพื้นที่สำหรับให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และอัดจาระบีอยู่ด้านหลังตัวอาคาร และเกือบทุกปั๊มน้ำมันจะมีการให้เช่าพื้นที่เปิดเป็นอู่สำหรับซ่อมรถยนต์ด้วย
ส่วนเจ้าของรถยนต์ที่มีความรู้และความสามารถในด้านการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อยู่บ้าง ก็จะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและดูแลอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยเฉพาะเรื่องง่าย ๆ เช่น ตรวจและเติมน้ำกรดในแบตเตอรี่, ตรวจวัดและเติมน้ำมันเครื่อง, ตรวจและเติมน้ำในระบบหล่อเย็น, ตรวจและเติมน้ำมันเบรกและน้ำมันคลัทช์, ตรวจวัดลมยางและตรวจความสมบูรณ์ของยาง, ตรวจระบบไฟส่องสว่างเช่น ไฟหน้า, ไฟท้าย, ไฟเลี้ยว, ไฟเบรกและไฟส่องป้าย ซึ่งสามารถทำและแก้ไขได้ด้วยตนเอง เนื่องจากไม่มีความสลับซับซ้อนอะไร และไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษแต่อย่างใด
ผู้ใช้รถยนต์ในปัจจุบันส่วนมากใช้บริการของศูนย์บริการผู้จำหน่าย ทั้งในด้านของการดูและรักษาตามระยะทางและระยะเวลา และแม้กระทั่งซ่อมแซมไม่ว่าจะเป็นซ่อมเบาหรือซ่อมใหญ่ก็ตาม
เหตุผลเท่าที่สอบถามดูก็มักจะเกิดจาก กลัวผิดเงื่อนไขการรับประกันบ้าง หรือมั่นใจว่าได้ใช้อะไหล่ของแท้บ้าง เชื่อมั่นในคุณภาพของการซ่อมบำรุงบ้าง และเหตุผลสำคัญคือ เจ้าของรถไม่มีความรู้เพียงพอที่จะทำด้วยตัวเอง หรือไม่รู้ว่าจะไปใช้บริการนอกศูนย์บริการได้ที่ไหน
เจ้าของรถยนต์ยุคก่อนที่สามารถดูแลรถยนต์ด้วยตนเองนั้น จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงไปได้ไม่น้อย เพราะรู้ว่าจะสามารถหาอะไหล่ที่มีคุณภาพเท่า หรือใกล้เคียงกับอะไหล่จากศูนย์บริการได้ที่ไหน และหาได้ในราคาที่ต่ำกว่าศูนย์บริการค่อนข้างมาก ด้วยรู้ว่าอะไหล่หลายรายการที่ติดรถยนต์มาจากโรงงานนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ก็สั่งซื้อมาจากผู้ผลิตชิ้นส่วนภายนอก ไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ด้วยตนเองทุกชิ้น และอะไหล่บางชิ้นก็สามารถหายี่ห้อหรือแบบอื่นมาใช้ทดแทนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในสภาพขัดข้องระหว่างการเดินทาง หรืออยู่ในสภาวะที่จำเป็นต้องทำเพื่อ “แก้ขัด” หรือแก้ไขสถานการณ์เบื้องหน้าไปก่อน
เรื่องอย่างนี้บางทีก็เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันระหว่างผู้ทำหน้าที่ซ่อมบำรุง กับเจ้าของรถและช่างที่ยึดถือทฤษฎี จนไม่ยอมพลิกแพลงหรือดัดแปลง ตัวอย่างของที่สามารถทดแทนกันได้ โดยไม่มีข้อเสียหายแต่อย่างใดก็คือ น้ำมันเครื่องซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยี่ห้อเดียวกันกับศูนย์บริการ หรือยี่ห้อที่ติดรถมาจากโรงงานผลิต สามารถใช้ยี่ห้ออะไรก็ได้ที่มีมาตรฐานรับรองคุณภาพ มีค่าความหนืดและขีดความสามารถในการทนต่อความร้อน เท่ากันหรือเหมาะสมกว่าที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนด เช่นเดียวกับน้ำมันเกียร์, น้ำมันเพาเวอร์, น้ำมันเบรก และน้ำมันเฟืองท้าย
ที่ใช้ทดแทนกันได้และมีผู้เลือกอย่างมากมายก็คือยางรถยนต์ จะเห็นได้ว่าเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนยาง เจ้าของรถยนต์จำนวนมากก็จะสอบถามหายางชุดใหม่ ที่ทั้งอาจจะมีราคาแพงกว่าหรือถูกกว่า เพื่อนำมาใช้งานติดรถให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานของรถยนต์แต่ละคัน หรืออุปกรณ์ที่ใช้กับระบบรองรับแรงสั่นสะเทือน เช่น ช๊อกแอบซอร์บเบอร์ ก็มีเจ้าของรถยนต์จำนวนมากหายี่ห้อ, ชนิด และ ลักษณะการทำงานที่ต่างไปจากผู้ผลิตติดตั้งมาจากโรงงาน เพื่อเอามาใช้งานกับรถยนต์ของตนเอง ด้วยแนวคิดว่าเพื่อการยึดเกาะถนนที่ดีขึ้น หรืออาจจะเพื่อรองรับน้ำหนักบรรทุกที่มากขึ้น หรือแม้แต่เชื่อว่าเพื่อเพิ่มความนุ่มนวลในห้องโดยสาร ได้ดีกว่าของที่ติดตั้งมาจากโรงงาน
แต่ไม่ว่าเจ้าของรถยนต์หรือช่างก็ดี จะหาอะไหล่และอุปกรณ์ต่างๆ มาติดตั้งกับรถยนต์ เพราะคิดว่าจะให้ประสิทธิภาพและสมรรถนะ ที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานรถของตนเอง หรือเพราะเห็นว่ามีราคาถูกกว่าใช้ของแบบเดียวกับที่ติดตั้งมาจากโรงงานผู้ผลิตก็ตา
ประเด็นสำคัญที่ต้องคิดอยู่เสมอก็คือ ต้องไม่ด้อยค่าหรือทำให้ประสิทธิภาพและสมรรถนะของรถยนต์ ลดลงจนอาจจะก่อให้เกิดอันตรายในขณะขับขี่ขึ้นมา
และสำคัญที่สุดเช่นกันก็คือ ต้องไม่ผิดกฎหมายด้วย สัปดาห์หน้าผมจะมาพูดถึงเรื่องของวิธีการใช้อะไหล่ทดแทน เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่อนะครับ