กลยุทธ์ของ BYD | พสุ เดชะรินทร์

กลยุทธ์ของ BYD | พสุ เดชะรินทร์

เทศกาลตรุษจีนนี้ขอเล่าถึงกลยุทธ์ของบริษัทจากประเทศจีน และเป็นบริษัทที่รับการยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจรถอีวีของโลก นั้นคือ BYD

ปีที่ผ่านมา ตลาดรถอีวีทั่วโลกมีการเติบโตอย่างมาก ตัวเลขล่าสุดจาก Wall Street Journal ระบุว่าในปี 2565 สัดส่วนของยอดขายจากรถอีวีทั่วโลกนั้นคิดเป็น 10% จากยอดขายรถทั้งหมด และเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 68% โดยการเติบโตของรถอีวีจะมาจากยุโรปและจีนเป็นหลัก

แหล่งข่าวหลายสำนักได้ระบุว่า ปัจจุบัน BYD ได้กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์อีวีอันดับหนึ่งของโลก โดยมียอดผลิตแซง Tesla ไปเมื่อปีที่แล้ว การเติบโตของ BYD มาจากความต้องการในประเทศ จีนเป็นตลาดรถอีวีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนไม่ได้เติบโตเหมือนในอดีต ทำให้ผู้บริsdzโภคหันมามุ่งเน้นกับรถอีวีแบบประหยัด ซึ่งก็ตรงกับกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของ BYD

กลยุทธ์ของ BYD | พสุ เดชะรินทร์

Wang Chuanfu ก่อตั้ง BYD ขึ้นในปี 2538 เริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชาร์จได้ (เช่น แบตมือถือ) โดยมีความต้องการที่จะผลิตสินค้าจากในประเทศเพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น

จากความเป็นนักเคมี คุณ Chuanfu ได้เริ่มต้นจากการศึกษาและวิเคราะห์แบตเตอรี่จากญี่ปุ่นแต่ละยี่ห้อ เพื่อหาทางว่าจะทำอย่างไรให้แบตเตอรี่สามารถทำงานได้ดีขึ้นและมีต้นทุนที่ถูกลง

ในปี 2545 BYD เข้าซื้อ Qinchuan ผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่นที่กำลังประสบปัญหา และเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ของ BYD อย่างเต็มตัว

BYD ได้กลายเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้นในปี 2551 เมื่อ Warren Buffet ได้เข้าไปลงทุนและถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนถึง 10% Buffet ได้มองว่าในวันหนึ่งในอนาคต BYD จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจรถยนต์ของโลก เมื่อโลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกอีวี

ในภายหลัง BYD ได้ว่าจ้างอดีตนักออกแบบของค่าย Alfa Romeo มาช่วยในการออกแบบรถยนต์ของ BYD อีกทั้งได้ประกาศที่จะออกรถยนต์ที่เจาะตลาดลูกค้าระดับบนมากขึ้น ภายใต้แบรนด์ใหม่ Yangwang

โดยเป็นรถที่ขายในระดับราคา 1 ล้านหยวน (รถส่วนมากของ BYD อยู่ระดับไม่เกิน 200,000 หยวน) และเป็นรถที่ประกอบด้วยเทคโนโลยีและประสบการณ์ใหม่

กลยุทธ์ของ BYD | พสุ เดชะรินทร์

เมื่อตลาดอีวีในจีนมีการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น BYD ได้มีนโยบายที่จะบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น นอกจากในไทยที่ประกาศทั้งการลงทุนและนำรถยนต์เข้ามาขายแล้ว BYD ยังมีการนำรถยนต์ของตนเองไปขายในประเทศอื่นๆ

โดยล่าสุด BYD ก็มีแผนที่จะเข้าไปในตลาดอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่อันดับ 4 ของโลก และเปิดรับต่อรถอีวีช้ากว่าประเทศอื่นๆ ส่วนในยุโรปนั้น BYD ก็มีแผนที่จะไปตั้งโรงงาน ซึ่งความท้าทายสำคัญของ BYD คือการทำให้ผู้บริโภคในยุโรปเชื่อมั่นว่า BYD เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในระดับโลก

ปัจจุบัน เมื่อนึกถึงชื่อบริษัท BYD รถอีวีจะเป็นที่นึกถึงก่อนเป็นอันดับแรก แต่จุดแข็งสุดของ BYD ยังคงอยู่ที่แบตเตอรี่ ที่เป็นธุรกิจแรกเริ่มและยังพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แบตเตอรี่รุ่นใหม่ของ BYD (Blade Lithium Iron Phosphate) เป็นหนึ่งในนวัตกรรมของ BYD ที่ทั้งช่วยประหยัดพื้นที่

ทำให้สามารถบรรจุแบตเตอรี่ได้เพิ่มขึ้น สามารถทนทานต่อความร้อนได้ดีกว่า (ไม่ลุกไหม้หรือติดไฟง่าย) ซึ่งแบตเตอรี่ประเภทนี้ได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากผู้บริโภคและผู้ผลิตรถยนต์เจ้าอื่นๆ แม้กระทั่งโรงงาน Tesla ที่ปักกิ่งก็สั่งซื้อแบตเตอรี่นี้จาก BYD

สรุปกลยุทธ์ของ BYD นั้นเริ่มจากเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ จากนั้นขยายเข้าสู่รถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่เป็นหลัก โดยเริ่มต้นจากตลาดระดับล่างและกลาง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในจีน จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มเรื่องเทคโนโลยีและการออกแบบไปเรื่อยๆ และหันมาสนใจตลาดบนมากขึ้น

อีกทั้งเมื่อการแข่งขันในประเทศรุนแรงขึ้น ก็เข้าไปลงทุนและขายในตลาดต่างประเทศ โดยทั้งหมดนี้สิ่งที่ยังเป็นจุดแข็งและโดดเด่นของ BYD ยังเป็นแบตเตอรี่ ที่ยังลงทุนในเรื่องของงานวิจัยและพัฒนาเข้าไปในแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง