ความสำคัญของข้อมูลในช่วงโรคระบาด

ความสำคัญของข้อมูลในช่วงโรคระบาด

เป็นเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งแล้ว ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

บทความโดย บุญวรา สุมะโน และ ณัฏฐณิชา เอนกสมบูรณ์ผล

 การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  จำเป็นต้องใช้ข้อมูลหลายด้าน ทั้งที่เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ วิธีการรักษา วัคซีน การตรวจหาเชื้อ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี บทความนี้มีความเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวยังมีข้อจำกัดหลายประการ โดยจะยกตัวอย่าง ดังนี้

1.ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน ไม่มีการเปิดเผยการกระจายการฉีด และไม่เชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส และคาดว่าจะได้รับเพิ่มอีกในอนาคต ซึ่ง ณ ปัจจุบัน วัคซีนไฟเซอร์นับได้ว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนหลายยี่ห้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนในประเทศไทย โดยมีผลการศึกษาในระดับสากลรองรับ จึงทำให้มีความต้องการวัคซีนดังกล่าวจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในประเทศไทยยังไม่ได้รับการเปิดเผยให้เป็นข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ แม้จะมีการเปิดเผยแผนการจัดการวัคซีนดังกล่าวว่าจะมุ่งไปที่ประชากรกลุ่มใด หรือเพื่อวัตถุประสงค์ใด แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่า ในการฉีดจริงแล้วได้เป็นไปตามแผนหรือไม่

เพราะในช่วงที่ผ่านมาได้มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก (ประมาณร้อยละ 20) ได้รับวัคซีนยี่ห้ออื่นเป็นบูสเตอร์โดสแทนไฟเซอร์แล้ว[1] จึงค่อนข้างแน่ชัดว่าจำนวนวัคซีน 7 แสนโดสที่วางแผนให้บุคคลากรการแพทย์จะต้องมีจำนวนเหลือ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่าจะนำวัคซีนที่เหลือประมาณ 1.4 แสนโดส ไปกระจายฉีดให้กลุ่มใดต่อ

ยิ่งมีกระแสข่าวการนำวัคซีนไฟเซอร์ไปใช้เพิ่มความนิยมแก่ตัวบุคคล รวมถึงมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ใช่บุคลากรด่านหน้าแต่กลับได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว รัฐบาลจึงควรเร่งเปิดเผยข้อมูลการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่ประชาชน เพื่อสร้างความมั่นใจและความโปร่งใสในการจัดการวัคซีน

นอกจากนี้ ยังควรมองไปข้างหน้าว่า ประเทศไทยจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ที่ฉีดวัคซีนทั้งหมดได้อย่างไร ทั้งที่อยู่ภายใต้หมอพร้อม ค่ายมือถือ วัคซีนทางเลือก และวัคซีนที่จัดฉีดโดยสถานทูตซึ่งปัจจุบันยังขาดความเชื่อมโยงกันของข้อมูล ทำให้ไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดว่าการฉีดวัคซีนในประเทศไทยถึงระดับที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้วหรือไม่ ซึ่งจะทำให้แผนเปิดประเทศที่รวมถึงการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อใช้เข้าทำงานหรือทำกิจกรรมบางอย่างเป็นไปได้ยาก

ในขณะที่บางประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสได้พัฒนากฎหมายเรื่องการเอาผิดผู้กระทำการใช้หนังสือวัคซีนปลอม โดยกำหนดบทลงโทษหนักเบาตามจำนวนครั้งที่กระทำความผิด[2] พัฒนาการทางกฎหมายทั้งในเรื่องการบังคับให้ประชากรฉีดวัคซีนทางอ้อมโดยการกำหนดเงื่อนไขในการเข้าสถานที่ต่าง ๆ เช่น ร้านอาหารและซุปเปอร์มาเก็ต

การออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนและการใช้โทษทางอาญากับผู้กระทำการปลอมแปลงหนังสือรับรองการฉีดวัคซีน เป็นพัฒนาการทางกฎหมายที่ต้องจับตามอง เพราะ เป็น “เทรนด์” ในการออกกฎหมายเพื่อจัดการกับโรคโควิด ในอนาคต

2.ข้อมูลการตรวจหาเชื้อโควิด ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาลเป็นไปได้ยากขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งต้องรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก และได้มีการยกเลิกการตรวจหาเชื้อเชิงรุก (active case finding) ทั้งในโรงงานและไซต์งานก่อสร้าง การตรวจหาเชื้อจำนวนมากตอนนี้จึงเป็นการตรวจเองที่บ้าน โดยต้องหาซื้อชุดตรวจมาเอง ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการตรวจ ความแตกต่างของการตรวจแต่ละแบบ รวมไปถึงวิธีการอ่านผลการตรวจยังไม่ได้มีการกระจายข้อมูลหรือคำแนะนำให้แก่ประชาชนมากเท่าที่ควร

หากดูตัวอย่างในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลหลายประเทศให้ความสำคัญกับการตรวจหาเชื้อเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมโรค โดยมีมาตรการแจกชุดตรวจฟรีให้แก่ประชาชนพร้อมคำแนะนำในการตรวจ  เช่น อังกฤษส่งชุดตรวจทางไปรษณีย์ให้ประชาชนอาทิตย์ละสองชุด ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ให้ชุดตรวจแอนติเจนฟรีแก่ประชาชนห้าชุดต่อเดือน โดยสามารถไปรับที่ได้ร้านขายยาเพื่อรับคำแนะนำในการตรวจเองด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับชุดตรวจแอนติเจนจากสวิตเซอร์แลนด์กว่าล้านชุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจึงควรเปิดเผยข้อมูลการกระจายชุดตรวจที่ได้รับบริจาคมานี้ให้ประชาชนรับทราบด้วย เช่นเดียวกับกรณีวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้บริจาคจากสหรัฐอเมริกา

3.ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลตัวเองในช่วงที่ทำ home isolation คนไทยหลายคนยังไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นทำอย่างไรเมื่อตนเองติดโควิด หลายคนเลือกปรึกษาเพื่อนหรือคนรู้จัก หรือหาข้อมูลเองทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็มีข้อจำกัดสำหรับคนที่ไม่ถนัดในการหาข้อมูลออนไลน์ หรือไม่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จำนวนครัวเรือนในประเทศไทยที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อยู่ที่ร้อยละ 74.6 ในปี พ.ศ. 2562[3]

 นอกจากนี้ ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต หรือข้อมูลที่ได้รับคำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการจากเพื่อนหรือคนรู้จักที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ อาจส่งผลกระทบต่อการดูแลตนเองได้ โดยเฉพาะข้อมูลที่ส่งต่อกันมาว่าทำแล้วหายจากโควิดได้โดยไม่มีหลักฐานการทดลองทางแพทย์ที่แน่ชัดอาจส่งผลให้อาการแย่ลงกว่าเดิม.  

[1] https://www.thairath.co.th/news/politic/2161602

[2] https://www.connexionfrance.com/French-news/Health-pass-required-in-France-from-tomorrow-The-facts

[3] http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/16.aspx