โกงตาชั่ง

โกงตาชั่ง

นอกจากการโกงตาชั่งประชาชน ที่ซื้อขายสินค้าในชีวิตประจำวัน การโกงฯ ที่เป็นการเอาเปรียบเกษตรกร คือการโกงตาชั่งที่ใช้รับซื้อผลิตผลทางการเกษตร

                 แต่เดิมการซื้อขายสินค้าในประเทศไทย ที่ต้องมีการชั่ง ตวง วัด เพื่อคิดราคา เป็นไปตามมาตราชั่งตวงวัดระบบประเพณีที่ใช้กันมาแต่โบราณ คือ การชั่ง หน่วยน้ำหนัก จะเป็นสลึง บาท ตำลึง ชั่ง หาบ การหาปริมาตร หน่วยปริมาตร จะเป็น ลิตร ทะนาน ถัง บั้น เกวียน การวัดหาความยาว หน่วยความยาว จะเป็นนิ้ว ฝ่ามือ คืบ ศอก วา เส้น โยชน์

          ต่อมา ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระบบเมตริก และรับระบบเมตริกเป็นหลัก ชั่ง ตวง วัด ของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2455        และในปี พ.ศ.2466 มีพระบรมราชโองการประกาศให้ตราพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2466 ขึ้นบังคับใช้ เป็นกฎหมายมาตราชั่งตวงวัด ฉบับแรกของประเทศไทย มีผลเปลี่ยนแปลงการชั่ง ตวง วัด ของไทยที่เป็นประเพณีใช้มานาน มาเป็นระบบเมตริก แต่ก็มีบทเฉพาะกาลยอมให้ใช้การชั่งตวง วัด ตามประเพณี เดิมไปอีกระยะหนึ่ง อันเนื่องมาจากประชาชนยังไม่เข้าใจ เครื่องชั่ง ตวงวัด ระบบ เมตริก ยังไม่มีการผลิการจำหน่าย เครื่องชั่งตวง วัด ระบบเมตริก อย่างแพร่หลาย

               ต่อมาเมื่อประชาชนเริ่มเข้าใจเครื่องชั่งตวงวัดระบบเมตริกมากขึ้น จึงมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา บังคับใช้มาตราชั่งตวงวัดและหน่วยเครื่องชั่งตวงวัด ตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2466 ในเขตมณฑลกรุงเทพฯ มณฑลอยุธยา มณฑลราชบุรี และมณฑลปราจีนบุรีเดิม เมื่อวันที่27มีนาคมพ.ศ.2475 และทยอยขยาย เขตการบังคับใช้ จนครบทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมพ.ศ. 2479     หลักสำคัญ  คือการซื้อขายสินค้าที่มีการ ชั่ง ตวง วัด ต้องเป็นไปตามระบบเมตริก

               สำหรับพระราชบัญญัติชั่งตวงวัด ที่ใช้บังคับในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542 ที่มีการตราขึ้นบังคับใช้ในปี2542 โดยยกเลิกพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2466 และที่แก้ไขปรับปรุง

                  การซื้อขายสินค้าในชีวิตประจำวันของประชาชน หรือการขายพืชผลทางเกษตรของเกษตรกร ส่วนใหญ่ซื้อขายเป็นน้ำหนัก ในการหาน้ำหนัก ก็ต้องใช้เครื่องชั่ง

              เครื่องชั่งที่เห็นตามตลาดสดหรือขายผักผลไม้ทั่วไป เป็นเครื่องชั่งสปริง ส่วนที่ใช้กันในซูปเปอร์มาร์คเก็ต เป็นเครื่องชั่ง อิเล็กทรอนิกส์ ที่แสดงค่าเป็นดิจิตัล และพิมพ์ออกและแสดงราคา ด้วย

           ในกรณีเป็นการซื้อขายสินค้าที่มีปริมาณและน้ำหนักมาก เช่นขายส่ง หรือซื้อขายผลผลิตของเกษตรกร ที่ยังไม่ถึงกับบรรทุกทั้งคัน เครื่องชั่งที่ใช้ส่วนมากจะเป็นเครื่องชั่งตุ้มถ่วงแบบแท่น หากเป็นการซื้อขายสินค้าที่ชั่งน้ำหนักทั้งรถที่บรรทุกสินค้า จะเป็นเครื่องชั่งแบบแท่นชั่งที่ติดตรึงกับที่มีพิกัดตั้งแต่20เมตริกตันขึ้นไป หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเครื่องชั่งรถ ซึ่งมีทั้งแบบที่เป็นกลไก และระบบอิเล็กทรอนิกส์

              เครื่องชั่งที่ใช้ในการซื้อขายสินค้าทุกชนิด จะต้องได้รับการตรวจสอบความเที่ยงและได้รับคำรับรองของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542  แต่ก็มีผู้ขายที่ทุจริตดัดแปลงเครื่องชั่ง หรือใช้เครื่องชั่งที่มีการดัดแปลงเพื่อเอาเปรียบผู้ซื้อ เช่นซื้อสินค้าหนึ่งกิโลกรัม ที่หน้าตาชั่งของผู้ขายแสดงน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัม แต่น้ำหนักจริงอาจหนักเพียง 600-700 กรัมหรือหนักเพียง6-7 ขีดตามที่เรียกกันทั่วไป แต่ผู้ซื้อต้องจ่ายค่าสินค้าน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัม กรณีเช่นนี้เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติชั่งตวงวัด พ.ศ.2542  แต่มีการโกงตาชั่งอีกแบบ คือไม่มีการแก้ไขดัดแปลงเครื่องชั่ง แต่ใช้มือกด หรือดึงเชือกที่ผูกไว้ที่จานชั่งให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น  กรณีเช่นนี้เข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกงหรือความผิดเกี่ยวกับการค้าตามมาตรา 271

              การป้องกันการถูกโกงตาชั่ง ถ้าเป็นตลาดที่จัดให้มีเครื่องชั่งกลางสำหรับการตรวจสอบน้ำหนักที่ถูกต้อง ก็สามารถนำสินค้าไปตรวจสอบที่เครื่องชั่งกลางได้ ถ้าเป็นกรณีที่ไม่อาจหาเครื่องชั่งกลางได้ และมีเหตุอันเชื่อได้ว่ามีการโกงตาชั่ง สามารถร้องเรียนได้ที่โทรศัพท์สายด่วนหมายเลข 1569 กรมการค้าภายใน จะมีเจ้าหน้าที่สายตรวจไปตรวจสอบดำเนินการ ที่เป็นข่าวดังคือหน้าทุเรียน จะมีประชาชนที่นิยมบริโภคทุเรียนถูกโกงตาชั่งอยู่บ่อย  เมื่อปีที่แล้วสายตรวจได้ออกไปตรวจสอบตามที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน พบพ่อค้าเร่ขายทุเรียนใช้เครื่องชั่งที่ถูกทำลายเครื่องหมายรับรองดัดแปลงส่วนประกอบภายในเครื่องชั่งสปริง โกงน้ำหนักไปหนึ่งกิโลกรัม จึงถูกดำเนินคดีเป็นความผิด ตาม พระราชมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542

        นอกจากการโกงตาชั่งประชาชนที่ซื้อขายสินค้าในชีวิตประจำวัน  การโกงตาชั่งที่เป็นการเอาเปรียบเกษตรกร คือการโกงตาชั่งที่ใช้ในการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตร การโกงตาชั่งที่เป็นการแสดงว่าผู้รับซื้อมีเจตนาโกงและเอาเปรียบเกษตรกรอย่างเป็นระบบมีการวางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า  คือการโกงเครื่องชั่งรถยนต์ที่เกษตรกรนำผลผลิตทางเกษตรเช่นปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าวเปลือก มาขายให้พ่อค้าคนกลางหรือโรงงานแปรรูป หรือโรงสี  เพราะเป็นการยากที่เกษตรกรและชาวบ้านทั่วไปจะตรวจสอบได้    การตรวจสอบความเที่ยงของเครื่องชั่งรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ชั่ง ตวง วัด จะใช้วิธีการสุ่มตรวจสอบ ต้องใช้รถยนต์ ที่มีเครน บรรทุกตุ้มน้ำหนักขนาดลูกละหนึ่งตัน แล้วยกตุ้มลงที่เครื่องชั่ง เพื่อตรวจสอบเทียบน้ำหนัก   

            ในช่วงที่เริ่มมีการนำเครื่องชั่งรถยนต์ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้  ก็มีปัญหาในการตรวจสอบว่ามีการแก้ไขดัดแปลงเครื่องชั่งอย่างไร แต่ก็ไม่พ้นความพยายามและความสามารถของเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดที่ค้นหาวิธีตรวจสอบจนได้  การโกงตาชั่งรถยนต์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เอาเปรียบเกษตรกรที่นำผลิตผลมาขายโดยไม่มีการแก้ไขดัดแปลงโปรแกรมหรือระบบคอมพิวเตอร์ของเครื่องชั่งเพื่อหลีกเลี่ยงกาตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดคือ  โดยติดตั้งพ่วงอุปกรณ์หรือรีโมทคอนโทรที่สามารถเปลี่ยนตัวเลขน้ำหนักที่แสดงที่หน้าจอเครื่องชั่งให้น้ำหนักน้อยลง   ซึ่งเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดสามารถตรวจจับได้หลายราย  เช่นรายในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดหนึ่ง โกงน้ำหนักคันละประมาณ150กิโลกรัม แต่ก็ ถูกจับและดำเนินคดี จนศาลพิพากษาลงโทษ ตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542  

              การทำงานตรวจสอบจับกุมการโกงตาชั่ง ของเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด เป็นประโยชน์คุ้มครองประชาชนผู้บริโภคและเกษตรกรที่ถูกเอาเปรียบ ควรที่จะได้รับการสนับสนุนให้สามารถตรวจสอบได้มากและทั่วถึงยิ่งขึ้น.