วิธีแก้รัฐธรรมนูญ/กฎหมายเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น

วิธีแก้รัฐธรรมนูญ/กฎหมายเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น

ผู้เขียนนำเสนอ 5 วิธีแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อให้การเมืองการปกครองมีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น การซื้อขายเสียงทำได้ยากขึ้น

 1. ให้ สส. ทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างเดียวจะไปรับตำแหน่งบริหารทางการเมืองไม่ได้ เพื่อที่การซื้อเสียงของผู้สมัครสส. จะได้ลดลง (ถ้าไปรับตำแหน่งบริหารต้องพ้นจากสส.) ลดจำนวนสส. แบบแบ่งเขตเหลือ 200 คน เพิ่มจำนวนสส. จากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (บัญชีรายชื่อ) ทั่วประเทศเป็น 200 คน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันด้านนโยบายของพรรคเพิ่มขึ้น ให้ประชาชนกา 2 ใบ และคำนวณจำนวน สส. แบบสัดส่วนที่แต่ละพรรคจะได้ตามเปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ประชาชนจะมีโอกาสได้ผู้แทนจากพรรคขนาดกลางขนาดเล็กที่เป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับสัดส่วนของคะแนนที่ประชาชนลงให้ผู้สมัครพรรคต่างๆ นี่คือระบบนับแบบเยอรมัน

การลดจำนวน สส. แบบแบ่งเขตลง จะทำให้เขตใหญ่ขึ้น การซื้อเสียงจะทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนเป็นระบบให้ผู้ชนะต้องได้คะแนน 50% ขึ้นไป

2. การเลือกตั้งผู้แทนแบบแบ่งเขต และการเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นทุกระดับควรเปลี่ยนจากระบบคนคะแนนสูงสุดชนะเลยเป็นระบบที่ผู้สมัครต้องได้คะแนน 50% ของผู้มาลงคะแนนขึ้นไปถึงจะได้เป็นผู้รับเลือก ถ้าการเลือกตั้งในรอบแรกผู้สมัครคนที่ได้คะแนนสูงสุดได้คะแนนไม่ถึง 50% ของผู้มาใช้สิทธิ์ คณะกรรมการเลือกตั้งต้องจัดการเลือกรอบ 2 ในสัปดาห์ถัดไป โดยคัดเฉพาะคนที่ได้ที่ 1 และที่ 2 ให้ผู้มีสิทธิ์มาลงคะแนนเลือกคนใดคนหนึ่ง

ระบบใหม่นี้จะทำให้ประชาชนได้พิจารณาในเชิงเปรียบเทียบได้อย่างรอบคอบขึ้น การจะไปซื้อเสียงคนมีสิทธิ์เลือกตั้งให้ได้ถึง 50% ของผู้มีสิทธิ์จะทำได้ยากขึ้นกว่าการเลือกตั้งแบบเก่า

3. ระบบวุฒิสภา ให้มีวุฒิสมาชิก 100 คน มาจากการเลือกตั้งตัวแทนของกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพใหญ่ 5 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีสว. ได้ 10 คน คือ

กลุ่มที่ 1 เกษตรกรและประมง กลุ่มที่ 2 คนทำงานได้เงินเดือนและค่าจ้าง กลุ่มที่ 3 นักวิชาชีพ/ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ กลุ่มที่ 4 เจ้าของกิจการ กลุ่มที่ 5 กลุ่มอื่นๆ ทั้งผู้สมัครและประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เลือกว่าตนจะอยู่กลุ่มไหน และประชาชนเลือกคนสมัครในกลุ่มนั้นได้ 1-10 คน การแบ่งกลุ่มย่อยมากไปจะยุ่งยากและไม่เป็นธรรม

4.ปฏิรูปประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ให้แต่ละจังหวัดบริหารจัดการตนเองได้เพิ่มขึ้น โดยการกระจายอำนาจ งบประมาณ ความรับผิดชอบ ให้จังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่นระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน  ทำงานด้านพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการศึกษาในท้องถิ่นเองได้เพิ่มขึ้น แทนการปกครองและบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ไว้ที่รัฐบาลกลางมากเกินไป

ซึ่งทำให้เกิดการรวมอำนาจ การใช้อำนาจในทางที่ผิดและขาดประสิทธิภาพ การกระจายอำนาจทรัพยากร ความรับผิดชอบ สู่ท้องถิ่นจะได้ผลดีจะต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมที่จะกระจายทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา การมีงานทำสู่ประชาชนท้องถิ่นอย่างทั่วถึงเป็นธรรมเพิ่มขึ้น ปฏิรูประบบป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อฉลให้มีประสิทธิภาพขึ้น

ยกเลิกการปกครองแบบภูมิภาค ยกเลิกระบบผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทรวงส่งไปจากส่วนกลาง เปลี่ยนแปลงจากการที่องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทยเป็นองค์กรท้องถิ่นที่เป็นอิสระ ที่ได้รับการถ่วงดุลและตรวจสอบโดยองค์กรอิสระอื่นและองค์กรภาคประชาชนที่ควรพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้น

กระทรวงต่างๆ ที่กรุงเทพฯ ควรทำงานด้านนโยบายภาพรวมของทั้งประเทศ การวิจัยและพัฒนา การประสานงานกับหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ในฐานะฝ่ายสนับสนุนช่วยเหลือประเมินผล ให้คำแนะนำ ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมสั่งการท้องถิ่นแบบเป็นเจ้านาย

การปฏิรูปวิธีการควบคุมตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรบริหารท้องถิ่นทำได้หลายทาง เช่น การเปิดให้ประชาชนทั้งชุมชนเข้าร่วมประชุมใหญ่และเป็นผู้กำหนดเรื่องงบประมาณและการใช้งบประมาณขององค์กรบริหารท้องถิ่นทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลได้โดยตรง

การต้องเปิดเผยรายละเอียดของงบประมาณโครงการต่างๆ ให้สาธารณชนทราบ การจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ ประชามติ เพื่อฟังเสียงประชาชนในเรื่องที่สำคัญ การเปิดให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือเสนอให้มีการลงประชามติถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

การปฏิรูปองค์กรท้องถิ่นที่จะเป็นการฝึกให้ประชาชนเรียนรู้ได้ดีคือการจัดตั้งสภาชุมชนขนาดเล็กแบบให้ประชาชนเริ่มเอง โดยการออกกฎหมายให้ประชาชนในกลุ่มบ้านหรือหมู่บ้านเรา 50-100 ครัวเรือน ยื่นขอจดทะเบียนเป็นสภาชุมชนระดับหมู่บ้านหรือกลุ่มบ้านที่ประชาชนจากทุกครัวเรือนในสภาชุมชนแต่ละแห่งเข้าร่วมประชุมกันโดยตรงกับประชาธิปไตยทางตรง

ที่ประชุมเสนอและเลือกโครงการพัฒนาชุมชนกันเองและเลือกคณะกรรมการชุดต่างๆ ไปรับผิดชอบงาน คณะกรรมการสภาชุมชนระดับหมู่บ้านไม่ได้มีตำแหน่ง อำนาจและเงินเดือน มีเฉพาะความรับผิดชอบในงานโครงการต่างๆ ได้เบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการทำโครงการนั้นๆ เท่านั้น

 คณะกรรมการสภาชุมชนชุดนี้ทำงานแบบเครือข่าย/สหพันธ์ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นอื่นๆ ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด สำหรับงานบางอย่างที่ต้องทำร่วมกันในระดับที่กว้างกว่ากลุ่มบ้านหรือหมู่บ้าน รวมทั้งต้องอาศัยการจัดสรรงบประมาณขององค์กรท้องถิ่นระดับที่ใหญ่กว่าสภาชุมชนระดับหมู่บ้าน/กลุ่มบ้านด้วย

5.ปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็งและมีบทบาทการตรวจสอบดูแลพัฒนาเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชน ในสาขาอาชีพ หรือผู้มีความสนใจกิจกรรมทางสังคมและด้านต่างๆ จัดตั้งเป็นกลุ่ม องค์กร สมาคมอาชีพ สหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค ชมรม สมาคมผู้สนใจกิจกรรมสังคมด้านต่างๆ ศึกษาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร จัดกิจกรรมร่วมเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องที่เกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาส่งเสริมสิทธิโอกาสผลประโยชน์ประชาชน

 เช่น การป้องกันปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นและการหาผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองและข้าราชการ การเรียกร้องให้เปิดข้อมูลด้านงบประมาณโครงการต่างๆ ของรัฐ การปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนกลุ่มและชุมชนต่างๆ การรณรงค์เรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมการศึกษาและการพัฒนาชุมชน การศึกษาและฟื้นฟูประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ฯลฯ

ตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง สมัย 40-50 ปีก่อนก็มีการทุจริตฉ้อฉลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในเกณฑ์สูง แต่เมื่อแต่ละประเทศได้ปฏิรูปองค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริต (...) ไม่เป็นองค์กรอิสระจากรัฐบาล/นักการเมืองให้เข้มแข็ง แต่งตั้งคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นกลางเข้าไปทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รณรงค์ให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา ส่งข้อมูลให้ และคอยติดตามตรวจสอบผลงานของ ป.ป.ช. ทำให้การทุจริตฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่รัฐใน 2 ประเทศลดลงมาก

ถ้าประชาชนสิงคโปร์ ฮ่องกง ปฏิรูปเรื่องการป้องกันและแก้ไขเรื่องการโกง รวมทั้งปฏิรูปการศึกษาและอื่นๆได้ ประชาชนไทยก็ควรทำได้เช่นกัน