เมื่อนายกรัฐมนตรีถูกฟ้องคดีโควิด

เมื่อนายกรัฐมนตรีถูกฟ้องคดีโควิด

จากการที่ได้มีการริเริ่มฟ้องคดีนายกรัฐมนตรีไปแล้ว โดยญาติผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้สร้างความสนใจและถกเถียงกันว่า สามารถทำได้หรือไม่

คดีแรกคือ นายกุลเชษฐ์ วัฒนผล พี่ชายของ นายกุลทรัพย์ วัฒนพล หรือ "อัพ VGB" ที่เป็นผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 รายที่ 137 เพราะประสานหาที่ตรวจไม่ได้ และได้รับการรักษาช้า โดยได้รับมอบอำนาจจากมารดาให้ยื่นฟ้องศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค., เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สำนักนายกรัฐมนตรี และ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ต่อ ศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,530,000 บาท  จากกรณีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร นั้น

ต่อมาก็ได้มีการรวบรวมรายชื่อโดยพรรคไทยสร้างไทยที่เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นว่าควรฟ้องผู้รับผิดชอบในประเด็นนี้หรือไม่ ผลปรากฏว่าภายในระยะเวลาเพียง 6 วัน มีประชาชนเข้าชื่อแสดงความเห็นให้ฟ้องรัฐบาลถึง 650,000 ชื่อ โดยพรรคไทยสร้างไทยได้ขอให้นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นทนายความฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

นอกจากนั้นยังมี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้เชิญชวนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการร้านค้า สถานบันเทิง อาชีพอิสระ ร่วมกันฟ้องร้องเอาผิดต่อนายกรัฐมนตรี เหตุละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เพราะนายกรัฐมนตรีสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ที่ประชาชนต้องใช้เงินตัวเองในการป้องกันโควิด-19 ทั้งเรื่องวัคซีนหรือหน้ากากอนามัย

อักทั้งนายมุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟสบุ๊กว่า ถึงเวลาที่ศาลต้องสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการเอาผิดกับผู้บริหารสูงสุดของรัฐในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผิดพลาดจนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประชาชน และวันต่อมาก็โพสต์ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า "นักกฎหมายต้องช่วยกันยืนยันว่า แม้แต่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ไม่อาจยกเว้นความรับผิดในทางแพ่งและอาญาให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้อีกด้วย

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ได้สร้างความสนใจและถกเถียงกันทั้งในวงวิชาการและวงการสภากาแฟทั้งหลายว่า จะสามารถทำได้หรือไม่  เพราะ พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯได้คุ้มครองไว้ และผลที่ตามมาจะเป็นประการใดหากผิดจริง

การคุ้มครองจาก พรก.ฉุกเฉินฯ

"มาตรา 16 ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง"

"มาตรา 17 พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชกําหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทําผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทําที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่"

ข้อพิจารณา

1.ตัดอำนาจศาลปกครอง แม้การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการอำนาจทางปกครองโดยแท้ เพราะเป็นการที่รัฐสั่งให้ประชาชนให้ปฏิบัติ แต่กลไกการตรวจสอบอำนาจทางปกครองที่ใช้อยู่ใน คือ ศาลปกครองถูกตัดขาดออกจากการทำงาน ตามมาตราที่ 16 ข้างต้น แต่ก็มิได้หมายความว่าจะฟ้องคดีไม่ได้ ในเมื่อศาลปกครองถูกตัดอำนาจไป คดีที่จะนำไปฟ้องที่ศาลปกครองจึงต้องนำไปฟ้องที่ศาลยุติธรรมตามหลักการพื้นฐานในมาตรา 194 วรรคแรกของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลอื่น

2.ประเด็นที่คุ้มครองนั้น พ.ร.ก.ฯคุ้มครองเฉพาะการกระทําที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็นเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น พ.ร.ก.ฯนี้ย่อมไม่คุ้มครอง ซึ่งจริงๆแล้วในประเด็นนี้ผมได้เคยให้ความเห็นไว้แล้วว่าไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติไว้เลย เพราะกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้วหากเป็นการกระทำที่สุจริต ฯลฯ น่ะครับ

3.หากนายกฯและผู้ที่เกี่ยวข้องแพ้คดีล่ะจะเป็นอย่างไร

          3.1 คดีละเมิดหรือคดีแพ่ง หน่วยงานซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากไม่มีหน่วยงานต้นสังกัดกระทรวงการคลังก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแทนตามมาตรา 5 พรบ.ว่าด้วยความรับผิดละเมิดของเจ้าหน้าที่ ปี 39 โดยจ่ายค่าเสียหายจากการละเมิดนั้นแทน แล้วจึงไปไล่เบี้ยเอาในแต่ละบุคคลตามมาตรา 8 ซึ่งหากเป็นกรณีทั่วไปที่ จนท.(หมายถึงนายกรัฐมนตรีหรือ และผู้ที่เกี่ยวข้อง)ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นแต่เพียงการประมาทเลินเล่อธรรมดาอันอาจเกิดขึ้นได้เมื่อได้ใช้ความระมัดระวังพอสมควรแล้ว จนท.จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้โดยไม่ต้องชดใช้คืน แต่หากเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนท.ผู้นั้นก็ต้องชดใช้คืนหลวงที่ออกไปให้ก่อน ตามมาตรา 12

          3.2 คดีอาญา จนท.ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดเป็นรายบุคคล ตามความหนักเบาของความรับผิดชอบ

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเราสามารถฟ้องคดีเพื่อเอาผิดนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างแน่นอน แต่การฟ้องคดีก็คงไม่ง่ายนัก เพราะตามหลักการทั่วไปของการนำคดีไปสู่ศาลนั้นผู้ฟ้องคดีหรือโจทก์ย่อมต้องเป็นผู้เสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหาย (ศาลปกครอง) หรือเป็นผู้ถูกกระทบสิทธิ (ศาลยุติธรรม) การเข้าชื่อเป็นจำนวนมากไม่มีผล เพราะต้องพิจารณาเป็นรายๆไป และที่สำคัญหากเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ ผู้ฟ้องคดีหรือโจทก์จะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมให้แก่ศาลตามอัตราที่กำหนด เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีแบบอนาถา ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ว่าอนาถาจริงๆ

อย่างไรก็ตาม คดีแบบนี้ถึงแม้ว่าจะมีความยุ่งยากและต้องใช้เวลา แต่ในหลายๆ ครั้งที่ประชาชนยื่นฟ้องคดีต่อหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ชนะคดีได้ และคดีที่เกี่ยวกับโควิดนี้จะเป็นคดีประวัติศาสตร์อีกคดีหนึ่งของวงการกฎหมายไทย ส่วนใครจะแพ้จะชนะนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งก็ต้องว่ากันเป็นคดีๆ ไปน่ะครับ.