100 ปี แห่งการเดินทางของสาธารณรัฐประชาชนจีน

100 ปี แห่งการเดินทางของสาธารณรัฐประชาชนจีน

หากมองแนวโน้มช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราคงปฏิเสธได้ยากว่าจีนได้ผงาดขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญของระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว

สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาสารพัด มีทั้งยุครุ่งเรืองถึงขีดสุดจนกลายเป็นศูนย์กลางทางอารยธรรมของซีกโลกตะวันออก และมียุคที่เกิดความแตกแยกจนคนในประเทศต้องบ้านแตกสาแหรกขาด แต่หากมองแนวโน้มช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราคงปฏิเสธได้ยากว่าจีนได้ผงาดขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญของระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว

ความสำเร็จบางเรื่องของจีนเกิดขึ้นเพราะการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพัฒนาแล้ว แต่ความสำเร็จก็มีความเสร็จหลายเรื่องที่จีน “ตกผลึก” มาจากภูมิปัญญาของชาติตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของจาเร็ด ไดมอนด์ที่เขียนไว้ในหนังสือ  “UPHEAVAL การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่: จุดเปลี่ยนสำหรับนานาประเทศท่ามกลางภาวะวิกฤต” ในหนังสือเล่มนี้จาเร็ดชี้ให้เห็นว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จต้องรู้จักทิ้ง รู้จักเก็บ และรู้จักเลือกให้เหมาะสม

รู้จักทิ้ง คือ การรู้ว่ามีเรื่องไหนกำลังถ่วงรั้งการพัฒนาประเทศอยู่ และสามารถกำจัดหรือลดปัจจัยเหล่านี้ให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

รู้จักเก็บ คือ รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญ เป็นรากเหง้าของประเทศ เป็นแก่นของความเป็นชาติที่ต้องเก็บไว้ เพื่อให้ประเทศยังมีอัตลักษณ์ของตนเอง เป็นแหล่งรวมใจของความเป็นชาติ เป็นจุดยืดเหนี่ยวของคนในประเทศ

รู้จักเลือก คือ การเลือกรับสิ่งที่เป็นประโยชน์จากประเทศอื่น แล้วนำมาปรับใช้กับประเทศของตนเองให้เหมาะกับสังคม วัฒนธรรม และศักยภาพของประเทศ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในทิศทางที่เหมาะสมกับเป้าหมายที่ประเทศได้วางไว้

จีนเลือกจะทิ้งวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การคอร์รัปชัน วัฒนธรรมที่เล่นพวกเล่มพ้อง หรือพฤติกรรมที่ไม่ถึงปรารถนาอื่นๆ ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว

สิ่งที่จีนเลือกเก็บไว้ คือ วัฒนธรรมความมุ่งมั่นในการทำงาน วัฒนธรรมการเคารพผู้อาวุโส วัฒนธรรมการค้าขาย และชุดความคิดที่ให้ความสำคัญกับการสร้างชาติ เพื่อให้คนจีนสามารถรักษา “ตัวตน” ของตนเองไว้ได้ ในขณะที่ประเทศจีนกำลังผสานตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก

สิ่งที่จีนเลือกรับมา คือ การคลายมือจากการควบคุมระบบเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป แล้วปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากแนวทางที่สหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาอื่น ๆ ใช้อยู่ในปัจจุบัน การที่รัฐบาลยังคงมีอำนาจในการเข้าแทรกแซงกลไกตลาดได้อย่างรวดเร็วหากเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น การเข้าควบคุมตลาดการเงินเมื่อมีการเก็บกำไรมากจนเกินไป ช่วยป้องกันไม่ให้ประเทศจีนพบกับวิกฤติทางการเงินเหมือนที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2008

          กลไกของรัฐยังมีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดการรับและต่อยอดนวัตกรรมจากองค์ความรู้ที่ได้มาจากต่างประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วด้วยการระดมทรัพยากรและความช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ช่วยให้นวัตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ทำให้ประเทศจีนสามารถยกระดับจาก “ผู้ซื้อ” มาเป็น “ผู้สร้าง” นวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว จนนวัตกรรมในบางด้านมีความทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

          อีกประเด็นหนึ่งที่จีนประสบความสำเร็จจนเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ คือ การลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ หากมองย้อนกลับไปดูทิศทางการพัฒนาของสหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้ว บางช่วงเวลาประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจจะกระจุกตัวในบางอุตสาหกรรม ทำให้มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้นเรื่อย ๆ การแก้ปัญหาดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นได้ช้าทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ เพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว จีนจึงเลือกใช้กลไกของรัฐบาลในการเข้ามาแทรกแซงทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ประชาชนของประเทศได้รับดอกผลจากการพัฒนาให้ทั่วกว่าการที่จะปล่อยให้กลไกตลาดทำงานแล้วปล่อยให้ต่างคนต่างดิ้นรนกันไปเอง

อย่างไรก็ตาม ความอันตรายของการมีรัฐบาลที่มีอำนาจมากก็คือ หากรัฐบาลนั้นมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องมากกว่าการให้ความสำคัญกับประชาชน อำนาจเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว การมีผู้นำที่ดี มีความรู้มีความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความกล้าในการตัดสินใจโดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการใช้กลไกของรัฐมาช่วยประคองการพัฒนาประเทศให้อยู่ในลู่ในทาง ซึ่งในประเด็นนี้ถือว่าจีนประสบความสำเร็จในระดับที่น่าประทับใจ

บทเรียนสำคัญที่ได้จากการเดินทาง 100 ปีที่ผ่านมาของจีน คือ ทุกประเทศควรมีตัวแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับประเทศของตนเอง การเลือกนำเข้าตัวแบบการพัฒนาของประเทศอื่นโดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของประเทศ ความสำเร็จย่อมเกิดได้ยาก ที่สำคัญกว่านั้น ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ทุกคนในประเทศล้วนมีความสำคัญ เหมือนสุภาษิตจีนที่ว่า “อาณาจักรในใต้หล้า จะรุ่งเรืองหรือล่มจม ล้วนเป็นความรับผิดชอบของทุกคน”.