8 ความเสี่ยง VUCA ในโลกหลัง COVID-19 (ตอนที่ 1)

8 ความเสี่ยง VUCA ในโลกหลัง COVID-19 (ตอนที่ 1)

ประเด็นที่ต้องคิดต่อคือ ความเสี่ยงของโลก VUCA จากนี้ไปจนถึงช่วง 5 ปีข้างหน้าคืออะไร เพื่อจะได้เตรียมพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับการติดต่อจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงของภาครัฐแห่งหนึ่ง ให้บรรยายกับผู้บริหารภาครัฐในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ VUCA อันได้แก่ Volatility หรือความผันผวน Uncertainty หรือความไม่แน่นอน Complexity หรือความซับซ้อน และ Ambiguity หรือความคลุมเครือ ในยุคหลัง COVID-19 โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และความมั่นคง ผู้เขียนจึงขออนุญาตแชร์เนื้อหาบางส่วน ดังนี้

 

ในปัจจุบันที่ Covid-19 กำลังจะเข้าสู่ช่วงปลายของการระบาด (เพราะทั่วโลกได้พัฒนาและแจกจ่ายวัคซีน แต่ในบางประเทศอาจได้รับผลช้ากว่า) ประเด็นที่ต้องคิดต่อคือความเสี่ยงของโลก VUCA จากนี้ไปจนถึงช่วง 5 ปีข้างหน้าคืออะไร เพื่อจะได้เตรียมพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว โดยสามารถจำแนกความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ออกมาได้ 8 ประการ ดังนี้

 

ความเสี่ยงที่ 1 การระบาดของ COVID สายพันธุ์ใหม่ โดยในปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังการแจกจ่ายวัคซีน โดยเป็นการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ Delta หรือสายพันธุ์อินเดียที่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วมากและแข็งแกร่ง ดื้อต่อวัคซีนสูง โดยงานวิจัยพบว่าสายพันธุ์นี้จะสามารถเพิ่มสัดส่วนต่อการระบาดทั้งหมดได้ 2 เท่า ทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ ในขณะที่วัคซีนที่ไม่ใช่เทคโนโลยี mRNA จะไม่สามารถคุมสายพันธุ์นี้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ดังนั้น เป็นไปได้สูงว่าจะเกิดการระบาดอย่างรุนแรงในหลายภูมิภาคในโลก เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และยุโรป ภายในเดือน ส.ค. นี้ นอกจากนั้น เป็นไปได้สูงว่าในระยะต่อไป จะเกิดการกลายพันธุ์อีก จนทำให้มนุษยชาติอาจจะต้องอยู่กับโรคระบาดนี้ไปอีกนาน

 

ความเสี่ยงที่ 2 ภาวะเงินเฟ้อและการตึงตัวทางการเงินการคลังโลก ในปัจจุบัน ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยชั่วคราวจากความต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่มากขึ้นหลังการเปิดประเทศของซีกโลกตะวันตก ขณะที่ภาคการผลิตประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ (Supply bottleneck) แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมาตรการกระตุ้นของประเทศซีกโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งหากทางการไม่เริ่มถอนมาตรการกระตุ้นอย่างทันท่วงทีแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเงินเฟ้อจะเข้าไปอยู่ในใจประชาชน นำไปสู่ภาวะกักตุนสินค้าและบริการได้

 

ดังนั้น ในระยะต่อไป ทางการสหรัฐจะต้องเร่งถอนมาตรการการเงินการคลังที่ผ่อนคลายอย่างสุดขั้วลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่เผชิญภาวะฟองสบู่ในปัจจุบัน ทำให้ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกในระยะต่อไปจะมีมากขึ้น

 

ในส่วนของมาตรการการคลัง รัฐบาลไบเดนพร้อมปรับขึ้นภาษีเพื่อ (1) ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ (2) สนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการประชาชน และ (3) ลดความเหลื่อมล้ำและขยายฐานภาษีโดยเฉพาะกับบริษัทเทคโนโลยี (ทั้งในระดับประเทศและโลกผ่าน Global Minimum Tax) ซึ่งจะทำให้แนวโน้มการปรับขึ้นภาษีทั่วโลกจะเกิดขึ้นในระยะต่อไป

 

ความเสี่ยงที่ 3 ได้แก่การที่จีนกำลังก้าวเข้าสู่มหาอำนาจโลก จะเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส ซึ่งการที่จีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดขณะที่กำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) ทำให้รัฐบาลจีนจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตขึ้น ทั้งเพิ่มระดับการศึกษาประชาชน และจากการเน้นวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งจะเกิดผลบวก อย่างน้อย 2 ประการ คือ (1) ชนชั้นกลางจีนจะร่ำรวย ฉลาด ใช้จ่ายมากขึ้น และเชี่ยวชาญเทคโนโลยีมากขึ้น และ (2) การศึกษาและงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ในจีนจะเพิ่มขึ้น

 

แต่ในขณะเดียวกัน ในฝั่งของกฎระเบียบต่าง ๆ ทางการจีนจะคุมเข้มขึ้น ทั้งเพื่อคุมฟองสบู่ (โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่ และบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่น) คุมหนี้ประชาชาติของจีนที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 285% ต่อ GDP และคุมบริษัทเทคโนโลยี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเงิน (Fintech) ที่มองว่าผูกขาดด้านการทำธุรกิจ ผูกขาดข้อมูล และอาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ เช่น Ant Financial ของ Alibaba บริษัทส่งอาหาร Meituan และล่าสุด Didi ที่เป็นบริษัทส่งสินค้า ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Fintech รวมถึงภาคอสังหาฯ เหมืองแร่ และบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่นที่ลงทุนเกินตัวและมีประเด็นคอร์รัปชัน จะอยู่ยากมากขึ้น

 

ความเสี่ยงที่ 4 ด้านสงครามเย็นระหว่างสหรัฐและจีน ที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐสามารถชักจูงชาติมหาอำนาจ G7 และสมาชิก NATO ให้กล่าวหาจีนว่าเป็นความเสี่ยงต่อประชาธิปไตยโลก ขณะที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงก็ประกาศว่าคนจีนทั้ง 1.4 พันล้านคนพร้อมจะต่อกรกับประเทศใดที่กลั่นแกล้งจีน ทำให้ผู้เขียนมองว่าในระยะต่อไป สงครามเย็นของทั้ง 2 มหาอำนาจจะรุนแรงขึ้นใน 4 สมรภูมิหลัก คือ

(1) ด้านการค้า โดยแม้ว่าทั้งสองประเทศจะไม่ปรับลดกำแพงภาษีนำเข้าที่เคยถูกตั้งขึ้นสมัยประธานาธิบดีทรัมพ์ แต่ก็จะไม่ปรับลดลง

(2) ด้านเทคโนโลยี ทั้งสองฝ่ายจะแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาในอนาคต (ซึ่งสหรัฐมีแต้มต่อ) และด้านพลังงานสะอาด (ที่จีนมีแต้มต่อ)

(3) ด้านทุน ที่สหรัฐจะกดดันการระดมทุนจากบริษัทจีนมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง (ดังเช่นที่สหรัฐได้แบน 59 บริษัทจีน ห้ามเข้าลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ) และ

(4) ด้านความมั่นคง ที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามมากขึ้นโดยเฉพาะไต้หวันในปี 2027 ตามที่พลเรือเอก  ฟิลิป เดวิดสัน ผู้บังคับการกองเรือรบในลุ่มน้ำ อินโด-แปซิฟิก ทำนายไว้

 

ผู้เขียนมองว่า กลยุทธต่อไปที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้คือการแย่งพันธมิตร จากการที่จีนผลักดันนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านความมั่นคง และทั้งด้านการเผยแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐและชาติพันธมิตรก็ได้ประกาศตั้งกองทุนวงเงินถึง 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ชื่อ Build Back Better World (B3W) จากปัจจุบันจนถึงปี 2035 ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะเป็นความช่วยเหลืออย่างจริงใจ หรือจะมีวาระซ่อนเร้นอื่น ๆ หรือไม่

 

COVID ระลอกใหม่ ดอกเบี้ยและภาษีทั่วโลกเป็นขาขึ้น ฟองสบู่จีน และสงครามเย็นของมหาอำนาจ นี่คือ 4 ความเสี่ยง VUCA แรกของโลกหลัง COVID-19 และอีก 4 ความเสี่ยงหลังคืออะไร โปรดติดตาม.