ปลดแอก‘พืชกระท่อม’ผลทางสังคมและผลทางกฎหมาย

ปลดแอก‘พืชกระท่อม’ผลทางสังคมและผลทางกฎหมาย

อีก 90 วัน พืชกระท่อมจะไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงมีการปลดพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติด และให้ผลทางกฎหมายอย่างไร

เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์พระราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2564 ซึ่งสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ การนำ “พืชกระท่อม” ออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และยกเลิกโทษที่กำหนดไว้สำหรับพืชกระท่อม ทำให้อีก 90 วัน พืชกระท่อมจะไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายอีกต่อไป จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงมีการปลดพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติด และจะส่งผลต่อสังคม และให้ผลทางกฎหมายอย่างไร

ในอดีตพืชกระท่อมเป็นที่รู้จักในฐานะพืชสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณรักษาอาการต่างๆ ได้ จนกระทั่งได้มีการตรา พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2486  และพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 พืชกระท่อมจึงกลายเป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งถูกห้ามมิให้มีการใช้ ปลูก ครอบครอง หรือจำหน่าย

 การทำให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดตามกฎหมายส่งผลให้เกิดการลักลอบนำเข้าพืชกระท่อมจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีประชาชนบางส่วนที่ต้องการใช้พืชกระท่อม และทำให้เกิดคดีความในความผิดที่เกี่ยวกับพืชกระท่อมอีกขึ้นมากมาย

ปัญหาเกี่ยวกับพืชกระท่อมจึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมในด้านอื่น ๆ ตามมา ในขณะที่หลายประเทศ มิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ และอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1972 ก็มิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาที่นำไปสู่การเสนอแก้กฎหมายให้ปลดพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติด

ในปัจจุบันได้มีการศึกษาจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแล้วว่าพืชกระท่อมนั้นมีประโยชน์มากกว่าโทษ โดยเฉพาะประโยชน์ในทางการแพทย์ ความกังวลของสังคมต่อพืชกระท่อมจึงอาจจะไม่ใช่เรื่องประโยชน์ของมัน แต่คือการนำพืชกระท่อมไปใช้อย่างผิดวิธี เช่น การนำพืชกระท่อมไปใช้คู่กับสารอื่นซึ่งทำให้ผู้ใช้มึนเมา จึงอาจจะเกิดคำถามว่าหลังจากนี้เมื่อกระท่อมไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไปแล้ว รัฐควรมีมาตรการควบคุมพืชกระท่อมหรือไม่ อย่างไร

มาเลเซียอาจเป็นตัวอย่างประเทศที่เราสามารถหยิบยกแนวทางการควบคุมพืชกระท่อมมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ ด้วยเหตุที่สังคมในมาเลเซียเองก็มีการใช้พืชกระท่อมเช่นกัน อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมร่วมกันกับสังคมไทยในหลาย ๆ ด้าน

เมื่อพูดถึงยาเสพติดร้ายแรง เช่น แอมเฟตามีน โคเคน เฮโรอีน เหล่านี้ถูกจัดอยู่ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดร้ายแรงของมาเลเซีย (Dangerous Drug Act 1952) แต่สำหรับพืชกระท่อมนั้นได้ถูกจัดอยู่ในวัตถุมีพิษอย่างหนึ่งตามกฎหมายวัตถุมีพิษว่าด้วยวัตถุมีพิษ (Poisons Act 1952) ซึ่งจะต้องมีการควบคุมการนำเข้า ส่งออกผลิต และการจัดจำหน่ายเช่นเดียวกับยาเสพติดร้ายแรง หากฝ่าฝืน กฎหมายได้กำหนดโทษจำคุกและโทษปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กฎหมายเองก็เปิดช่องให้มีการนำพืชกระท่อมมาใช้ ผลิตและจำหน่ายได้ภายใต้มาตรการการควบคุม

ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้จะกำหนดมาตรการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวดและกำหนดโทษจำคุกไว้หรับการฝ่าฝืน แต่ในทางปฏิบัติศาลไม่เคยลงโทษจำคุกผู้ต้องหาเลย อีกทั้งกรณีการใช้พืชกระท่อมก็ไม่มีกฎหมายกำหนดโทษเอาไว้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าในมุมมองของกฎหมายมาเลเซียแล้วพืชกระท่อมเป็นสิ่งซึ่งต้องควบคุม แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับประชาชนในการใช้หรือแม้แต่การผลิตหรือจำหน่าย และแม้ปัญหาการใช้กระท่อมอย่างผิดวิธีจะเพิ่มมากขึ้นในมาเลเซีย การจัดการกับปัญหาก็ยังมุ่งไปที่การควบคุมสิ่งอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดการใช้พืชกระท่อมอย่างผิดวิธีมากกว่าที่ห้ามใช้พืชกระท่อม

หากเราพิจารณา “ร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม” ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบไปเมื่อไม่นานมานี้ จะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้พืชกระท่อมในทางที่ผิดไว้ด้วย เช่น การขายพืชกระท่อมหรือสิ่งที่มีพืชกระท่อมผสมอยู่ให้เด็กอายุไม่เกิน 18 ปี หรือการขายพืชกระท่อมในสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ หรือสวนสนุก หรือขายโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ และการบริโภคพืชกระท่อมที่ปรุงผสมกับสารเสพติดให้โทษ

ข้อสังเกตคือ โทษที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคพืชกระท่อมล้วนแต่เป็นโทษปรับเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกฎหมายมาเลเซียอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น

นอกจากนั้น การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อมครั้งนี้ยังส่งผลทางกฎหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ หลักการ The principal of legality” หรือ “ไม่มีความผิด โดยไม่มีกฎหมาย ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย อันเป็นการให้หลักประกันแก่บุคคลว่า บุคคลจะต้องรับโทษในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

กล่าวคือ การกระทำซึ่งจะเป็นความผิดตามกฎหมายได้นั้นจะต้องมีกฎหมายบอกว่าสิ่งนั้นคือความผิดและกำหนดโทษไว้ด้วย เมื่อกฎหมายที่บัญญัติให้การใช้ ผลิต ครอบครอง และจำหน่ายพืชกระท่อมและโทษที่เคยถูกกำหนดไว้สำหรับการกระทำซึ่งความผิดเหล่านี้ได้ถูกยกเลิกลง บรรดาผู้ซึ่งได้กระทำความผิด หรือผู้ซึ่งต้องคำพิพากษาของศาล หรือผู้ซึ่งต้องโทษ ที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อมย่อมได้รับประโยชน์จากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ทำให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด หรือให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด หรือให้การลงโทษสิ้นสุดลง

สุดท้ายนี้เราอาจจะเห็นได้ว่า การปลดพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดจึงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร หากแต่เป็นการทำให้พืชกระท่อมกลับไปสู่จุดเดิมในฐานะภูมิปัญญาอย่างที่เคยเป็น เพื่อให้พืชกระท่อมสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่สังคมและอยู่ภายใต้การจัดการควบคุมของรัฐในกรณีของการนำไปใช้เป็นสารประกอบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน.

บทความโดย...ว่องวิช ขวัญพัทลุง และ ภูดิศ แสงแก้ว คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์