ผักไทย Made in Belgium

ผักไทย Made in Belgium

ผู้แทนจากทีมประเทศไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ เดินทางไปเยี่ยมชม 'ทิพย์สวนผัก' บนพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ที่เมือง Oud-Turnhout เบลเยียม

“ทิพย์สวนผัก” จากสวนสตรอว์เบอร์รี่ สู่สวนผักไทยในเบลเยียม

“คุณพรทิพย์ ศรีวิเศษ” (คุณทิพย์) เจ้าของสวนผัก "ทิพย์สวนผัก" ได้แบ่งปันประสบการณ์การปลูกผักไทยในเบลเยียมด้วยความภาคภูมิใจ เริ่มจากการปลูกพืชผักไทยเพื่อรับประทานเอง เหลือก็แบ่งให้เพื่อนบ้าง จนปัจจุบันได้ขยายพื้นที่การเพาะปลูกจนกลายเป็นธุรกิจครอบครัวที่ได้รับความสนใจทั้งจากชุมชนไทยในยุโรป และชาวยุโรปเองที่หันมาสนใจพืชผักสมุนไพรไทยมีลูกค้าขับรถมาซื้อผักถึงสวนคุณทิพย์ทั้งจากในเบลเยียมเอง และประเทศใกล้เคียง เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และลักเซมเบิร์ก รวมถึงคนไทยจากประเทศอื่นในยุโรปที่สนใจจะให้คุณทิพย์ส่งผักให้ทางไปรษณีย์ด้วย

ภายในสวนผักของคุณทิพย์ มีการปลูกพืชผักไทยหลากหลายชนิด อาทิ กะเพรา โหระพา แมงลัก ผักชี ผักชีลาว ขึ้นฉ่าย มะเขือ พริก แตงกวา คะน้า กวางตุ้ง ฟักทอง มะระ ฯลฯ ซึ่งการเริ่มปลูกผักไทยของคุณทิพย์ไม่ได้ใช้ต้นทุนสูง

162470333979

เนื่องจากครอบครัวสามีคุณทิพย์มีประสบการณ์ในการทำสวนสตรอว์เบอร์รี่ในโรงเรือนกว่า 30 ปี และที่สำคัญมีโครงสร้างโรงเรือนสำหรับเพาะปลูก ตลอดจนอุปกรณ์การเกษตรจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว คุณทิพย์และสามีจึงตัดสินใจเปลี่ยนสวนสตรอว์เบอร์รี่ซึ่งใคร ๆ ก็ปลูกได้ มาเป็นสวนผักไทยเพียงไม่กี่แห่งในเบลเยียมแทน

คุณทิพย์เล่าวิธีการปลูกผักว่า เริ่มจากการเพาะเมล็ด แล้วจึงนำมาขยายลง “แปลงผักลอยฟ้า” หรือ แปลงผักแบบแขวนซึ่งเดิมใช้ในการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ โดยที่สวนผักมีการใช้น้ำจากบ่อกักเก็บน้ำฝนและใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพในการบำรุงพืชผัก ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าอีกด้วย

 

ความท้าทายและโอกาสของการปลูกพืชผักไทยในเบลเยียม

ความท้าทายหลักของการปลูกพืชผักไทยในเบลเยียม คือ สภาพอากาศ แสงแดดและอุณหภูมิในการทำการเกษตรที่แตกต่างจากเมืองไทย คุณทิพย์จึงต้องมีการใช้เครื่องทำความร้อนเพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้มีความเหมาะสมกับพันธุ์พืชไทย และมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมการรดน้ำและใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ที่สวนผัก เป็นการช่วยทุ่นแรงงานคน (เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในยุโรปมีราคาสูงเมื่อเทียบกับไทย) และช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและในปริมาณที่มากขึ้น

การปลูกพืชผักไทยในเมืองหนาวนั้นมีช่วงเก็บเกี่ยวที่จำกัดประมาณ 7 เดือนต่อปี โดยจะเริ่มหว่านเมล็ดตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดประมาณเดือนตุลาคม ซึ่งพอเข้าช่วงฤดูหนาวก็จะไม่สามารถทำการเพาะปลูก เพราะแสงแดดไม่เพียงพอและอากาศหนาวเย็นเกินไป ยกเว้นผักฤดูหนาวบางชนิด อาทิ พืชตระกูลกะหล่ำและคะน้า ที่ยังสามารถปลูกได้

นอกจากนี้ การหาตลาดสำหรับสินค้าผักไทย ช่องทางการจัดจำหน่าย และการขนส่งก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เนื่องจากผักไทยในยุโรปยังเป็น Niche Market จึงยังไม่มีตลาดกลางรองรับการการซื้อ-ขายผักไทยในเบลเยียม ปัจจุบันร้านขายของเอเชียทั่วไปตามเมืองใหญ่ ๆ ในเบลเยียมก็เลือกขายผักไทยที่นำเข้า และการขนส่งผักสดต้องใช้รถที่มีการควบคุมอุณหภูมิเพื่อถนอมความสดใหม่ของผัก โดยปัจจุบันคุณทิพย์มีการจำหน่ายผักไทยให้ทางร้านอาหารเอเชียและลูกค้ารายย่อยที่สามารถมารับสินค้าที่สวนเองเท่านั้น และกำลังศึกษาช่องทางการจัดจำหน่ายและขนส่งเพิ่มเติมในอนาคต   

162470336717

ไม่ว่าจะเป็นพืชผักไทยที่ปลูกในยุโรป หรือนำเข้ามาจากไทยก็จะต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารอย่างเคร่งครัด โดยที่สวนผักของคุณทิพย์ จะมีหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาตรวจเป็นประจำเรื่องการใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่จะต้องเป็นชนิดที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

สหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรซึ่งให้ความสำคัญไม่เพียงแต่กับความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์ แต่จะต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยสหภาพยุโรปได้กำหนดเป้าหมายในการลดการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 ตลอดจนเพิ่มพื้นที่ในการทำเกษตรอินทรีย์ในอียูเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่การทำการเกษตรทั้งหมดภายในปี 2573 ตามแผนยุทธศาสตร์ Farm to Fork ภายใต้นโยบาย European Green Deal

นอกจากนั้น อียูยังมีแผนที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านโครงการส่งเสริมการจำหน่ายและการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมเทรนด์การบริโภคสินค้าอินทรีย์ในอียูให้มาแรงอย่างต่อเนื่องแน่นอน

ดังนั้น การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจทั้งสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเพาะปลูกผักไทยในอียูหรือการส่งออกผักไทยเพื่อจำหน่ายสู่ตลาดอียู

ทิพย์สวนผักเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจคนไทยที่ได้นำความรู้และภูมิปัญญาด้านการทำเกษตรกรรมจากประเทศไทยมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศเมืองหนาว และเป็นการส่งเสริมพืชผักไทยให้เป็นที่รู้จักในยุโรปมากขึ้น

คุณทิพย์มีการใช้สื่อโซเชียล อาทิ Facebook และ Youtube ในการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าและสามารถสร้างชื่อเสียงให้สวนผักของตน โดยหากผู้อ่านค้นหาชื่อ ทิพย์สวนผัก ใน Youtube ก็จะเจอวีดีโอกว่า 50 คลิปที่เหล่า Youtuber จากหลายประเทศในยุโรปเดินทางมารีวิวสวนผักไทยในเบลเยียม โดยบางคลิปมียอดวิวเกือบ 800,000 ครั้งเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นแบบอย่างของธุรกิจที่ปรับตัวให้ทันยุคดิจิทัล โดยผู้ที่สนใจสามารถนัดหมายเพื่อเยี่ยมชมสวนของคุณทิพย์ได้ทางโทรศัพท์ที่เบอร์ 0486 80 26 50 (เบลเยียม)

สุดท้ายนี้ แม้ว่าการปลูกผักไทยในยุโรปจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยมีธุรกิจสวนผักไทยในยุโรปเกิดขึ้นหลายแห่ง อาทิ สวนผักไทยบนพื้นที่ 31 ไร่ที่เมือง Nettetal เยอรมนี สวนมะกรูดมะนาวที่เมือง Nijlen เบลเยียม และสวนผักไทยที่เมือง Säffle สวีเดน

ชาวยุโรปรู้จักผักไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจัยความท้าทายทางด้านสภาพภูมิอากาศ ผลผลิตที่มีจำกัด และช่องทางการจัดจำหน่ายของผักไทยที่ปลูกที่นี่ ส่งผลให้ตลาดผักไทยในอียูจึงยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่ไม่มีผลผลิตจากประเทศท้องถิ่น อย่างในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. ที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าผักและผลไม้ของประเทศไทยไปตลาดอียู (27 ประเทศ) มีมูลค่ารวม 480 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจสำหรับธุรกิจส่งออกสินค้าผักและผลไม้ไทยมาตลาดอียู

ผู้ประกอบการควรติดตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของอาหารของอียูอย่างใกล้ชิด และอาจพิจารณาแนวทางการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มเติม ซึ่งเป็นเทรนด์การบริโภคที่กำลังมาแรงในอียู 

 

ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกผักและผลไม้สดมายังตลาดอียูสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://thaieurope.net/2020/09/22/export-veg-and-fruits-to-the-eu/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรปที่ [email protected]