เมื่อชาวอเมริกันไม่กลับเข้าทำงานในออฟฟิศ

เมื่อชาวอเมริกันไม่กลับเข้าทำงานในออฟฟิศ

รูปแบบการทำงานในอนาคตหลังโควิดคลี่คลาย เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงและศึกษากันต่อไป ว่ารูปแบบและพฤติกรรมของคนทำงาน จะเปลี่ยนไปอย่างไร

 บางท่านมองว่าจากประสบการณ์โควิดทำให้ทุกคนสามารถมีอิสระและทำงานจากที่ไหนก็ได้ ขณะที่บางท่านก็ยังเชื่อถึงความสำคัญและจำเป็นของการได้เห็นหน้า การได้ทำงานร่วมกัน และก็มีทางสายกลางที่บอกว่าเป็น Hybrid ทั้งสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ และเข้ามาทำงานที่สำนักงานบ้างเป็นครั้งคราว ลองมาดูตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกาว่าเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น รูปแบบและพฤติกรรมของคนทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร

        ตัวเลขเมื่อสัปดาห์ที่แล้วร้อยละ 43 ของชาวอเมริกาฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ทำให้เกิดความคาดหวังว่าภาวะการทำงานจะกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิด แต่ความไม่ปกติ หรือปกติใหม่ ก็ได้เริ่มปรากฎให้เห็น นั้นคือแทนที่เมื่อโควิดดีขึ้นแล้วพนักงานจะกลับเข้าทำงานในสำนักงาน กลับพบว่าพนักงานจำนวนมากปฏิเสธที่จะกลับเข้าทำงานในสำนักงานเหมือนเดิม แม้ผู้บริหารจะเรียกร้องก็ตาม

        จากการสำรวจของบริษัทชื่อ Kastle พบว่ามีเพียงแค่ร้อยละ 31 ของคนทำงานอเมริกันที่กลับเข้าสู่สำนักงานเหมือนอดีต สาเหตุหลักๆ คือการติดใจที่ได้ทำงานที่บ้าน (จากการต้องทำงานแบบ Work from home มานาน) รวมทั้งยังกังวลเรื่องโอกาสการติดเชื้อ และบางกลุ่มก็ไม่อยากจะฉีดวัคซีน ผลกระทบจากการที่พนักงานไม่กลับเข้าทำงานนั้น นอกเหนือจากจะทำให้อาคารสำนักงานต่างๆ ร้างราผู้คนแล้ว บรรดาธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องเช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่มุ่งเน้นขายคนทำงาน ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

        ตัวอย่างเช่น salesforce.com ที่เป็นเอกชนผู้จ้างงานที่ใหญ่ที่สุดใน San Francisco ที่เปิดให้พนักงานได้กลับเข้าทำงานด้วยความสมัครใจก็มีพนักงานเพียงแค่ 200 คนกลับเข้าทำงานในสำนักงานจากพนักงานทั้งหมด 10,000 คน

        อย่างไรก็ดีจะบอกว่าอเมริกันชนกลัวการออกจากบ้านก็ไม่ใช่ เพราะร้านอาหาร สายการบินในประเทศ รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวกลับแน่นและเต็มไปด้วยผู้คน อย่างอุทยานแห่งชาติหลายแห่งที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ถึงขั้นบางแห่งต้องปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 9 โมงเช้าและแจ้งว่าให้กลับมาใหม่ในอีก 3-4 ชั่วโมง หรือ อย่าง Yellowstone ที่เป็นรู้จักกันก็มีรถยนต์เข้ามาในบริเวณอุทยานเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดที่ผ่านมามากกว่าเมื่อปี 2019 ถึงร้อยละ 50

        การที่ชาวอเมริกันไปรับประทานอาหารตามร้านอาหาร หรือ ไปท่องเที่ยวในประเทศกันเป็นจำนวนมาก แต่ยังอยากจะ Work from home อยู่ แสดงให้เห็นถึงความต้องการในการชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปจากช่วงโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของได้รับประสบการณ์ที่ทำให้มีความสุข (ทั้งจากการท่องเที่ยว การรับประทานอาหาร การได้สังสรรค์) แต่การทำงานนั้น ถึงแม้จะไม่ได้เข้าออฟฟิศช่วงโควิด ไม่ได้เจอเพื่อนร่วมงาน หรือ บรรยากาศการทำงาน แต่ก็ยังต้องทำงานอยู่กับบ้าน อีกทั้งการเข้าสำนักงานก็ไม่ได้เป็นประสบการณ์ที่สร้างความสุขเท่าใด

        เริ่มมีข้อเรียกร้องจากบรรดาซีอีโอให้พนักงานกลับเข้าทำงานในสำนักงานได้แล้ว อย่าง Apple กับ Google ที่เคยประกาศว่าพนักงานสามารถทำงานแบบ Work from home ได้อย่างยาวนาน ก็มีนโยบายที่จะให้พนักงานกลับเข้าทำงานได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า Amazon ก็เพิ่งประกาศว่าจะต้องเข้ามาทำงานในสำนักงานอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ โดยจะเป็นวันใดบ้างนั้นจะขึ้นอยู่กับผู้บริหารในแต่ละระดับ

        Jamie Dimon ซีอีโอของ JP Morgan ก็กล่าวว่าต้องการให้พนักงานของตนเองในอเมริกากลับเข้าทำงานในสำนักงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ที่เด็ดที่สุดคือ James Gorman ซีอีโอของ Morgan Stanley ที่กล่าวว่า ‘If you can go into a restaurant in New York City, you can come into office.’ หรือ ถ้าไปนั่งทานอาหารในร้านในนิวยอร์คได้ ก็จะต้องสามารถเข้าทำงานในออฟฟิศได้ โดย Gorman ระบุเลยว่าจะรู้สึกผิดหวังมากถ้าพนักงานของตนในสหรัฐอเมริกาไม่กลับมาทำงานในสำนักงาน ภายในเดือนกันยายนนี้

        ต้องดูว่าภาวะไม่ยอมกลับเข้าทำงานของชาวอเมริกันนี้จะเป็นเฉพาะระยะสั้นเท่านั้นหรือไม่ อีกทั้งภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับคนไทยหรือไม่ ที่เมื่อโควิดคลี่คลาย พร้อมจะเที่ยวและรับประทาน แต่ไม่พร้อมจะกลับเข้าออฟฟิศ.