คริปโตกับการเป็นสินทรัพย์สะสมมูลค่า

คริปโตกับการเป็นสินทรัพย์สะสมมูลค่า

 “อะไรคือสิ่งที่จะมีมูลค่าเพิ่มและอะไรคือสิ่งที่จะด้อยมูลค่าลงในอนาคต” เป็นคำถามสุดคลาสสิคของโลกการเงิน

เปลือกหอย ที่ดิน บ้าน ทองคำ ไวน์ เพชร เงิน สินทรัพย์แทบทุกอย่างเคยผ่านคำถามนี้มาหมดแล้ว

ปัจจุบันเมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล หนีไม่พ้นที่จะต้องตั้งคำถามเดียวกันกับสินทรัพย์ใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจอย่าง “คริปโต” จนทำให้เราต้องย้อนกลับไปคิดว่ามูลค่าของสินทรัพย์เกิดได้จากอะไร ได้เวลาเปิดโอกาสให้คริปโตแล้วหรือไม่ และในโลกดิจิทัล นักลงทุนควรปรับพอร์ตแบบไหน

เริ่มแรก ต้องตีความ มูลค่าก่อน โดยปกติมูลค่ามักเพิ่มหรือลดจากความชอบ (Preference) กับความหายาก (Scarcity) แต่อยู่ได้นานจากการใช้งานจริง (Utility

ความย้อนแย้งของมูลค่า (Paradox of Value) ถูกถกเถียงมาตั้งแต่อดีต นักปรัชญาชื่อดังอย่าง Adam Smith เคยเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าของ “น้ำกับเพชร” เห็นได้ชัดว่ามนุษย์เราไม่สามารถอยู่ได้ถ้าขาดน้ำ แต่เพชรกลับมีมูลค่ามากกว่าเพราะหายากและมนุษย์มีความชื่นชอบ

คิดในแบบเดียวกัน จึงไม่แปลกที่คริปโตจะมีมูลค่าเพิ่มจากความชื่นชอบ โดยเฉพาะในช่วงที่มนุษย์มีกิจกรรมในโลกดิจิทัลสูงขึ้น นอกจากนั้นก็มีความหายากเสมือน เช่นบิทคอยน์ที่มีจำนวนจำกัด หรือคริปโตที่มีเฉพาะบางตลาด

แต่มองในแง่การใช้งานจริง คริปโตยังเทียบมูลค่ากับสินทรัพย์อื่นไม่ได้

เช่น “บ้าน” ก็มีประโยชน์ใช้สอยที่ชัดเจนจึงมีมูลค่าในปัจจุบัน “เงิน” แม้จะไม่มีดอกเบี้ย แต่ก็มีมูลค่าจากความสามารถในการแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์อื่นได้อย่างรวดเร็ว ต่อให้เป็น “ไวน์ ทองคำ หรือเพชร” ก็ถือว่ามีเป้าหมายของการบริโภคในแบบของตัวเองเป็นพื้นฐาน

ส่วนฝั่งสินทรัพย์การเงิน แม้จะจับต้องไม่ได้แต่ “บอนด์” แลกเป็นเงินได้ง่าย มีความชอบหมุมเวียนเปลี่ยนไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ แค่ไม่ได้หายาก จึงมีความผันผวนของมูลค่าไม่มาก

ขณะที่ “หุ้น” แม้จะไม่สามารถรักษามูลค่าได้แน่นอน แต่ก็มีส่วนแบ่งทางธุรกิจเป็นความแตกต่างที่สามารถใช้งานได้จริง มูลค่าจึงปรับเปลี่ยนไปมาได้ในทุกยุคสมัย

ดังนั้น การจะตอบได้ว่าคริปโตจะสามารถรักษามูลค่าได้ในอนาคตไหม จึงต้องกำหนดก่อนว่าอนาคตของเราไกลแค่ไหน

เพราะต่อให้ไม่มีประโยชน์ มูลค่าก็สามารถเพิ่มขึ้นได้ถ้าสินทรัพย์นั้นยังมีความผันผวนเชิงบวก แต่ถ้าอนาคตเป็น “หลายปี” สินทรัพย์นั้นก็ควรมีมูลค่าที่เกิดจากการใช้งานจริงประกอบนั่นเอง

หลังจากที่วางหลักคิดแบบนี้ ก็ถามต่อได้ว่า เราควรให้โอกาสคริปโตแล้วหรืออยัง

สำหรับผม การมีคริปโตไม่ใช่เรื่องแปลกในพอร์ตระยะสั้นหรือเก็งกำไร แต่ในพอร์ตระยะยาวถ้าจะมีก็ต้องเลือกอย่างพิถีพิถันและให้ความสำคัญกับการใช้งานจริงที่คุ้มค่าเป็นหลัก

เพราะเป้าหมายการลงทุนไม่ใช่แค่การเพิ่มมูลค่า แต่ต้องรักษามูลค่านั้นไว้ให้ได้

โดยเราสามารถเปรียบเทียบมูลค่าส่วนเพิ่มคาดหวังต่อความผันผวน (Volatility Adjusted Net Benefit) ของการถือคริปโตกับสินทรัพย์ปกติแบ่งได้กว้าง ๆ สองแบบ

(1) มองคริปโตเป็นเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) หรือสินทรัพย์จริง (Real Asset) ข้อดีของคริปโตคือมีต้นทุนในการถือครองต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่ต้องกู้ ถ้าเลือกถูก ทุกสินทรัพย์มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูง เหมาะแก่การเก็งกำไร แต่สินค้าโภคภัณฑ์และสินทรัพย์จริง มักมีมูลค่าเพิ่มต่อความเสี่ยงที่ดีกว่า เนื่องจากมีความผันผวนราว 15-45%ต่อปี ขณะที่คริปโตมักมีความผันผวนสูงกว่า 60% ขึ้นไป

(2) มองแบบสินทรัพย์การเงิน (Financial Asset) ต้นทุนจะไม่ต่างกัน ในช่วงหลังคริปโตมีผลตอบแทนจากการถือ (Carry) ด้วยการเป็น liquidity provider เพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนนำมาใช้เปรียบเทียบกับดอกเบี้ยของบอนด์ หรือปันผลของหุ้นได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าต่อให้เป็น Stable coin ความเสี่ยงส่วนเพิ่มหรือ Risk premium จาก Decentralized ไม่ว่าจะเป็น Liquidity, Counterparty, Market, Operation ไปจนถึง Regulatory ไม่ได้ลดลง โดยในระยะยาวสินทรัพย์ที่มักรักษามูลค่าและกลายเป็นสินทรัพย์หลักได้ ควรมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ในระดับ 0.5-1.0 เท่าของความเสี่ยงที่ต้องรับ เช่นในกรณีบิทคอยน์ก็ควรถือในเวลาที่คาดว่าอนาคตอาจปรับตัวขึ้นได้อย่างน้อย 30-50% ต่อเนื่องในหลักปี

ทั้งหมดคือแนวคิดเบื้องต้นสำหรับการมองมูลค่าและเลือกสินทรัพย์เข้าพอร์ตเพื่อสะสมความมั่งคั่งของผม

สำหรับคริปโตหรือกิจกรรมการลงทุนใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นช่วงนี้ แน่นอนว่าเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนแ ต่ก็ต้องไม่ลืมเรื่องความเสี่ยง เพราะการสะสมมูลค่าไม่สามารถมองแค่จุดเริ่มต้น แต่ต้องคิดรวมไปถึงระยะเวลาและจุดจบ

จำไว้เสมอว่า สินทรัพย์ในโลกการเงิน อาจมีจุดตั้งต้นที่ต่างกันและเพิ่มมูลค่าได้ในแบบของตัวเอง แต่จุดจบจะเกิดขึ้นเหมือนกัน ในวันที่ตลาดมองว่าสินทรัพย์นั้นไม่สามารถรักษามูลค่าได้ในระยะยาว

162316368015