ทำไมมนุษย์กล้าเสี่ยงตาย

ทำไมมนุษย์กล้าเสี่ยงตาย

กีฬายอดฮิตในต่างประเทศที่เรียกว่า BASE Jumping มีคนตายไม่ต่ำกว่า 300 คนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คำถามก็คือทำไมถึงเล่นกีฬาที่เสี่ยงชีวิตขนาดนี้

หลังจากใคร่ครวญอยู่สักพัก เขาก็โดดลงจากหน้าผาและตกลงมา 1,500 เมตรในเวลาประมาณหนึ่งนาทีก่อนที่จะดึงร่มชูชีพ  และถ้าหากกางก็จะต้องลงในสถานที่โล่งซึ่งไม่ใช่กลางแม่น้ำ หรือยอดต้นไม้    กีฬายอดฮิตในต่างประเทศที่เรียกว่า BASE Jumping นี้มีคนตายไม่ต่ำกว่า 300 คนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา  คำถามก็คือทำไมถึงเล่นกีฬาที่เสี่ยงชีวิตขนาดนี้  ถ้าหาคำตอบได้ก็อาจเข้าใจมนุษย์ขึ้นบ้างกระมัง

                        BASE  มาจากคำว่า  Building-Antenna-Span-Earth ซึ่งหมายถึงการโดดที่เกี่ยวพันกับอาคาร   เสาอากาศ  สะพานเชื่อมและพื้นดิน   ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะการโดดร่มชูชีพ    สกายไดเวอร์นั้น   เขาโดดกันที่ความสูงประมาณ 13,000 ฟุต (4,115 เมตรและดึงร่มกางเมื่อถึงความสูงไม่ต่ำกว่า 2,000 ฟุต (610 เมตร)   แต่สำหรับ BASE นั้นโดดตั้งแต่ความสูง 200 ฟุต (60 เมตร) (สถิติโลกน้อยสุดคือ 95 ฟุต หรือ 29 เมตรจนถึงหมื่น  ฟุต   เวลาโดดจะใส่เสื้อผ้าที่เรียกว่า Wingsuit ซึ่งเมื่อดึงเชือกก็จะแผ่กระจายออกมาทำหน้าที่คล้ายร่มชูชีพ

                        หากอุปกรณ์เครื่องมือ  การคำนวณสถานที่หมาย  การลื่นล้มก่อนโดด  ฯลฯ  ผิดพลาดแม้แต่น้อยก็หมายถึงชีวิตอย่างแน่นอน  สำหรับการโดดปกติต้องดึงร่มอย่างรวดเร็วหลังการโดดประมาณหนึ่งนาที   ถึงแม้จะสุ่มเสี่ยงเพียงนี้แต่ก็มีคนเล่นกีฬาประเภทนี้นับหมื่น  คนในโลก   ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 30-40 ปี   มีอาชีพมั่นคง และมีฐานะดี เนื่องจากการฝึกฝน  อุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดจนค่าใช้จ่ายเดินทางนั้นสูง

                        สิ่งที่อาจเป็นเหตุผลแรกของการกระทำสิ่งที่กล้าเสี่ยงนี้ก็คือเพื่อเงินทอง  ซึ่งในอดีตกระทำเพื่อเป็นประสบการณ์มาเขียนหนังสือขาย หรือเก็บค่าดู    ค่าลิขสิทธิ์จากโทรทัศน์ (ผู้กล้าเสี่ยงตายที่มีชื่อเสียงมากคือ Evel Knievel นักขี่มอเตอร์ไซต์โลดโผนชาวอเมริกัน  ที่ดังสุดคือการ ขี่โดดข้ามภูเขาที่ Grand Canyon  เขาเสียชีวิตเมื่อมีอายุ 69 ปี จากการเจ็บไข้ซึ่งเป็นที่นิยมมากในยุคทศวรรษ 1960 และ 1970     ปัจจุบันพอมีการแสดงโลดโผนบ้าง หรือโชว์ใน Tiktok หรือ YouTube แต่ก็ได้รับค่าตอบแทนไม่มาก     ดังนั้นจึงไม่น่าจะใช่เหตุผล

                        ความเป็นไปได้ของเหตุผลที่สองคือเป็นผู้แสวงหา “ความมันส์” แบบโง่เขลา หรือเป็นไปตามวัยดังที่เรียกว่า Youthful Exuberance (เต็มไปด้วยพลังงาน  ความตื่นเต้นและความสนุกสนานของวัยหนุ่มสาวซึ่งก็ไม่น่าจะใช่อีกเพราะคนเหล่านี้อยู่ในวัย 30-40 ปี และแต่ละครั้งที่โดดจะมีการพิจารณาใคร่ครวญรายละเอียดในการโดดและความปลอดภัยเป็นอย่างมาก  

                        เหตุผลข้อที่สาม  เป็นไปได้หรือไม่ว่าพวกนี้เป็นพวกชอบเสพ adrenalin  ซี่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเพื่อเป็นปฏิกิริยาต่อสิ่งที่คิดว่าเป็นอันตราย หรือเป็นอุปสรรคต่อการอยู่รอด  กระแสเลือดจะไหลไปยังกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว  หัวใจสูบฉีดอย่างแรง   ม่านตาเปิดกว้าง  ฯลฯ   มีการกล่าวหาว่าเป็นพวกชอบความตื่นเต้น   ความหวาดเสียว  ฯลฯ  เป็นพวก adrenalin junkies (พวกเสพติด adrenalin)  โดยadrenalin ที่หลั่งออกมาและการหนีความตายได้เป็นสิ่งมีค่าทางใจสำหรับพวกเขา

                        ข้อนี้พอมีเหตุผลอยู่บ้างเพราะถ้ามันไม่เสี่ยงความตาย   ไม่มีความตื่นเต้นเหมือนเดินเข้าห้องน้ำ   พวกนี้คงไม่ยอมเสียเงินเสียทอง เสียเวลา และอาจไปถึงเสียชีวิตไปร่วมกิจกรรมอย่างแน่นอน

                        เหตุผลข้อที่สี่  คนเหล่านี้ภาคภูมิใจกับความสำเร็จในการอยู่รอด และมักนำมาเล่าให้ผู้อื่นฟังเพื่อสร้างความประทับใจ ดังนั้น อาจเป็นไปได้ที่พวกเขามีความสุขกับการเอาชนะความตายโดยจำเป็นต้องมีการโดดเสี่ยงตายเป็นราคาที่ต้องจ่าย (ถ้าไม่ยอม “จ่าย” ด้วยการโดด   พวกเขาก็ไม่ได้รับความภูมิใจกลับมา)

                        มีงานวิจัยที่พบว่าผู้ชายจะกล้าเสี่ยงตายมากขึ้นในยามที่มีเพศตรงข้ามเฝ้าดูอยู่มากกว่าในกรณีที่ไม่มี  เหตุผลทางวิชาการก็คือการแสดงความกล้าเป็นการส่งสัญญาณไปยังเพศตรงข้ามว่าเขามีความพร้อมทางจิตและมียีนที่พร้อมจะสืบสานให้ลูกหลานที่มีคุณภาพต่อไป (bungee jumping มาจากพิธีกรรมของอินเดียนแดงเมื่อเด็กเข้าสู่วัยหนุ่มก็เป็นการส่งสัญญาณแบบเดียวกัน)    อย่างไรก็ดีมีงานศึกษาในปี 2005 ว่าชายมักประเมินคุณค่าที่เพศหญิงให้แก่ความกล้าหาญเช่นนี้เกินความจริง

                        กล่าวโดยสรุป    เหตุผลที่พวกเขาร่วมกีฬาประเภทนี้น่าจะมาจากการต้องการความตื่นเต้นและความภาคภูมิใจที่เอาชนะความตายมาได้ด้วยความสามารถในการเตรียมความพร้อมและความสามารถในการโดด     นักกีฬาเหล่านี้บอกว่าความเสี่ยงมีอยู่ทุกขณะและทุกสถานที่   ไม่มีใครสามารถหนีความเสี่ยงไปได้     สำหรับพวกเขานั้นยอมเสี่ยงตายอย่างมีสติและมีการเตรียมพร้อมที่ดี

              นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบอกว่ามนุษย์ส่วนใหญ่นั้นมีลักษณะที่เรียกว่า risk-averse    กล่าวคือไม่ชอบความเสี่ยงอย่างมาก     ถ้าเป็นนักลงทุนก็เลือกที่จะได้ผลตอบแทนที่ต่ำ (ด้วยความเสี่ยงที่รู้จักกว่ากรณีที่ได้ผลตอบแทนสูงแต่ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงที่ไม่รู้จัก     ตัวอย่างเช่นเลือกที่จะฝากเงินในธนาคารมากกว่าที่จะเอาเงินไปลงทุนในกิจการที่ไม่คุ้นเคยแต่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า     อย่างไรก็ดีสำหรับบางคนที่ชอบเสี่ยงมาก  นั้นปรากฏการณ์ risk-averseใช้ไม่ได้กับพวกเขา

                        สิ่งที่น่าแปลกใจในเรื่องนักกีฬาประเภทนี้กับ risk-averse ก็คือ พวกเขาชอบที่จะฝากเงินในธนาคารแบบของตาย    ไม่ชอบความเสี่ยงจากการพนัน  และในยามนี้ใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกไปนอกบ้านเสมอ   ไม่น่าเชื่อว่าคนไม่กลัวตายขนาดนี้กลับกลัวความเสี่ยงจากการติดโรคโควิด-19 และการสูญเสียจากการพนัน     

            ภาพรวมดูจะเป็นว่ามนุษย์มีรสนิยมในการสู้ความเสี่ยงเฉพาะแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน   ตัวอย่างเช่นนักลงทุนมือดีและใจกล้าในตลาดหลักทรัพย์  มิได้กล้าที่จะเล่นการพนันเสมอไปเพราะพวกเขามองว่ามีความเสี่ยงมากอย่างต่างไปจากที่คนทั่วไปมอง  และเช่นกันนักการพนันใจกล้าก็ไม่กล้าเสี่ยงตายด้วยการขับรถเร็วและผิดกฎจราจร  รวมไปถึงไม่โดด BASE  Jumping ด้วย

                        ไม่มีบทสรุปชัดเจนว่าอะไรที่ชักนำให้นักกีฬา BASE กล้าเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายครั้งแล้ว       ครั้งเล่าแต่ไม่กล้าเล่นการพนัน   ไม่กล้าลงทุนการเงินในเรื่องที่หวือหวาให้ผลตอบแทนสูง และใส่หน้ากากอนามัยเสมอเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการติดโรคโควิด  

                        มนุษย์เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากที่สุด   ไม่มีใครที่เป็นสิ่ง  เดียว  ภายในตัวเรามีหลายคนอยู่และชอบที่จะขัดแย้งเห็นไม่ตรงกันอยู่บ่อย ๆ     การเข้าใจตัวเราเองอย่างถ่องแท้เป็นสิ่งที่ยากแต่ก็มิได้หมายความว่าเราจะสามารถละเลยไม่พยายามได้