โควิด-19 จำเป็นต้องห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์หรือไม่

โควิด-19 จำเป็นต้องห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์หรือไม่

ทั่วโลกมีนักดื่มร้อยละ 43 ของประชากรโลก (ราว2.3 พันล้านคน) คาดว่าปริมาณการดื่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มอีก 1.7 ลิตร/คน/ปีในปี 2568

ข้อมูลข้างต้นจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.), 2562

ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง "ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563" ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 30 (6) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีข้อสำคัญ คือ

“ข้อ 1 ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงหรือเป็นการดำเนินการใด ๆ ในลักษณะการเชิญชวนให้ซื้อ การเสนอขายหรือการขายสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภค โดยตรงด้วยการตลาดหรือบริการการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ขายและผู้บริโภคซื้อขายได้โดยไม่ต้องพบกัน…”

ซึ่งมีผลหากผู้ใดที่ฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญาคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งส่งผลกระทบไม่จำกัดอยู่เพียงตัวผู้บริโภคเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมของประเทศ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมทั้งในส่วนของการผลิต นำเข้า การจำหน่าย การโฆษณา และการบริโภค อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตบางประการสำหรับประกาศฯ ฉบับนี้ คือ

  1. ความจำเป็นในการออกประกาศฉบับดังกล่าว ตาม รธน.60 มาตรา 77 “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง”

กระบวนการในการออกประกาศฉบับดังกล่าว มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าการออกประกาศมายังขาดส่วนร่วมในการการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกับผู้ผลิต/ผู้ประกอบการรายย่อย และการค้าระหว่างประเทศ

รวมถึงในการควบคุมด้านโฆษณา ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งยังมีประเด็นปัญหาในการตีความหลายประการ โดยได้มีการตีความไปจนถึงการให้ข้อมูลสินค้าอย่างเช่นวัตถุดิบที่ใช้ การแสดงรูปของสินค้าว่าเข้าข่ายเป็นการโฆษณาด้วย จึงมีการดำเนินคดีกับการโพสต์ขายทางออนไลน์ เนื่องจากมองว่าเป็นการโฆษณาอยู่ในตัวอีกด้วย

อีกทั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตมาทำกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น การห้ามขายออนไลน์อาจจะส่งผลเบี่ยงเบนไปส่งเสริมให้เกิดการลักลอบขายที่มากขึ้น ซึ่งไม่อาจควบคุมหรือควบคุมได้ยากยิ่งขึ้น

2.ความไม่ชัดเจนของ “การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” ว่าคืออะไร และมีแนวทางในการนำไปบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างไร

ตามวัตถุประสงค์หลักของประกาศฉบับนี้ มองว่า ปัจจุบันมีวิวัฒนาการของการใช้เทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการและร้านค้าบางส่วน ใช้ช่องทางในการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ทำให้ยากต่อการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องวัน เวลา สถานที่ และบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย และลดผลกระทบอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีความจำเป็นในการออกประกาศเพื่อกำหนดเป็นมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มีมากมายหลายวิธี โดยหลักคืออยู่บนพื้นฐานช่องทางโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้จะนำมาซึ่งปัญหาในการให้ดุลพินิจในการตีความของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนเนื่องจากเป็นบทกำหนดโทษทางอาญา ซึ่งควรจะต้องตีความโดยเคร่งครัด

อีกทั้งอาจส่งผลต่อความยากในการรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับฝ่าฝืนประกาศฉบับดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นไปได้ยากหากไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ขายออนไลน์นั้นได้ และยากต่อการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องวัน เวลา สถานที่ และบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดด้วยเช่นเดิมถึงแม้จะมีประกาศฯออกมาก็ตาม

ตามสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้เขียนจึงมองว่ามีความจำเป็นต้องควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบออนไลน์อยู่ เพราะการควบคุมและจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์ต่อทั้งการลดลงของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัญหาที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะบางครั้งยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ โดยเฉพาะสินค้าแอลกอฮอล์ที่ไม่ใช่สินค้าธรรมดาเช่นนี้

ดังนั้น หากใช้วิธีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจนทั้งในด้านตัวบทกฎหมายและแนวทางในการบังคับใช้ อีกทั้งเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ อาจส่งผลตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ ของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย

อาจต้องมาพิจารณาในมุมมองการชั่งน้ำหนักระหว่างด้านเศรษฐกิจกับด้านสังคมให้เหมาะสม โดยอาจพิจารณาอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้แต่อยู่ภายใต้ข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งควรมีช่องทางให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การตรากฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากได้รับการยอมรับจากประชาชน.

บทความโดย กิตติยา พรหมจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์