ลดเจ็บตายทางถนนได้ หากไทยมีข้อมูลอุบัติเหตุที่ดีพอ

ลดเจ็บตายทางถนนได้ หากไทยมีข้อมูลอุบัติเหตุที่ดีพอ

สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทยยังคงน่าห่วง เฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุวันละ 56 คน หรือประมาณ 20,000 คนต่อปี

       แม้ว่าภาครัฐจะพยายามออกมาตรการต่างๆ มากมาย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็ยังไม่ลดลง ซึ่งเป็นไปได้ว่ามาตรการต่างๆที่ออกมายังไม่แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

การกำหนดนโยบายและทำให้มาตรการแก้ปัญหาได้ตรงจุด รัฐจำเป็นต้องมี ข้อมูลอุบัติเหตุที่ดีพอ และเป็นระบบ ครอบคลุมกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยลดลงได้

ในปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุถูกเก็บโดยหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บและการใช้ข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้ความหมายของข้อมูลที่เก็บมาแตกต่างกัน

เช่น “ความเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ” (traffic accident cost) สําหรับการทางคมนาคม กรมทางหลวง  หมายถึงความเสียหายในทรัพย์สินของกรมทางหลวงสำหรับกระทรวงสาธารณสุขหมายถึงค่ารักษาพยาบาล ขณะที่ความหมายของกรมบรรเทาสาธารณภัยหมายถึงความเสียหายในทรัพย์สินราชการ ทรัพย์สินส่วนตัว และค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

ข้อมูลลักษณะนี้ไม่สามารถเชื่อมโยงใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ และแม้ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเห็นปัญหาโดยได้บูรณาการรวบข้อมูล ผู้เสียชีวิตจากข้อมูล 3 ฐาน ได้แก่ 1) ข้อมูลจากมรณบัตรและหนังสือรับรองการตายที่เป็นระบบลงทะเบียนการตายของผู้เสียชีวิตทุกรายที่มีการแจ้งตาย 2) ข้อมูลจากระบบ POLIS เป็นระบบบันทึกข้อมูลคดี และ 3) ข้อมูลจากระบบ E-Claim เป็นระบบบันทึกข้อมูลสำหรับเบิกจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนที่ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์

ข้อดี คือ ทำให้มีข้อมูลการตายที่มีความครอบคลุมมากที่สุด แต่ข้อมูลดังกล่าวมีเฉพาะข้อมูลการเสียชีวิต ยังขาดการเก็บข้อมูลจำนวนผู้บาดเจ็บและสิ่งสำคัญคือ สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่รวมถึงพฤติกรรมผู้ขับขี่ด้วย

เมื่อประเทศไทยกำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ การมีข้อมูลที่ครอบคลุมครบถ้วนเพื่อทำความเข้าใจสาเหตุอุบัติเหตุทางถนนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อให้เกิดการวางแผนการดำเนินงานและการลงทุนในมาตรการลด-ป้องกันอุบัติเหตุมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล

เพื่อศึกษาและทดสอบการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ถูกจัดเก็บโดยรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงร่วมกับสมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย (Asia Transportation Research Society: ATRANs) ศึกษา เรื่อง การวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูลอุบัติเหตุ (Understanding and Analyzing the Accident Data) โดยรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากสถานีตำรวจ โรงพยาบาล และหน่วยงานในท้องถิ่น ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์หาปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนน

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุโดยทั่วไปมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ คน รถ ถนน แต่จากตัวอย่าง 833 ตัวอย่างที่ศึกษา พบว่า ปัจจัยหลักของอุบัติเหตุทางถนนมาจากองค์ประกอบด้านถนน โดยพิจารณาจากข้อมูลที่มี คือการมีอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ความลาดชันของถนน ป้ายเตือน และสัญลักษณ์บนถนน ตามลำดับ และมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลตามมา โดยมีสภาพผิวถนนและสภาพอากาศที่ส่งผลต่อความรุนแรงของอุบัติเหตุ

อย่างไรก็ตามงานศึกษานี้พบข้อจำกัดด้านข้อมูล เนื่องจากจำนวนตัวอย่างมีข้อมูลอุบัติเหตุที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะข้อมูลพฤติกรรมที่มีน้อย จนทำให้ไม่สามารถนำปัจจัยด้านตัวคนหรือพฤติกรรมการขับขี่ที่เป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ร่วมกับ 2 ปัจจัยข้างต้น รถและถนนได้

หากมีการแก้ไขปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้รถที่ดีเพียงพอ และทำให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ จะนำไปสู่การค้นพบปัจจัยสำคัญอื่นเพิ่มเติมซึ่งย่อมมีผลต่อการกำหนดนโยบายเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น

โดยสรุป การเชื่อมโยงข้อมูลอุบัติเหตุไว้ในระบบและมาตรฐานเดียวกันถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้กระบวนการทำงานและการกำหนดนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แม้ปัจจุบันกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหน้าที่เป็นหัวเรือในการเชื่อมโยงและพัฒนาระบบข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน เช่น ข้อมูล 3 ฐาน แล้ว แต่ข้อมูลยังไม่ครอบคลุม และยังติดปัญหามาตรฐานหรือการให้ความหมายต่อข้อมูลแต่ละรายการไม่เหมือนกันดังที่กล่าวข้างต้น รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่แต่ละหน่วยงานกังวล ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่ให้ข้อมูลระหว่างกัน

ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้มีทางออก โดยอาศัยกลไก e-government ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2561 มาขับเคลื่อน

เนื่องจากตามอำนาจหน้าที่ของ DGA สามารถกำหนดมาตรฐานข้อมูล ดึงข้อมูล และส่งเสริมการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ ทั้งในด้านความรู้และงบประมาณ หากให้ DGA เข้ามาเป็นตัวกลางที่ช่วยให้หน่วยงานที่เก็บข้อมูลอุบัติเหตุสามารถเชื่อมข้อมูลกันได้ง่ายขึ้น เพื่อให้แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีข้อมูลครบถ้วนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ การบาดเจ็บ การรักษา ลักษณะที่เกิดเหตุ สภาพสิ่งแวดล้อม และค่าเสียหาย เป็นต้น ให้อยู่ในระบบเดียวกันตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล

จะส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายรู้ถึงสาเหตุของอุบัติเหตุที่ครบถ้วน ถูกต้อง เพื่อปัญหาอุบัติเหตุได้รับการแก้ไขได้อย่างตรงจุด มีโอกาสป้องกันและลดอุบัติทางถนนได้ดียิ่งขึ้น.

บทความโดย จิตรเลขา สุขรวย

  162143962931