อนุรักษ์เกาะนก แหล่งกักเก็บคาร์บอน-ผลิตออกซิเจนที่สำคัญ

อนุรักษ์เกาะนก แหล่งกักเก็บคาร์บอน-ผลิตออกซิเจนที่สำคัญ

การอนุรักษ์เกาะนก ภายในอุทยานสิ่งแวดล้อมฯสิรินธร สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

       “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร สีเขียว ด้วยพระบารมี” ซึ่งตั้งอยู่ที่ค่ายพระรามหก จังหวัดเพชรบุรี มีป่าชายเลนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์และผลิตออกซิเจน มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และสร้างเสริมจิตสำนึกให้แก่เยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว ในการฟื้นฟู ดูแล และรักษาระบบนิเวศโดยใช้หลักวิชาการที่เหมาะสมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ TBCSD: Thailand Business Council for Sustainable Development เล็งเห็นถึงความสำคัญของแหล่งธรรมชาติผืนนี้ จึงได้ร่วมมือกับองค์กรสมาชิก TBCSD สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ริเริ่มโครงการร่วมกับอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร มาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพื้นที่นี้เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติที่มีชีวิตและเป็นแหล่งอาหารของนก  ด้วยการร่วมกันปลูกต้นไม้ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่หลากหลายชนิดพันธุ์ บนพื้นที่ประมาณ 6.25 ไร่ บนเกาะนก

162083366066

 การติดตามผลในปี 2564 พบว่า มีพันธุ์ไม้จำนวน 22 ชนิด ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบมากที่สุด คือ ต้นมะขาม รองลงมา คือ ต้นโมกมัน และต้นนนทรี ตามลำดับ อายุเฉลี่ยของต้นไม้ 10 ปี (พ.ศ. 2554 - 2564) เส้นรอบวงเฉลี่ยของต้นไม้เท่ากับ 32.73 เซนติเมตร ความโตทางเส้นผ่านศูนย์กลางที่ระดับอกเฉลี่ย (DBH) เท่ากับ 10.42 เซนติเมตร ชนิดพันธุ์ที่มีเส้นรอบวงและเส้นผ่านศูนย์กลางที่ระดับอกเฉลี่ยมากที่สุด คือ ต้นมะขามเทศ รองลงมา คือ ต้นจามจุรี และต้นกร่าง ตามลำดับ

ส่วนการประเมินมวลชีวภาพรวมของต้นไม้ทั้งหมดในพื้นที่ศึกษา พบว่ามีปริมาณ 17,467 กิโลกรัม (17 ตัน) ปริมาณคาร์บอนสะสม 8,733 กิโลกรัม (9 ตันคาร์บอน) ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่ากับ 32,023 กิโลกรัม (32 ตันคาร์บอนไดออกไซด์) รวมทั้งสามารถผลิตออกซิเจนได้เท่ากับ 23,289 กิโลกรัม (23 ตันออกซิเจน)

เห็นได้ว่าป่าชายเลนผืนนี้มีบทบาทสำคัญในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยังช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจนให้กับสิ่งแวดล้อม อันเป็นผบจากการร่วมแรงร่วมใจในการช่วยรณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการปลูกป่าชายเลนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก (INDCs) ภายหลังปี 2563 ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกจากทุกภาคส่วน (Economy-Wide) ที่ร้อยละ 20-25 หรือไม่น้อยกว่า 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการดำเนินงานในกรณีปกติ ภายในปี 2573

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดีและเป็นกำลังให้กับภาคส่วนที่เกี่วข้อง ซึ่งต่างทุ่มเทและทำงานเพื่อการอนุรักษ์เกาะนกมาอย่างต่อเนื่อง และยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน (Public Private People Partnership) ในการอนุรักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติบนฐานด้านวิชาการ ข้อมูล การติดตามผล และพัฒนางานให้มีความยั่งยืน ซึ่งมีโอกาสขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น.

เรียบเรียงโดย: สุพรรณิภา หวังงาม สำนักเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TBCSD)