หงส์ดำ หรือ แรดเทา - ความเสี่ยงที่ห้ามละเลย

หงส์ดำ หรือ แรดเทา - ความเสี่ยงที่ห้ามละเลย

มีสัตว์ที่สำคัญสองตัวที่มักจะถูกนำมากล่าวเปรียบเปรยในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ นั้นคือหงส์ดำ (Black Swan) หรือ แรดเทา (Grey Rhino)

         อีกทั้งยังมีข้อถกเถียงอภิปรายกันเสมอว่าเหตุการณ์โควิดที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็น Black Swan หรือ Grey Rhino กันแน่ แต่ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ตัวไหนก็ถือเป็นบทเรียนในการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญ

        เรื่องของ Black Swan นั้นมีมาตั้งแต่สมัยโรมันแล้ว และใช้เปรียบเปรยหมายถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากในอดีตนั้น คนส่วนใหญ่จะคิดว่าถ้าเป็นหงส์แล้วจะต้องสีขาว ดังนั้นหงส์ดำจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่มี จนกระทั่งปี ค.ศ. 1697 ถึงได้เริ่มมีการพบหงส์สีดำขึ้นจริงๆ ในออสเตรเลีย การเปรียบเปรยหงส์ดำก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปจากสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ กลายเป็นสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้หรือไม่มีทางเกิดขึ้นนั้น สุดท้ายก็เป็นไปได้

        ผู้ที่ทำให้แนวคิดของ Black Swan โด่งดังคือ Nassim Taleb ที่นำแนวคิดเรื่อง Black Swan มาใช้ในหนังสือที่เขาเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Black Swan ซึ่ง Taleb มองว่าการค้นพบที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์ เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่เป็น Black Swan นั้นคือไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะมีหรือเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้น

        Taleb ระบุว่าเหตุการณ์จะเป็น Black Swan ได้จะต้องมีลักษณะ 1. เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ข้อมูลในอดีตไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น 2. มีผลกระทบที่รุนแรง และ 3. ถึงแม้จะไม่ได้คาดคิดมาก่อน แต่สุดท้ายเมื่อเกิดขึ้นแล้วเมื่อมองย้อนกลับไปก็จะหาเหตุผลที่จะอธิบายการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ดังกล่าวได้

        สำหรับโควิด Taleb บอกว่าไม่ใช่ เพราะมีการคาดการณ์และพยากรณ์ถึงโรคระบาดใหม่ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว

        แรดเทาหรือ Grey Rhino นั้นเป็นอีกหนึ่งสัตว์ที่ถูกนำมาเปรียบเปรย โดยมาจากหนังสือของ Michele Wucker ชื่อ The Gray Rhino ซึ่งอ้างว่าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่ขายดีที่สุดในจีน อีกทั้งยังระบุว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่ประธานาธิบดีของจีนอ้างถึงและเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของจีนอีกด้วย

        แรดเทาถูกเปรียบเปรยถึงเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้สูง และมีผลกระทบสูง แต่มักจะถูกละเลย Grey Rhino นั้นไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนเหมือน Black Swan แต่จะมีสัญญาณเตือนมาเป็นระยะๆ เพียงแต่ผู้นำหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็มักจะละเลยหรือไม่สนใจต่อสัญญาณเตือนเหล่านั้น ถ้านึกภาพชัดๆ ก็เหมือนกับเห็นแรดสีเทาตัวใหญ่ที่มีนอแหลมชี้พุ่ง เป็นสัตว์ตัวใหญ่ที่อาจจะมีอันตรายได้ แต่หลายครั้งก็มักจะถูกละเลยหรือไม่สนใจต่ออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

        เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่เป็น Grey Rhino นั้น ทาง Wucker ระบุว่าปฏิกิริยาตอบสนองที่จะเกิดขึ้นนั้นมีอยู่ 5  ประการ

1. ปฏิเสธ ไม่ยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้น

2. เริ่มยอมรับว่ามีปัญหา แต่ก็ยังไม่สนใจแก้ไข และชอบหาเหตุผลที่จะมาอธิบายว่าทำไมถึงไม่หาทางแก้ไข

3. ยอมรับอย่างชัดเจนว่ามีปัญหาด่วนและสำคัญที่ต้องแก้ไข ในขั้นนี้จะเริ่มหาทางแก้ไขปัญหา

4. ตื่นตกใจ

5. มีแผนและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

        เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดรอบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในไทย) ก็ชี้ชัดเจนว่าเป็น แรดสีเทา และยิ่งเมื่อดูปฏิกิริยาทั้งของประชาชนทั่วไปและผู้ที่รับผิดชอบก็จะคล้ายกับสิ่งที่ Wucker ระบุ (หวังว่าตอนนี้อยู่ในขั้นที่ 5 แล้วนะ)

        ไม่ว่าจะอย่างไรแนวคิดเรื่องของ Black Swan และ Grey Rhino เป็นแนวคิดที่สำคัญสำหรับผู้บริหารในการเตรียมรับกับความเสี่ยงในอนาคต องค์กรต่างๆ ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่หรือจะเกิดขึ้นหรือยัง? (Black Swan) และเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่เริ่มเห็นแนวโน้มหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นหรือยัง? (Grey Rhino).