มารู้จักเงื่อนไข'ส่วนร่วมจ่าย'-'ความรับผิดส่วนแรก' ของประกัน

มารู้จักเงื่อนไข'ส่วนร่วมจ่าย'-'ความรับผิดส่วนแรก' ของประกัน

ในช่วงสถานการณ์ที่ COVID-19 ระบาดอยู่อย่างนี้ ก็ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องประกันตามขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกันภัย COVID-19 

แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางการเงินจากการเจ็บป่วยหาได้มีแต่เพียงโรค COVID-19 แต่ยังมีอีกหลายๆ โรคที่สามารถเกิดขึ้นและกระทบต่อสถานะทางการเงินได้มาก โดยที่ถึงแม้เราอาจจะมีสวัสดิการการรักษาจากภาครัฐติดตัวอยู่ทุกคนแล้วก็ตาม แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรครับ ว่าในอนาคตข้างหน้าที่ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้วนั้น สวัสดิการที่เรามีจะเพียงพอ วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าเรื่องนี้ให้ทุกท่านฟังครับ


“ประกันภัย COVID-19 นั้นเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการปกป้องสถานภาพการเงินของเรา ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ระบาด แต่ช่วงชีวิตที่เหลือ ของเรานั้น ประกันสุขภาพ ถือเป็นเครื่องมืออีกตัวหนึ่งที่เราทุกคนควรจะมีติดตัวไว้ครับ โดยที่ประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับตัวเรา ก็คือประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองค่าใช้จ่ายเพียงพอในจ่ายค่ารักษา ในระดับคุณภาพที่เราพึงพอใจครับ เช่น หากเรา พึงพอใจในการนอนโรงพยาบาลเอกชน ที่มีค่าใช้จ่ายต่อวันที่ 10,000 บาท ก็ควรเลือกซื้อประกันสุขภาพที่สามารถจ่ายค่ารักษาต่อวันที่ 10,000 บาทได้ครับ 

และแน่นอนครับ ประกันที่มีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่สูงก็ย่อมมีค่าเบี้ยประกันภัยที่สูงตามไปด้วย หากเรารู้สึกว่าเบี้ยที่ต้องจ่ายนั้นแพงเกินไป นอกจากจะปรับแผนประกันลงแล้วนั้น ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้การจ่ายเบี้ยประกันได้ถูกลง โดยการใช้ วิธีร่วมจ่าย (CO-PAYMENT) และ รับผิดส่วนแรก (DEDUCTIBLE) นั่นเองครับ โดยการใช้วิธีร่วมจ่ายหรือรับผิดส่วนแรก นั้นจะช่วยให้ลดค่าเบี้ยประกันลงไปได้ถึง 20%-50% เลยทีเดียว 

ลักษณะของ ประกันสุขภาพแบบมีส่วนร่วมจ่าย (CO-PAYMENT) คือการที่ ประกันจะมีการระบุว่า ในการเข้ารับการรักษาแต่ละครั้งนั้น ทางผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายเป็นกี่% ของค่ารักษาทั้งหมด เช่น แบบประกันระบุไว้ว่าเป็น CO-PAYMENT 20% หมายความว่า หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยมียอดค่ารักษาอยู่ที่ 100,000 บาท ทางผู้ป่วยจะต้องออกเงินเองเป็นจำนวน 20,000 บาท และทาง ประกันจะออกในอีก 80,000 บาทที่เหลือ ทุกครั้งที่มีการเข้ารับการรักษาใน รพ. 

และในส่วน ของประกันแบบมีการรับผิดส่วนแรก (DEDUCTIBLE) นั้นจะเป็นประกันที่มีการระบุว่า ในแต่ละปีกรมธรรม์ ประกันจะจ่ายเงินค่ารักษาให้ หากว่าผู้ป่วยมีการรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเองไปแล้วเท่าไร เช่น ประกันสุขภาพ แบบ DEDUCTIBLE 30,000 บาท นั้น หาก ผู้ป่วย เข้ารับการรักษาพยาบาล 100,000 บาท ทางบริษัทประกันจะจ่าย 70,000 บาท และผู้เอาประกันรับผิดชอบ 30,000 บาทแรก ต่อการเจ็บป่วยของโรคนั่นๆในแต่ละปีกรมธรรม์ 

การเลือกซื้อประกันสุขภาพแบบ CO-PAYMENT และ DEDUCTIBLE นั้นจะเหมาะสำหรับผู้ทำประกันที่เดิมมีประกันอยู่แล้ว โดยอาจจะเป็นประกันเดิมที่ซื้อด้วยตัวเองหรือ ประกันที่ทางนายจ้างทำให้ แล้วอยากได้ความคุ้มครองที่มากขึ้นนั่นเอง การจะเลือกว่าควรจจะซื้อประกันแบบ CO-PAYMENT หรือ DEDUCTIBLE นั้นต้องเข้าใจข้อดีข้อเสียของทั้ง 2 แบบเสียก่อน 

โดยข้อแตกต่างของทั้ง 2 แบบก็คือ CO-PAYMENT นั้นมักจะให้ส่วนลดที่สูงกว่าแบบ DEDUCTIBLE แต่ก็จะต้องแลกกับการมีค่าใช้จ่ายในทุกครั้งที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายจะไม่เท่ากันในแต่ละครั้งด้วย (Variable Cost) ซึ่งต่างจาก DEDUCTIBLE ที่ผู้ป่วยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพียงแค่ในครั้งแรกของปีกรมธรรม์นั้นๆ (Fixed Cost)  จากความแตกต่างตรงนี้ ผู้เอาประกันต้องลองวางแผนดูก่อนครับว่า หากเราป่วยเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล เราจะเข้ารักษาที่โรงพยาบาลอะไร จะมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร ตัวอย่างเช่นประกันเดิมเราสามารถจ่ายค่ารักษาได้สูงสุดที่ 30,000 บาทต่อปี หากเราเจ็บป่วยที่มีค่ารักษา 200,000 บาท การเลือกแบบ CO-PAYMENT นั้นเราจะสามารถใช้ประกันสุขภาพเดิมที่มีอยู่ออกให้ได้ 30,000 บาทและจะต้องออกเองอีก 10,000 บาท (20%ของ200,000 บาท) แต่หากเป็นแบบ Deductible 30,000 บาท เราจะไม่ต้องออกเงินเอกเลย เพราะ 30,000 บาทแรกนั้นสามารถใช้วงเงินของประกันสุขภาพเดิมที่มีอยู่ได้นั่นเองครับ 

และสุดท้ายนี้ นอกจากความเข้าใจในเรื่องการเงิน จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับเราแล้ว สุขภาพกายที่ดี สุขภาพใจที่ดี ก็จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันทางร่างกายและจิตใจให้กับเราด้วยครับ ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างปลอดภัย แข็งแรงทั้งกายและใจครับ”