รวมพลังทั้งสังคม แก้วิกฤตร่วมกัน

รวมพลังทั้งสังคม แก้วิกฤตร่วมกัน

โควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาอีกครั้ง วิกฤตครั้งใหม่นี้นับเป็นภัยคุกคามที่มีผลกระทบสูงมาก

        วิกฤตการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ เสมือนเป็นลูกไฟที่ตกกระจายแพร่เชื้อในวงกว้างไปทั่วประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 พันคนต่อวัน จนมีความกังวลและตื่นตระหนกถึงขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขว่าจะรับมือไม่ไหวและเกิดภาพเลวร้ายเหมือนเช่นในประสบการณ์ของต่างประเทศ

        สถานการณ์ในระดับโลกปัจจุบัน วิกฤตโควิด-19 มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวดีคือการค้นพบวัคซีนและมีการกระจายฉีดวัคซีนให้ประชาชนจำนวนมากในหลายประเทศ จนทำให้ประเทศอิสราเอลกลายเป็นประเทศที่กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ สหราชอาณาจักรมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมากจนมีผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่าประเทศไทย  ประเทศจีนมีเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้ที่เติบโตขึ้นอย่างมาก และมีอีกหลายประเทศที่เริ่มเร่งเครื่องยนต์ของประเทศอีกครั้ง เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม ทั้งเพื่อฟื้นฟูสังคม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่อนาคต ส่วนข่าวร้ายก็คือเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อครั้งใหญ่ของหลายประเทศโดยเฉพาะอินเดียและบราซิล และความกังวลในผลกระทบข้างเคียงในระยะสั้นและระยะยาวจากวัคซีนแต่ละประเภท

สำหรับประเทศไทย วิกฤตครั้งนี้ได้เปิดให้ทุกฝ่ายเห็นจุดเปราะบางในหลายเรื่องของประเทศ ทั้งธุรกิจสีเทาที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอิทธิพล การหย่อนยานในมาตรการดูแลสถานการณ์โควิดทั้งจากภาครัฐและประชาชนในบางกลุ่ม นโยบายการรับมือวิกฤตที่ขาดเอกภาพและขาดการตัดสินใจที่เด็ดขาด การสื่อสารที่ล้มเหลวและไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ ปัญหาการทำงานที่ขาดบูรณาการ และปัญหาความแตกแยกทางการเมืองที่ทำให้ไม่มีทุนความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่จะรับฟังและทำงานร่วมกัน จึงทำให้ซ้ำเติมความเปราะบางและความบอบซ้ำของประเทศและประชาชนจากผลกระทบในปีก่อน ที่สำคัญคือการทำให้ความฝันที่เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่การฉีดวัคซีนในวงกว้าง การเปิดประเทศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้กลับคืนมาอีกครั้งทอดระยะออกไปอีกนานขึ้น

 

ประเทศไทยมีจุดแข็งหลายอย่าง ทั้งระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ประชาชนส่วนใหญ่ร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ และเราเคยทำสำเร็จกันมาในทุกวิกฤตที่เคยเกิดขึ้น สำหรับวิกฤตในครั้งนี้มี 5 เรื่องที่ผู้นำและทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน

(1) ปรับการสื่อสารนโยบายให้เป็นเอกภาพและชัดเจน ผู้นำควรมีการสื่อสารที่ชัดเจนเป็นเอกภาพมากขึ้นในภาวะวิกฤต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ตอบโจทย์ที่ประชาชนกังวลอยู่ในใจ แสดงให้เห็นว่าผู้นำอยู่ร่วมและเข้าใจในวิกฤตเดียวกันนี้กับประชาชน มีแผนเตรียมการไว้เป็นขั้นเป็นตอนเรียบร้อยล่วงหน้า พร้อมแสดงให้เห็นความหนักเบาของนโยบายและมาตรการที่จะนำมาใช้ในแต่ละช่วงของวิกฤต เพื่อเป็นแนวทางประกอบการปรับตัวของเอกชนและประชาชน ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐควรฉายภาพสถานการณ์ให้ชัดเจนมากขึ้น พร้อมสร้างความเข้าใจถึงเกณฑ์การตัดสินใจเชิงนโยบายของภาครัฐที่จะนำไปสู่ฉากทัศน์ต่างๆ เช่น เกณฑ์ในการปิดเมืองในบางพื้นที่ แนวทางการจัดหาและกระจายวัคซีนที่ชัดเจน งบประมาณและมาตรการการให้ความช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และโรดแมปที่จะเดินหน้าไปสู่การคลี่คลายของวิกฤตในครั้งนี้

(2) ให้ความสำคัญสูงสุดกับการจัดหาและกระจายวัคซีน วัคซีนเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ การจัดการและควบคุมธุรกิจสีเทา ธุรกิจใต้ดิน และการเคลื่อนย้ายคนจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมายยังเป็นเรื่องยากจะบริหารจัดการได้อย่างทั่วถึง ซึ่งหากมีเพียงไม่กี่เคสเกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้วิกฤตนี้ไม่จบสิ้นลงไปได้ และเสียงบประมาณอีกมหาศาลในการจัดการ

(3) สร้างพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกันระหว่างเอกชน รัฐ ประชาชน พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนถึงปัญหาและข้อเสนอแนะจากสังคมเพื่อช่วยกันบริหารจัดการวิกฤต ปรับท่าทีในการรับฟัง ให้คุณค่ากับทุกเสียง กลั่นกรองข้อเสนอแนะดีๆ อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างทางความคิด สร้างให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในการร่วมพลังทั้งประเทศเพื่อช่วยกันแก้ไขวิกฤต

(4) เร่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในวิกฤต เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาฉุกเฉินในปัจจุบันและรับมือกับวิกฤตระลอกหน้าที่ยังอาจเกิดขึ้นอีก เช่น เร่งพัฒนาระบบลงทะเบียนแห่งชาติเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาในช่วงวิกฤตสำหรับเป็นแพลตฟอร์มเพื่อช่วยเหลือในช่วงวิกฤตได้ทันทีและตรงจุดโดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำซ้อนหลายรอบ ตลอดจนเร่งช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตให้ธุรกิจเอกชน เช่น ชะลอเวลาการชำระภาษี ชะลอการชำระหนี้ ลดค่าไฟฟ้าและสาธารณูปโภค ลดค่าเช่าพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่อง ผ่อนปรนเกณฑ์การปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยเหลือในการจ้างแรงงาน อุดหนุนการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ช่วยเหลือธุรกิจในการปรับตัวสู่เศรษฐกิจใหม่ผ่านการให้กู้เงินอย่างมีเงื่อนไข เป็นต้น

(5) เตรียมมาตรการเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต ทุกฝ่ายควรเตรียมตัวอย่างยืดหยุ่นเพื่อรองรับฉากทัศน์อนาคตที่อาจเกิดขึ้น ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ควรคิดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเผื่อไว้ล่วงหน้า และเตรียมแนวทางของแต่ละฝ่ายไว้ และร่วมกันเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรสาธารณสุขและทุกฝ่ายที่กำลังรับมือกับวิกฤตระลอกใหม่นี้.

บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/