กลับมาเช็คคำทำนาย

กลับมาเช็คคำทำนาย

กว่า 15 เดือน หลังจากการเกิดขึ้นของ COVID-19 ซึ่งในช่วงการระบาดรอบแรก ที่ผู้คนวิตกกังวลกับโรคที่เกิดขึ้นใหม่และไม่มีใครคาดเดาได้

ผู้เขียนได้ลองวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงผลกระทบหลังวิกฤตโรคระบาดแห่งศตวรรษผ่านพ้นไป ทั้งในภาพระยะยาวและระยะสั้น มาในปัจจุบัน การระบาดของโรค COVID-19 ยังไม่หมดและกลับมารุนแรงอีกครั้งหนึ่งผู้เขียนจึงขออนุญาตนำมาเปรียบเทียบกับมุมมองที่เคยมองไว้ ว่าถูกหรือผิดประการใด และมีมุมมองใดที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนธุรกิจในอนาคต โดยแบ่งเป็นระยะยาวและสั้น

 ในส่วนของภาพระยะยาว ผู้เขียนขอสรุป 3 ประการ อันได้แก่ ภาพต่อเศรษฐกิจโลกและการใช้จ่ายของประชาชน ภาพต่อภาคการเงินและนโยบายการเงิน ภาพต่อภาคการคลัง 

ในส่วนของเศรษฐกิจโลก ผู้เขียนเคยมองว่าเศรษฐกิจจะยิ่งโตต่ำลงจาก (1) หนี้ที่จะยิ่งมากขึ้น (2) จากภาคเอกชนที่หันมาเน้นความต่อเนื่องในการผลิตมากขึ้น และ (3) จากผู้คนที่ประหยัดมากขึ้น จึงจะเก็บออมเงินมากขึ้นและใช้จ่ายน้อยลง

 

เมื่อมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าถูกและผิด ที่ผิดคือหลายสำนักวิจัยมองว่า หลังการเปิดเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว จะเห็นความต้องการ (Demand) ที่ถูกอั้นไว้จากช่วงปิดประเทศ ทำให้ผู้คนหันมาจับจ่ายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวมหาศาล

 

อย่างไรก็ตาม ในการทำแบบสอบถามของหลายสำนักวิจัย พบว่ากว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินของประเทศเจริญแล้ว มีแนวโน้มที่จะเก็บออมเงินไว้มากกว่า เพราะกังวลในภาวะเศรษฐกิจและภาระภาษีที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

ในส่วนของนโยบายการเงิน ผู้เขียนเคยมองว่าทิศทางดอกเบี้ย รวมถึงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายทั่วโลกยังคงต้องต่ำไปอีกนาน เนื่องจากหากรีบปรับเพิ่มขึ้นโดยที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เศรษฐกิจจะเผชิญต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นและหดตัวอีกครั้ง ขณะที่ภาพในปัจจุบันต้องกล่าวว่าทั้งผิดและถูก ที่ผิดคือตลาดเริ่มเก็งว่าจะต้องลดทอนการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากธนาคารกลางสำคัญ (โดยเฉพาะสหรัฐ) ยังคงบ่งชี้ว่าดอกเบี้ยยังคงต้องอยู่ระดับต่ำอีกนาน จนกว่าเศรษฐกิจจะมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างถาวร ทำให้ผู้เขียนมองว่า ดอกเบี้ยน่าจะยังต้องอยู่ในระดับต่ำไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปีในสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยในตลาดเกิดใหม่ไม่สามารถปรับขึ้นได้อย่างน้อยอีก 5 ปี ข้างหน้า

 

ในส่วนของนโยบายการคลัง ผู้เขียนเคยมองว่า หลังจากวิกฤตนี้ผ่านพ้นไป ภาครัฐจะพยายามขึ้นภาษี เช่นเดียวกับในยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่ระดับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดเคยขึ้นไปถึงระดับ 90% ในทศวรรษที่ 50-60

 

ในประเด็นนี้ อาจกล่าวได้ว่าถูกต้อง เพราะข้อเสนอของประธานาธิบดีไบเดนก็เสนอขึ้นภาษีชัดเจน ทั้งเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% บุคคลธรรมดาจาก 37% เป็น 39.6% และภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital gain tax) จาก 20% เป็น 39.6% เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าการขึ้นภาษีในระดับดังกล่าวอาจไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีของสหรัฐจะเป็นชนวนทำให้ทั่วโลกอาจต้องเริ่มปรับขึ้นภาษีตาม

 

ในส่วนของคำทำนายระยะสั้น (ภายในปีนี้) ผู้เขียนได้กล่าว 5 คำทำนาย ดังนี้

 

  1. วัคซีนจะมาช้า โดยเคยคาดการณ์ว่าการอนุมัติและการฉีดให้กับประชาชนจะล่าช้า ปรากฎว่า ภาพในปัจจุบันสถานการณ์แย่กว่าที่ผู้เขียนเคยมองไว้ โดยเคยคาดว่าสิ้นไตรมาสที่ 1 จะมีการฉีดทั้งโลกกว่า 1.1 พันล้านโดส แต่ปัจจุบันเพิ่งฉีดได้ประมาณ 1 พันล้านโดสเท่านั้น และสถานการณ์ที่ผู้เขียนกังวล เช่น สงครามวัคซีน หรือการที่ประเทศพัฒนาแล้ว "กั๊ก" วัคซีนไว้ก่อน ไม่ส่งให้กับประเทศกำลังพัฒนา ก็กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นไปได้ที่จะเร่งฉีดวัคซีนในครึ่งปีหลัง ทำให้ปริมาณวัคซีนที่ฉีดในปีนี้คือ 6.4 พันล้านโดส ครอบคลุม 2.4 พันล้านคน หรือ 1/3 ของประชากรโลกตามที่ผู้เขียนเคยคาด

 2. เศรษฐกิจโลกจะฟื้นไม่เท่ากัน โดยเศรษฐกิจต่าง ๆ จะฟื้นตัวช้าเร็วเพียงไรขึ้นอยู่กับวัคซีนเป็นหลัก โดยขึ้นอยู่กับ (1) จำนวนผู้ติดเชื้อและการได้รับวัคซีน (2) การพึ่งพิงภาคท่องเที่ยวและบริการ (3) ภาคเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ โดยหากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ จะอ่อนแอ/ ฟื้นตัวช้ากว่า

 

ภาพปัจจุบันเป็นไปอย่างที่ผู้เขียนมอง ประเทศที่ฉีดวัคซีนเร็ว เช่น สหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดเจน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยก็ลดน้อยลง ส่วนประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ฉีดวัคซีนล่าช้า และ/หรือพึ่งพาการท่องเที่ยวและภาคบริการสูง เช่น ไทย ก็ได้รับผลกระทบแรง

 3. จะเกิดสงครามเย็นภาคสอง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและการแย่งพันธมิตรกันระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งก็เป็นไปเช่นที่ผู้เขียนมองเช่นกัน โดยเมื่อมองจากแนวยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของสองยักษ์ใหญ่ ต่างทำเพื่อพัฒนาความเป็นหนึ่งทางเทคโนโลยีมากขึ้น

 4. กระแส Tech-celelation หรือเร่งการน้อมรับเทคโนโลยีที่เร็วขึ้น โดยปัจจุบันเรายังเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องของธุรกิจและธุรกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง ทั้ง e-commerce ธุรกรรมแบบไม่ใช้เงินสด (Cashless transaction) รวมถึงการทำงานที่บ้าน (Work from home) ที่มากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เฟื่องฟูไปด้วย

 5. การปฏิวัติพลังงานสะอาด (Clean energy Revolution) อันเป็นผลพวงจากการที่ประเทศชั้นนำพยายามที่จะลดภาวะโลกร้อน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด และกองทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าวจะเฟื่องฟู ซึ่งก็เป็นจริงหลังจากที่ทั้งสหรัฐและจีนผลักดันอุตสาหกรรมดังกล่าวในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของตน

 

ดังนั้น หากให้สรุปภาพของคำทำนายเศรษฐกิจและสังคมหลังภาวะ COVID แล้วนั้น ในภาพใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่เคยมองไว้ กล่าวคือ ภาพเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วแม้จะฟื้นตัวได้ในระยะสั้น แต่ระยะต่อไปเศรษฐกิจน่าจะเติบโตต่ำลงจากที่ประชาชนกังวลและไม่จับจ่ายมากนัก โดยวัคซีนจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัว ขณะที่นโยบายการเงินโลกยังคงต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง แต่อาจเริ่มเห็นการปรับขึ้นภาษีบ้าง ขณะที่สงครามเย็นจะเป็นความเสี่ยง แต่กระแสเทคโนโลยี และพลังงานสะอาด จะเป็นโอกาส

 คำทำนายเปรียบเหมือนแผนที่ คนตาดีเท่านั้นที่จะหลบความเสี่ยงและค้นหาโอกาสได้ในอนาคต.

  บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่