โลกใบใหม่ของคนรุ่นใหม่

โลกใบใหม่ของคนรุ่นใหม่

ภาวะเศรษฐกิจแบบนิวนอร์มอลต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่าเดิมหลายเท่า

ความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจมายาวนานต่อเนื่องหลายปี จนกระทั่งการมาถึงของโควิด-19 หลายคนเชื่อว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลน่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่าภาวะเศรษฐกิจแบบนิวนอร์มอลนั้นยิ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่าเดิมหลายเท่า

ความเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญจึงเป็นผลมาจากการปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ร่วมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขารวมถึงด้านธุรกิจ อุตสาหกรรมและสังคม แล้วเขาจะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างไร

ประการที่ 1 ต้องเข้าใจและปรับตัวตามวัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลาย เพราะโลกใบนี้เป็นหนึ่งเดียวกันเสมอ มองย้อนไปถึงสหรัฐในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ จะเห็นได้ชัดเจนว่าแม้จะมีนโยบายกีดกันประเทศจีน แต่ยอดการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐก็ยังคงสูงลิ่ว เพราะกลไกการค้าโลกทุกวันนี้ทำให้แต่ละประเทศต้องพึ่งพิงกันเสมอ

ตลาดใหญ่อย่างสหรัฐ จึงต้องอาศัยฐานการผลิตในประเทศจีน ไทย เวียดนาม เม็กซิโก ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมช่วยให้การผลิตมีคุณภาพส่ำเสมอไม่ว่าจะผลิตมาจากประเทศใด

เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่เราเพิ่งคุ้นเคยในรอบ 5-10 ปีที่ผ่านมาเช่นบิ๊กดาต้า เอไอ คลาวด์ ก็ล้วนส่งผลให้การทำงานของเราประสานเป็นหนึ่งเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย การติดต่อประสานงานจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ในประเทศของเราเท่านั้น

การทำงานทุกวันนี้จึงต้องเปิดกว้างเพราะคนรุ่นใหม่มีโอกาสทำงานร่วมกับคนต่างชาติจำนวนมาก ทั้งทำงานร่วมกันโดยตรง หรือเป็นคู่ค้า ลูกค้า ตลอดจนเป็นซัพพลายเออร์ จึงจำเป็นต้องเข้าความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

เพราะความแตกต่างของคนแต่ละประเทศนั้นไม่ได้มีแค่ภาษา แต่เป็นวิธีคิดและวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน สะท้อนมาถึงการทำงานที่มีวิธีการแตกต่างกัน การสื่อสารแบบตรงไปตรงมาบางครั้งจึงไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควรเพราะวัฒนธรรมบางประเทศอาจใช้การสื่อสารทางอ้อมได้ดีกว่า

ประการที่ 2 จึงหนีไม่พ้นเรื่องทักษะในภาษาที่ 2 และ 3 เพราะทุกวันนี้เพียงแค่ภาษาไทย-อังกฤษ อาจไม่เพียงพอต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ และภาษาก็เป็นด่านหน้าในการเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย เนื่องจากโครงสร้างของแต่ละภาษาจะสะท้อนวิถีชีวิตและวิธีคิดของคนแต่ละชาติ

การเลือกภาษาที่ 3 จึงต้องดูเป้าหมายชีวิตของและคน เช่นมีความรักและสนใจในด้านแฟชั่นก็คงต้องเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติม หรือจะเป็นด้านวิศวกรรมก็คงต้องเป็นภาษาเยอรมัน ในขณะที่การค้าขายก็คงหนีไม่พ้นภาษาจีน

ประการที่ 3 ต้องมีความคล่องตัวในการทำงานที่ไหนก็ได้และอยู่ในประเทศใดก็ได้ เพราะงานที่ดีที่สุดไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในประเทศเรา โอกาสทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปมาในหลายประเทศ ในอดีตแถวบ้านเราก็จะวนเวียนอยู่ในไทย เวียดนาม สิงคโปร์ จีน ฯลฯ

วันนี้และอนาคตอันใกล้อาจขยับไปแอฟริกา อเมริกาใต้ เราก็ต้องพร้อมที่จะกระโจนสู่ความเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศเหล่านั้น คนรุ่นใหม่จึงต้องพร้อมทำงานได้ในทุกที่ และทำงานได้ทุกรูปแบบทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

ในวันนี้อาจมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง แต่เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยตราประทับในหน้าพาสปอร์ตจะเป็นตัวบ่งบอกโอกาสในความก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้มีแค่การเดินทางท่องเที่ยวเหมือนคนรุ่นเก่า แต่เป็นการเปิดโลกการทำงานและการค้าขายที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง