เอสเอ็มอีกับการสร้างทักษะเชิงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม

เอสเอ็มอีกับการสร้างทักษะเชิงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม

เรามักจะเห็นคำว่า “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” เขียนเรียงลำดับติดกันเป็นชุดแบบนี้อยู่บ่อยๆ

ซึ่งโดยความจริงแล้ว ทั้ง 3 คำนี้ก็มีที่มาที่ไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอยู่อย่างใกล้ชิด

ความรู้จากการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบใหม่ล่าสุด หรือวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบกันมานานเป็นร้อยๆ ปีมาแล้ว จะสามารถนำมาเป็นต้นแบบของการสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาได้ และการเกิดเทคโนโลยีใหม่ที่มีความโดดเด่นเหนือชั้นกว่าเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้ว ก็จะทำให้ธุรกิจสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เหนือกว่าผู้เล่นเดิมที่มีอยู่ในตลาด ผลักดันให้ธุรกิจมีการขยายตัวก้าวหน้าต่อไปได้

นักธุรกิจทั่วไปมักจะคิดว่า วิทยาศาสตร์ ไม่น่าจะมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ แต่จากความหมายในเชิงกว้าง ที่กำหนดไว้ว่า วิทยาศาสตร์ ก็คือการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เพื่อให้เข้าใจได้ว่าปรากฏการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร และความรู้ที่ได้มานั้น สามารถนำมาเป็นคำตอบให้กับปรากฏการณ์อื่นที่มีความคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกันได้

ส่วนคำว่า เทคโนโลยี” จะเป็นผลของการนำความรู้หรือหลักการวิทยาศาสตร์มาใช้สร้างเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ให้มาทำหน้าที่แทนมนุษย์ มาสร้างความสะดวกสบาย หรือมาสร้างความรวดเร็วขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ ที่มนุษย์ต้องการ

ความสัมพันธ์ขั้นสุดท้ายกับผลกระทบต่อธุรกิจก็คือ การนำความแปลกใหม่ที่ผู้บริโภคโดยทั่วไปยังไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนเข้าสู่ตลาด ในรูปแบบของ นวัตกรรม” เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค และสามารถสร้างยอดขายและกำไรให้แก่ธุรกิจเพิ่มมากขึ้น

ในบริบทและความเชื่อมโยงที่เป็นตรรกะดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดได้เหนือคู่แข่ง

ประเด็นที่มีความสำคัญที่มักจะถูกมองข้ามไปเสมอก็คือ การใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในส่วนที่ต้องมาเกี่ยวข้องกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจนั้นเป็นทักษะที่ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างขึ้นมาได้ ไม่จำกัดที่ว่าจะต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ เท่านั้น

มีงานวิจัยในต่างประเทศที่ค้นพบว่า ธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถสร้างทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขึ้นมาในองค์กรของตนได้ 3 วิธี

วิธีที่ 1 เป็นการสร้างขึ้นด้วยความจงใจและเป็นกิจจะลักษณะ เช่น การสร้างหน่วยงานด้าน R&D ขึ้นมาและให้มีบุคลากรที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีเป็นเจ้าหน้าที่หรือพนักงานประจำ การสร้างหน่วยงานด้านการวางแผนธุรกิจและแผนการตลาดเพื่อรองรับอนาคตของธุรกิจ ซึ่งต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ในด้านการวิเคราะห์แนวโน้ม การใช้สถิติพยากรณ์ หรือการมีหน่วยงานด้านวิศวกรรม ที่มีความสามารถในการสร้างและดัดแปลงเครื่องจักรได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น

วิธีนี้จะต้องได้รับการสนับสนุนในด้านทรัพยากรและงบประมาณจากผู้บริหารระดับสูงที่มองเห็นความจำเป็นในอนาคต

วิธีที่ 2 เป็นวิธีที่ธุรกิจเอสเอ็มอีมักใช้กันมาก คือ การดำเนินการอย่างไม่เป็นกิจจะลักษณะ อาศัยประสบการณ์ ความชำนาญ หรือการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก จะค่อยๆ พัฒนาต่อมาให้เป็นทักษะเกิดขึ้นภายใน ซึ่งวิธีนี้อาจต้องใช้เวลานานกว่า และมีระดับความเข้มข้นของการใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไม่สูงนัก และการพัฒนาจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนใหญ่จะทำโดยเจ้าของหรือผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจของธุรกิจ

วิธีที่ 3 มีผู้เสนอให้นำ วิธีที่ 1 และวิธีที่ 2 มาประยุกต์ใช้รวมกัน โดยใช้ความคล่องตัวและยืดหยุ่นของวิธีที่ 2 และความมีโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมของวิธีที่ 1 ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี โดยจะให้เอสเอ็มอีสามารถสร้างนวัตกรรมที่มีระดับความใหม่และความมีคุณค่าได้สูงขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนในทรัพยากรและงบประมาณจำนวนมากนัก และสามารถแพร่กระจายทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปยังพนักงานและเพื่อนร่วมงานอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่การวัดผลที่เกิดขึ้นในแง่ของการสร้างนวัตกรรมของธุรกิจ ซึ่งในธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจระดับโลก อาจวัดผลของการสร้างนวัตกรรมจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากจำนวนสิทธิบัตร บทความทางวิชาการ หรือจำนวนบุคลากรที่มีการศึกษาระดับสูง

แต่สำหรับธุรกิจระดับเอสเอ็มอี คณะกรรมการติดตามผลการสร้างนวัตกรรม (Community Innovation Survey) ที่มักเรียกกันย่อๆ ว่า CIS แนะนำให้นับจำนวนผลของนวัตกรรมที่ธุรกิจสามารถสร้างขึ้นในแต่ละปี โดยแบ่งเป็นประเภทคร่าวๆ ตามระดับความยากง่าย เช่น นวัตกรรมที่เป็นสิ่งใหม่ของบริษัท นวัตกรรมที่สร้างสิ่งใหม่ในระดับตลาด หรือในระดับท้องถิ่น นวัตกรรมระดับประเทศ และนวัตกรรมในระดับโลก เป็นต้น

เอสเอ็มอีอาจต้องเริ่มติดตามตัวเลขเพื่อเปรียบเทียบในรอบปีว่า ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมระดับต่างๆ จำนวนเท่าไร มีแผนและเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์และบริการใหม่อย่างไร และผลความคืบหน้าของแผนการเทียบกับเป้าหมายเป็นอย่างไร

ตัวเลขที่เกิดขึ้น อาจไม่สวยหรู อาจเป็นได้ว่าในแต่ละปีจะมีจำนวนนวัตกรรมที่นำออกสู่ตลาดเท่ากับศูนย์ ก็ไม่ใช่เป็นประเด็นสำคัญ

แต่ตัวเลขทางสถิติในทำนองนี้ จะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถติดตามและปรับปรุงระดับทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของตนเองได้อย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปใช้ในการวางแผน กำหนดทิศทางและเป้าหมายของกลยุทธ์นวัตกรรมของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ