โตโยต้าติดสินบนผู้พิพากษาไทย จริงหรือไม่

โตโยต้าติดสินบนผู้พิพากษาไทย จริงหรือไม่

ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ นำเสนอข้อเท็จจริงกรณีสำนักข่าวต่างๆ พาดพิงสำนักงานใหญ่โตโยต้า ญี่ปุ่น กับการให้สินบน จทน.รัฐไทยในระดับผู้พิพากษา

          เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวจากสำนักข่าวเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญๆ ระดับโลกทุกสำนัก ว่าบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ คอร์ป สำนักงานใหญ่ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  ได้แจ้งในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2021 ว่าบริษัทได้รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) และกระทรวงยุติธรรม (DOJ) ของสหรัฐอเมริกา

        พาดพิงถึงบริษัทโตโยต้า (ประเทศไทย) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 ว่ามีความเป็นไปได้ที่บริษัทสาขาของตนในประเทศไทย จะละเมิดกฎหมายต่อต้านการให้สินบนของสหรัฐอเมริกา (Foreign Corrupt Practices Act หรือ FCPA) โดยการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทยนั้นอาจรวมถึงผู้พิพากษาศาลฎีกาของประเทศไทยเพื่อให้ชนะคดีหรือกลับคำตัดสินกรณีภาษีประมาณ 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ทางการประเทศไทยเรียกเก็บจากการนำเข้ารถโตโยต้าพรีอุส (Prius) ซึ่งเป็นรถ hybrid ที่ใช้ทั้งน้ำมันสลับกับไฟฟ้า

          ข่าวนี้ ทำให้มีข้อสงสัยและข้อสังเกตหลายประการ

 

ข่าวกับ ข้อเท็จจริง

          ต้นตอของข่าวทั้งหมดคือ เว็บไซต์ชื่อ Law360 โดยนาย Frank G. Runyeon เป็นผู้เขียน ซึ่งหากอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษแล้ว สำนวนจะแตกต่างจากข่าวภาษาไทยที่แปลมาโดยสิ้นเชิง เว็บไซต์นั้นระบุว่าบริษัทโตโยต้า ได้ว่าจ้างสำนักงานทนายความ Wilmer Hale เพื่อหาข้อเท็จจริงว่า  สำนักกฎหมายไทย 8 แห่งที่บริษัทได้จ้างเพื่อต่อสู้คดีภาษีในศาลและได้จ่ายเงินให้คนไทย 12 คนนั้น เป็นการจ่ายในลักษณะที่ละเมิดกฎหมาย FCPA หรือ U.K. Bribery Act ของอังกฤษหรือไม่

และมีความกังวลว่า “เงินดังกล่าวได้ไปถึงมือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้พิพากษา ที่ปรึกษา หรือบุคลากรอื่นๆของศาลหรือไม่ เพื่อให้ส่งผลต่อรูปคดีอันเป็นประโยชน์ต่อบริษัท (“payments to outside law firms or consultants that may have been passed to or shared with Thai judges, court advisers or others in an effort to secure a favorable outcome in the Prius tax case”) เอกสารว่าจ้างการตรวจสอบนี้ ลงวันที่ 30 กันยายน 2019 โดยผู้ตรวจสอบได้ขุดคุ้ยเอกสารจำนวนเป็นล้านๆ ฉบับนับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา (millions of company documents dating back to 2012)

 

ข้อเขียนทั้งหมดสองหน้ากว่าๆของนาย Runyeon เขียนอย่างระมัดระวัง ว่าบริษัทมีความกังวล เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจมีการจ่ายเงินอย่างไม่ถูกต้อง  ไม่มีข้อความตอนใดที่บอกว่ามีผู้พิพากษาศาลฎีกาไทยรับสินบน มีเพียงการแสวงหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบว่าคนที่บริษัทจ้างทำคดีนั้น มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งในปัจจุบันและในอดีตที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงรูปคดีหรือไม่  

อนึ่ง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานทนายความ Wilmer Hale ตลอดจนหน่วยงาน SEC และ DOJ ต่างก็ปฏิเสธที่จะออกความเห็นหรือตอบข้อซักถามของนาย Runyeon ว่ามีหลักฐานใดๆหรือไม่

นับเป็นครั้งแรกภายใต้ FCPA ที่มีการพุ่งข้อสงสัยเจาะจงไปยังผู้พิพากษาไทย ซึ่งการออกข่าวลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่ขัดกับหลักความยุติธรรมสากลที่ว่าบุคคลย่อมถือว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ความผิด เป็นเรื่องที่สะเทือนวงการ ความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิขององค์กรยุติธรรมไทยได้เกิดขึ้นแล้วในทันที ทั้งนี้ หากมีความเคลือบแคลงสงสัยในบุคคลซึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรม คือผู้พิพากษาหรืออัยการ บุคคลเหล่านี้ย่อมมีความด่างพร้อยซึ่งเปิดโอกาสให้มีการรื้อฟื้นคดีหรือคัดค้านคำตัดสินในคดีสำคัญอื่นๆที่ผ่านมาได้ แม้ว่าศาลฎีกาจะยังไม่ได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้ แต่ถ้าเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนเท่าที่จะทำได้โดยเร็ว ก็จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของสาธารณชนกลับมาได้บ้าง

เราต้องดูข้อมูลอะไร

          ข้อเท็จจริง ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องแสดงเพื่อให้เกิดความกระจ่างเป็นการด่วน คือข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฎิบัติและอัตราภาษีที่เรียกเก็บทั้งโดยกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตสำหรับรถโตโยต้า Prius  อัตรานี้มีความยุ่งยากหรือไม่  “ดิ้น” ได้หรือไม่ พิกัดชัดเจนหรือไม่ มีประเด็นที่โต้แย้งได้หรือไม่ เกี่ยวพันกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทยในรายละเอียดอย่างไร

           มีความคลุมเครือหรือไม่ที่อาจเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้น (คือศาลภาษีอากรกลาง) และศาลอุทธรณ์ (คือศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ) มีความเห็นแย้งกันได้ จนทำให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกา 

          เมื่อมีการเท้าความกลับไปถึงปี 2012 ก็ต้องย้อนดูประวัติการนำเข้าของรถรุ่นนี้ด้วย รถ Prius เป็นรถ hybrid ที่คนทันสมัยที่รักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมจะนิยม  แต่เดิมกล่าวกันตรงๆ มีการซื้อขายกันในตลาดสีเทา บริษัทโตโยต้าได้เคยนำเข้ามาในลักษณะ CBU หรือ completely built up ซึ่งเสียภาษีสูง แต่ก็มีตลาดเล็กๆที่ยอมจ่ายในราคาสูงเนื่องจากการนำเข้าโดยบริษัทโตโยต้าเองทำให้มี Warranty ซึ่งในตลาดสีเทาไม่สามารถให้บริการในส่วนนี้ได้ 

          ต่อมา เมื่อตลาดขยายกว้างขึ้นเพราะบริษัทแท็กซี่เริ่มใช้ มีออร์เดอร์ทีละ 500-1000 คัน บริษัทโตโยต้าจึงเริ่มนำเข้าชิ้นส่วนแบบ CKD หรือ completely knocked down เพื่อมาประกอบในประเทศไทย เมื่อประกอบเสร็จพร้อมขายก็ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ปัจจุบันยังมีทั้ง CBU และ CKD หรือไม่ เพราะ CKD นั้นภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียมต่ำมากจนไม่น่าจะเป็นประเด็น

          จะเห็นได้ว่ามีภาษีสำคัญอยู่สองตัว คือภาษีศุลกากรในการนำเข้าและภาษีสรรพสามิต

ขณะที่เขียนนี้ ยังไม่เห็นข้อมูลรายละเอียดสำคัญ คือพิกัดอัตราภาษีที่บริษัทโตโยต้าถูกเรียกเก็บ ภาษีศุลกากรนั้นน่าจะมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง การใช้ดุลพินิจน่าจะมีน้อยหรือไม่ หรือว่ามีการ “ตกลง” อัตราภาษีกันได้  แนวปฎิบัติที่แท้จริงเป็นอย่างไร โปร่งใสหรือไม่  ในส่วนของภาษีสรรพสามิตนั้น มีความสลับซับซ้อนเนื่องจากเมื่อประมาณห้าปีที่ผ่านมา อัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์จะถูกกำหนดโดยปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ อัตราการการปล่อยคาร์บอน (carbon emission) 

          อัตราภาษีสรรพสามิตเรียกเก็บเท่าไรจะต้องมีผลการทดสอบเรื่องการปล่อยคาร์บอน ซึ่งการปล่อยคาร์บอนจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการสลับกันระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิงกับไฟฟ้า และขึ้นอยู่กับขนาดของแบ็ตเตอรี่ ว่ารองรับการใช้งานได้นานเท่าใด กี่กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งขนาดของแบ็ตเตอรี่จะทำให้วิ่งโดยใช้ไฟฟ้าได้ต่างกันมาก จาก 6 กิโลเมตร ถึง 60 กิโลเมตรเลยทีเดียว การพ่นพิษทดสอบอย่างไร ด้วย cycle ที่วิ่งจริงหรือไม่และวิ่งนานเท่าใด เพราะบางช่วงอาจจะไม่ใช้ไฟฟ้าเลยก็ได้ คงต้องขอข้อมูลเรื่องสูตรที่ถือปฏิบัติ ว่าเป็นสิ่งที่สามารถโต้แย้งได้หรือไม่ อันเป็นเหตุให้มีการวิ่งเต้น เพื่อพลิกคำพิพากษา

มีแรงจูงใจหรือไม่ ที่บริษัทโตโยต้าจะพยายามทำให้ค่าการปล่อยคาร์บอนนี้ออกมาต่ำที่สุด เมื่อวิธีการทดสอบอาจได้ผลต่างกันมาก ระหว่างการเก็บภาษี 0-40% แล้วแต่วิธีการทดสอบ คำถามคือ มีมาตรฐานการทดสอบอย่างไร 40% นี้คือนอกเหนือจากภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียม ซึ่งอาจเป็นเงินจำนวน 3-4 แสนบาทต่อคัน สำหรับรถจำนวน 1,000 คัน ก็เป็นเงินไม่น้อย  ฉะนั้น ก็มีแรงจูงใจแน่นอน

เราคงจะต้องหาข้อมูลเหล่านี้ให้ชัดเจน คือเกณฑ์การพิจารณาคำนวณภาษีเป็นอย่างไร ใช้สูตรอะไรไม่ว่าจะเป็นภาษีศุลกากรนำเข้าหรือภาษีสรรพสามิต ประกอบกับประเด็นการโต้แย้งของบริษัทโตโยต้าที่ศาลชั้นต้น และประเด็นการโต้แย้งคำตัดสิน สำนวนฟ้องเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้ตัดสิน  การตัดสินของศาลนั้นขึ้นอยู่กับสำนวนที่ส่งฟ้องและอุทธรณ์ การใช้ดุลพินิจทางใดทางหนึ่งมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในชั้นศาลเท่านั้น เหตุใดจึงเจาะจงระบุตำแหน่งผู้พิพากษา และเหตุใดจึงรอมาออกข่าวเกือบ 1 ปีให้หลัง 

ในโอกาสหน้า จะเขียนกฎหมาย FCPA ของสหรัฐกับประสบการณ์ของประเทศไทย ใครได้ประโยชน์กันแน่

บทความโดย ดร. สิริลักษณา  คอมันตร์ กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล (15 เมษายน 2564)