จากแฝดสยามถึงแฝดมฤตยู

จากแฝดสยามถึงแฝดมฤตยู

ผมมักถูกขอให้สรุปสั้นๆ ว่าเพราะอะไรเมืองไทยจึงตกอยู่ในสภาพปัจจุบัน  คำตอบของผมที่สั้นที่สุดคือ 'ความมักง่าย' และ 'ความดูดาย'

           ย้อนเวลาไปกว่า 200 ปี มีทารกแฝดติดกันตรงหน้าอกเกิดในเมืองไทยซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าสยาม  แฝด “อิน” กับ “จัน” เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกหลังไปอยู่ในอเมริกาและเป็นที่มาของคำว่า “แฝดสยาม”  อินกับจันแต่งงานกับสองพี่น้องอเมริกันและมีลูกรวมกัน 21 คน  ทั้งคู่ขยันและมีมันสมองดี จึงมีความมั่งคั่งจนกระทั่งถูกผลกระทบจากสงครามกลางเมือง 

ในปัจจุบันนี้ มีสายเลือดของเขากระจัดกระจายอยู่ในอเมริกา แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ดูจะลืมไปแล้วว่า “สยาม” คือเมืองไทย หากรู้จักเมืองไทยในชื่อปัจจุบันซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่พวกเขาทั้งในด้านบวกและด้านลบ

            ด้านบวก ชาวอเมริกันมองเมืองไทยว่ามีวัฒนธรรมโดดเด่นเป็นของตัวเอง มีธรรมชาติงดงามพร้อมกับมีประชาชนที่ยิ้มแย้มและเป็นมิตร จึงเป็นแหล่งที่พวกเขามาเที่ยว หรือประสงค์จะมาเมื่อมีโอกาส  ด้านลบ ชาวอเมริกันจำนวนมากมองเมืองไทยว่าเป็นแหล่งอบายมุข เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีข้อบกพร่องสูง  ความบกพร่องนั้นมีอดีตนายกรัฐมนตรีไทยนำมาพูดในวงเสวนาทางวิชาการโดยสรุปว่าคนไทยมี “ขี้ 4 อย่าง” คือ ขี้โกง ขี้เกียจ ขี้โอ่ และขี้อิจฉา

คนไทยจำนวนมากโกรธฝรั่งเมื่อได้ฟังการวิจารณ์นั้น  แต่ผมไม่โกรธเพราะประสบการณ์ด้านการพัฒนาบ่งชี้ว่า สังคมไทยมีความฉ้อฉลสูงมากหากเทียบกับสังคมที่มีความก้าวหน้าสูง และความฉ้อฉลนี่แหละคืออุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ยับยั้งเมืองไทยมิให้พัฒนาอย่างที่น่าจะทำได้ หากมองจากมุมของการมีปัจจัยเบื้องต้นด้านวัตถุจำนวนมาก 

นอกจากความฉ้อฉลซึ่งเป็นปัจจัยเบื้องต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เมืองไทยพัฒนาได้เชื่องช้าอีกด้วย  หลังพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนแล้ว ผมนำมาสรุปไว้ในหนังสือชื่อ “สู่จุดจบ!” ซึ่งพิมพ์เมื่อต้นปี 2549  หนังสือเล่มนี้ถูกผู้มีอำนาจในยุคนั้นสั่งห้ามวางขาย  ต่อมานายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันแนะนำให้คนไทยอ่านและในขณะนี้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com

ในฐานะผู้ค้นคว้าหาปัจจัยซึ่งทำให้สังคมล่มสลายและพัฒนาได้แตกต่างกัน พร้อมกับเขียนหนังสือออกมาอธิบาย ผมมักถูกขอให้สรุปสั้น ๆ ว่าเพราะอะไรเมืองไทยจึงตกอยู่ในสภาพปัจจุบัน  คำตอบของผมที่สั้นที่สุดคือ “ความมักง่าย” และถ้าให้ตอบยาวกว่านั้นเล็กน้อยได้ก็จะขยายไปรวม “ความดูดาย” ด้วย 

อันที่จริงความมักง่ายครอบคลุมความดูดายแต่ผมเห็นว่าควรขยายออกมา เพราะมองว่าความมักง่ายกับความดูดาย เหมาะสมที่จะเป็นนิยามของคำว่า “ไทย ไทย” ซึ่งมักถูกนำมาใช้ทั้งที่ไม่มีนิยามแน่ชัด

ความมักง่ายกับความดูดายเป็นเสมือนแฝดมฤตยูที่ทำลายสังคมไทยมานาน  มีผู้ต้องการขยายปัจจัยที่ทำลายเมืองไทยไปถึงความมักได้  แต่ผมมองว่า ความมักได้รวมอยู่ในความมักง่ายและส่วนของความมักง่ายที่มีผลร้ายต่อสังคมไทยมากที่สุด ได้แก่ ความฉ้อฉลที่มีอยู่ในกลุ่มชนชั้นผู้นำ โดยเฉพาะผู้กำอำนาจรัฐซึ่งทำตัวเสมือนอั้งยี่ที่สะท้อนออกมาในกลอนบทนี้

อั้งยี่มีสี่หมู่อยู่ในไทย

สองหมู่ใหญ่ต่างติดดาวพราวบนบ่า
หมู่สามรับราชการงานนานา        

ส่วนหมู่สี่มีพ่อค้าทุนสามานย์

            ผู้กำอำนาจรัฐคือผู้ผลัดกันทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าและเขียนรัฐธรรมนูญนับสิบฉบับเริ่มเมื่อปี 2475  หลังเวลาผ่านมาเกือบ 80 ปีก็ยังไม่มีทีท่าว่าเมืองไทยจะได้การปกครองตามแนวประชาธิปไตยตามสัญญาของผู้ทำรัฐประหาร  ที่เป็นเช่นนั้นมองได้ว่ามาจากแฝดมฤตยูอีกคู่หนึ่ง นั่นคือ การขาดปัญญากับเจตนาฉ้อฉล 

            กลุ่มผู้นำไม่มีความจริงใจจึงไม่มอบงานให้ผู้เปี่ยมด้วยปัญญาด้านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเขียนรัฐธรรมนูญ ที่จะปูฐานให้เกิดการปกครองในกรอบของระบอบนั้นอย่างแท้จริง  เมื่อเมืองไทยมีแฝดมฤตยูถึง 2 คู่ยืนขวางทางการพัฒนา การจะพัฒนาต่อไปย่อมทำได้ยากยิ่ง

            สัปดาห์นี้เป็นช่วงขึ้นปีใหม่ ขอถือโอกาสอวยพรให้ทุกท่านปลอดภัยจากผลร้ายของไวรัสโควิด-19 และของผู้นำที่กำแฝดมฤตยู 2 คู่อยู่ในการดำเนินชีวิต.