จับตา Corporate Impact Investing

จับตา Corporate Impact Investing

การลงทุนในธุรกิจหรือนวัตกรรมที่ส่งกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกกันว่า Impact Investing กำลังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นมาก

 ข้อมูลจาก Global Impact Investing Network ระบุว่าในปี 2020 ตัวเลขสินทรัพย์ทั้งหมดในตลาดการลงทุน Impact Investing มีมูลค่าสูงถึง 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยกว่า 54% ต่อปีตั้งแต่ปี 2016  

บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, Microsoft, Salesforce, Citi, และ Unilever ต่างตั้งกองทุนที่เป็น Impact Investment โดยแต่ละบริษัทให้คำมั่นสัญญาว่าจะใส่เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุด Salesforce ก็เพิ่งตั้งกองทุนที่สองที่เป็น Impact Fund ด้วยเม็ดเงินกว่าร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยลงทุนในธุรกิจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทางสังคมและการศึกษา

ส่วนยักษ์ใหญ่ด้านอุปโภคบริโภคอย่างยูนิลีเวอร์ ก็ทุ่มเงินถึง 1 พันล้านยูโรลงทุนใน “Clean Future” เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การเลิกใช้สารเคมีที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2030 และยังได้ร่วมมือกับ ClosedLoop Partners ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนขนาดใหญ่ที่ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งกองทุนนี้ยังมียักษ์ใหญ่ในกลุ่ม FMCG รายอื่นๆร่วมลงทุนอีกด้วยเช่น P&G, Danone, PepsiCo, Coca-Cola และ Colgate Palmolive

            หลายคนมองว่าการลงทุนที่เป็น Impact Investing เป็นการลงทุนที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนเชิงธุรกิจแต่เป็นวิถีการลงทุนที่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กรด้านการรับผิดชอบต่อสังคมหรือเป็นโครงการ CSR แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป้าหมายขององค์กรวันนี้มอง Impact Investing เป็นการลงทุนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่หวังผลทั้งในเชิงกลยุทธ์และผลตอบแทนจากการลงทุน  

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของการลงทุน Impact Investing ทำให้ VC ขนาดใหญ่หลายรายเปิดกองทุนใหม่ที่เป็น Impact Funds ส่วนฝั่ง CVC หลายรายก็มีการแบ่งแยก Portfolio ของธุรกิจที่เป็น Impact Investing ออกมาชัดเจนโดยมีการทำงานประสานกับหน่วยธุรกิจภายในเพื่อประสานและต่อยอดเป้าหมายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ตัวชี้วัดของการลงทุนที่เป็น Impact Investing โดยหลักแล้วจะอยู่ที่ 1) ตอบโจทย์กลยุทธ์องค์กรด้าน Sustainability Development 2) สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม 3) ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม 4) ศักยภาพในการสร้างผลตอบแทน (Financial Return)

ตัวอย่างขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อน Impact Investing ก็มี Amazon ที่ลงทุนในบริษัทผลิตรถกระบะไฟฟ้า Rivian และได้สนับสนุนด้วยการสั่งซื้อรถกระบะของ Rivian จำนวน 100,000 คันเพื่อใช้ในการส่งสินค้าของ Amazon ความร่วมมือนี้ทำให้ Rivian กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดรถไฟฟ้าใช้งานเชิงพาณิชย์และล่าสุดระดมทุนได้อีก 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้มูลค่าบริษัทขึ้นไปแตะสองหมื่นล้านเหรียญ

            แนวโน้มขององค์กรในการลงทุนกับธุรกิจที่ตอบโจทย์เชิงกลยุทธ์และยังสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม กำลังเข้าสู่กระแสหลัก ตัวชี้วัดความสำเร็จของแต่ละดีล ไม่ได้อยู่แค่การเลือกบริษัทที่มีศักยภาพ แต่อยู่ที่ความสามารถในการต่อยอดความร่วมมือหรือสร้างให้เกิดระบบนิเวศที่ทำให้บริษัทสามารถขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น “Impact Washing” ไม่แตกต่างกับการฟอกเขียวที่ไม่ได้สร้างผลลัพธ์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้จริง!