‘แผลเป็น’ จากโควิด 19

‘แผลเป็น’ จากโควิด 19

ไม่เคยมีวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จะเลวร้ายเท่ากับการแพร่ระบาดของโควิด 19

 บทความโดย ดร.อัจนา ไวความดี กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล

              ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกถดถอย เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 6.1 นปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลก  เมื่อประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน เมื่อการค้า การท่องเที่ยว กลับมาเป็นปรกติ และเมื่อมีนโยบายการเงินและการคลังที่กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นประวัตการณ์   GDP ของไทยก็จะกลับเข้าสู่ระดับที่เคยเป็นเมื่อปี 2562 ในปีหน้านี้ และเศรษฐกิจก็จะกลับไปขยายตัวตามศักยภาพที่เคยมีก่อนหน้าโควิด 19 เพราะเราเคยเชื่อทฤษฎีวัฏจักรธุรกิจ (business cycle) กันในอดีตที่ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัว หดตัว ขึ้นลงเป็นวัฏจักร ตามแนวโน้มของศักยภาพของการเจริญเติบโตในระยะยาว

           แต่ไม่น่าจะใช่อีกต่อไป เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้หลังจากวิกฤตหลายครั้ง ทําให้นักเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อกันว่า  วิกฤตแม้จะเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ แต่บาดแผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะสร้างรอย’แผลเป็น’ (economic scars)ไปอีกยาวนาน ทำให้ศักยภาพของการขยายตัวในระยะยาวลดน้อยลง ยิ่งเป็นประเทศยากจน ศักยภาพของการเจริญเติบโตจะยิ่งลดลงมากจาก ‘แผลเป็น’

           รอย ’แผลเป็น’ นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

           ประการแรก วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด 19 สร้างหนี้ ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ภาคเอกชน และหนี้ครัวเรือน

           หนี้ภาครัฐของประเทศต่างๆสูงขึ้น ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ เพราะมีความจําเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินทางด้านสาธารณะสุขเพื่อลดการระบาดของโรค จําเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ในขณะที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐลดลงเพราะเศรษฐกิจถดถอย ทําให้การขาดดุลงบประมาณและหนี้ภาครัฐสูงขึ้น

           ในช่วงเวลาเพียง 5 เดือน หนี้สาธารณะของไทยสูงขึ้นจากร้อยละ 49.34 ของ GDP เป็นร้อยละ53.21 เมื่อสิ้น ก.พ. 2564 ยังไม่นับส่วนที่จะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ที่โครงการต่างๆ ของรัฐยังไม่เสร็จสิ้นลง ยังต้องใช้จ่ายเงินเพื่อจัดการกับการระบาดระลอกใหม่และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะทําให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก

           และหากรัฐจะรักษาวินัยทางการคลังโดยดูแลไม่ให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 60 ของ GDP ก็คงมีผลกับการตั้งงบประมาณในหลายปีต่อจากนี้ให้ขาดดุลน้อยลง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้จ่าย การลงทุน ของภาครัฐ และต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในที่สุด

           ส่วนหนี้ภาคเอกชนก็สูงขึ้นในช่วงวิกฤต เพราะรายได้ลดลง มีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนและการจ้างงาน หรือการวิจัยและพัฒนาในช่วงต่อไปและลดทอนศักยภาพในการขยายตัวของประเทศ

          ส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยที่เป็นปัญหาอยู่แล้วก่อนโควิด 19 ก็จะยิ่งสูงขึ้นอีก จากการถูกเลิกจ้างและรายได้ลด  เกินระดับร้อยละ 85 ของ GDP ที่ถือเป็นระดับอันตรายต่อการขยายตัวของการบริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว

           ประการที่สอง วิกฤตที่เกิดขึ้นลดปัจจัยการผลิตลง ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวในระยะยาว เมื่อเกิดวิกฤตและเลิกจ้าง แรงงานบางส่วนไหลไปที่ภาคเกษตร หรือเข้าไปใน informal sector บางส่วนทํางานไม่เต็มเวลา และก็มีที่ออกไปจากตลาดแรงงานเป็นการถาวร วิกฤตสั้นๆกลับกลายเป็นการลดลงของรายได้อย่างถาวร และลดการบริโภคและขยายตัวในระยะยาว ส่วนปัจจัยทุนก็จะไม่เพิ่มมากเพราะการลงทุนลดลง  มีธุรกิจที่เลิกกิจการหรือถ้าประคองตัวอยู่ได้ ก็จําเป็นต้องใช้สินค้าทุนที่เสื่อมค่าสึกหรอ เทคโนโลยีที่มากับเครื่องจักรใหม่จะมีน้อยลง ลดศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว

           ประการต่อมา โควิด 19 สะท้อนให้เห็นปัญหาการกระจายรายได้ของไทยชัดเจนมากขึ้น และความเหลื่อมลํ้าในการกระจายรายได้จะมีมากขึ้นไปอีกหลังจากที่เราผ่านวิกฤตนี้ไปแล้ว เพราะจะมีคนจนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความจําเป็นในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจที่รัฐต้องมีภาระหน้าที่ในการแก้ปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ที่อาจมีผลต่อการลงทุนของรัฐและการขยายตัวของประเทศในระยะยาว

           สุดท้าย ถ้าเราเชื่อทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม วิกฤตเศรษฐกิจจะมีผลทางจิตวิทยาที่จะทําให้คนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป นักเศรษฐศาสตร์เช่น Ulrike Malmardier ที่ Berkeley แสดงให้เห็นว่า หลังจากที่คนเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ จะมีพฤติกรรมที่ ‘เข็ด’ และไม่ยอมรับความเสี่ยงไปอีกนาน เช่น ธุรกิจจะกู้เงินเพื่อลงทุนน้อยลง จ้างงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนผู้บริโภคก็จะระมัดระวังการใช้จ่าย หรือการได้เห็นธุรกิจที่มั่นคงซวดเซหรือล้มละลาย ก็จะทําให้คนไม่อยากทําธุรกิจไปอีกนาน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อการขยายตัวในระยะยาว

           คงเร็วเกินไปที่จะบอกว่า รอย ‘แผลเป็น’ จากโควิด 19ของไทยจะกว้าง ลึก และคงอยู่นานแค่ไหน เพราะขณะที่มีมาตรการทางการเงินและการคลังต่างๆของรัฐดําเนินอยู่ ย่อมไม่สามารถทราบถึงปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจและครัวเรือนชัดเจน เมื่อมาตรการเหล่านี้หมดไป คงจะทําให้เราเห็นรอย ‘แผลเป็น’ชัดเจนขึ้น

           การทํานโยบายเศรษฐกิจภายใต้รอย’แผลเป็น’เหล่านี้ควรเป็นอย่างไร คงต้องเป็นคราวหน้าค่ะ.